backup og meta

ระวัง! เป้สะพายหลัง หากใช้ผิดปัญหาสุขภาพอาจตามมา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 23/03/2021

    ระวัง! เป้สะพายหลัง หากใช้ผิดปัญหาสุขภาพอาจตามมา

    เป้สะพายหลัง ถือเป็นไอเท็มยอดนิยมในปัจจุบัน ไม่ว่าจะนักเรียน หนุ่มสาววัยทำงาน หรือวัยไหน ๆ ก็หันมาสะพาย กระเป๋าเป้ กันทั้งนั้น นั่นเพราะเป้สะพายหลังมีข้อดี คือ จุของได้เยอะ ใช้แล้วคล่องตัว สะดวกเวลาขึ้นรถลงเรือ แต่ถึงอย่างไร เป้สะพายหลังคู่ใจของใครหลาย ๆ คน ก็อาจกลายเป็นบ่อนทำลายสุขภาพได้ หากเลือกใช้และสะพายผิดวิธี แต่จะส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง ติดตามอ่านได้ในบทความ Hello คุณหมอ

    เป้สะพายหลัง ก่อปัญหาสุขภาพได้อย่างไร

    ผลการศึกษาวิจัยในนักเรียนอิตาลีช่วงอายุ 6-19 ปีจำนวน 5,318 คน ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Spine Journal ของประเทศอิตาลี ในปี พ.ศ. 2559 พบว่า 60% ของนักเรียนที่เข้าร่วมการศึกษาวิจัย มีอาการปวดหลังและบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะในอาสาสมัครกลุ่มที่เป็นเด็กโตและวัยรุ่น และเด็กผู้หญิงมักปวดหลังรุนแรงและบ่อยกว่าเด็กผู้ชาย สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะรูปร่างของเด็กผู้หญิงเล็กกว่าเด็กผู้ชายนั่นเอง

    อย่างไรก็ตาม การใช้ กระเป๋าเป้ อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ หากใช้งานผิดวิธี เช่น สะพายเป้ หนักเกิน สะพายเป้ ต่ำเกิน สะพายเป้ ข้างเดียว จนทำให้เกิดน้ำหนักกดทับมากเกินไป น้ำหนักไม่กระจายตัวอย่างที่ควร จนส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลังส่วนล่าง ทำให้ผู้ใช้ปวดไหล่ หลัง สะโพก และอาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมก่อนวัย หรือกระดูกสันหลังโก่งได้อีกด้วย

    สะพายหลัง…สะพายไหล่ กระเป๋าแบบไหนดีกว่ากัน

    กระเป๋าสะพายไหล่แบบที่ผู้หญิงนิยมใช้กันนั้น เหมาะสำหรับใส่ของไม่หนักมาก และสะพายไม่นาน เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์ เวลาเดิน เราจะต้องแกว่งแขนพร้อมกับก้าวขา เพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย ทำให้เราสามารถทรงตัวได้ แต่หากคุณใช้กระเป๋าสะพายไหล่นานเกินไป โดยเฉพาะคนที่ใส่ของใน กระเป๋า เยอะ ๆ และสะพายไหล่ข้างเดิมตลอด จะทำให้หัวไหล่ข้างใดข้างหนึ่งต้องรับน้ำหนักมากกว่าอีกข้าง แขนทั้ง 2 ข้างไม่สามารถแกว่งได้ตามปกติ จนร่างกายเสียสมดุลและเกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น

    • กล้ามเนื้อปวดตึง
    • ปวดหลัง
    • กระดูกสันหลังช่วงต้นคอโก่งงอ (Cervical Kyphosis)
    • ปวดคอจนหันศีรษะลำบาก
    • ปวดศีรษะ

    ดังนั้น สำหรับผู้ที่ต้องแบกของหนัก หรือสะพาย กระเป๋า เป็นเวลานาน คุณควรใช้ กระเป๋าเป้ สะพายหลังแทนกระเป๋าสะพายไหล่ เพราะหากใช้ เป้สะพายหลัง แบบถูกวิธี จะสามารถกระจายน้ำหนักได้ทั่วแผ่นหลัง น้ำหนักจึงไม่กดทับแค่ที่ไหล่ด้านใดด้านหนึ่ง ทั้งยังช่วยให้สามารถเดินได้อย่างเป็นธรรมชาติ และรักษากล้ามเนื้อให้สมดุลกันอีกด้วย

    ใช้ เป้สะพายหลัง อย่างไร ไม่ให้ทำร้ายสุขภาพ

    เทคนิคใจการเลือกใช้เป้สะพายหลังให้ดีต่อสุขภาพ มีดังต่อไปนี้

    • เลือกซื้อเป้สะพายหลังที่มีสายสะพายกว้างและบุนวม เพื่อป้องกันไม่ให้สายกดทับหรือบาดไหล่เวลาสะพาย
    • หากเป็นเป้ใบใหญ่ที่บรรจุน้ำหนักได้เยอะ ควรเลือกแบบมีสายรัดสะโพก สายรัดเอว มีล้อลาก หรือเป้สะพายหลังที่มีช่องแบ่งสัดส่วนหลาย ๆ ช่อง จะช่วยให้กระจายน้ำหนักได้ดีขึ้น
    • ไม่ซื้อกระเป๋าเป้ที่ใบใหญ่เกินไป เพื่อป้องกันการบรรจุของหนักเกินควร

    เทคนิคสะพาย กระเป๋าเป้ ที่ถูกต้อง

    • สะพายให้สูงกว่าเอว สมาคมวิชาการแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งอเมริกา (American Academy of Orthopedic surgeon หรือ AAO) แนะนำว่าการสะพาย กระเป๋าเป้ ที่เหมาะสมที่สุด ควรให้เป้อยู่สูงกว่าเอว 2 นิ้ว หรือต่ำกว่าช่วงเอวได้ไม่เกิน 3 นิ้ว เพราะยิ่งสะพายเป้ต่ำกว่าเอวเท่าไหร่ หัวไหล่ก็ยิ่งต้องรับน้ำหนักมากขึ้นเท่านั้น
    • สะพายเป้ด้วยไหล่ทั้ง 2 ข้าง ไม่ สะพายเป้ ข้างเดียว เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหนักเทไปข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว เพราะอาจทำให้ปวดหลังหรือมีอาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง (Muscle Spasm) ได้
    • กระจายน้ำหนัก หากสะพายของหนัก ต้องไม่ลืมรัดสายรัดสะโพก เพื่อกระจายน้ำหนักระหว่างแผ่นหลังและสะโพก
    • รักษาความสมดุล เวลาบรรจุของลงเป้สะพายหลัง ต้องเอาของหนักที่สุดไว้ชิดกับแผ่นหลังเสมอ
    • ป้องกันอาการบาดเจ็บที่หลัง หากต้องการยก กระเป๋าเป้ หนัก ๆ ที่วางอยู่บนพื้น ต้องงอเข่า หลังตรง หยิบเป้ แล้วยืดขาขึ้น ไม่ควรก้มหลังพรวดพราด หรือโก้งโค้งลงไปหยิบเป้แบบขาเหยียดตรง เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บที่หลัง
    • หลีกเลี่ยงการบรรจุของหนัก อย่าใส่ของในเป้หนักเกินไป น้ำหนักของในเป้และเป้รวมกันแล้ว ไม่ควรเกิน 15-20% ของน้ำหนักตัว
    • หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าส้นสูง เมื่อต้องสะพายกระเป๋าเป้ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเสียสมดุลและอาจเกิดอาการบาดเจ็บได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 23/03/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา