backup og meta

โกรทฮอร์โมน ธรรมชาติ VS โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ คล้ายแต่ใช้ได้ไม่เหมือนกันนะ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 22/05/2020

    โกรทฮอร์โมน ธรรมชาติ VS โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ คล้ายแต่ใช้ได้ไม่เหมือนกันนะ

    โกรทฮอร์โมน เป็นฮอร์โมนตามธรรมชาติที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ถึงแม้ร่างกายจะผลิตโกรทฮอร์โมนเองได้ แต่กระบวนการนี้ก็จะลดลงไปตามวัย ทำให้มีการผลิตโกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ขึ้นมา เพื่อช่วยในการทำงานของร่างกาย แบบเดียวกับโกรทฮอร์โมนตามธรรมชาติ

    แต่โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ จะให้ประโยชน์แก่ร่างกายได้แบบเดียวกับโกรทฮอร์โมนตามธรรมชาติจริงหรือไม่ เรามาหาคำตอบจากบทความนี้ของ Hello คุณหมอกันเลย

    ประโยชน์ของ โกรทฮอร์โมน ตามธรรมชาติ

    โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone หรือ GH) เป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมใต้สมองส่วนหลังเข้าสู่กระแสเลือด โดยมีฮอร์โมนอีก 2 ชนิดที่หลั่งออกมาจากสมองส่วนไฮโปธาลามัส (hypothalamus) คอยควบคุมการหลั่งโกรทฮอร์โมน การหลั่งโกรทฮอร์โมนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จะหลั่งเป็นระลอกทุก ๆ 3-5 ชั่วโมง โกรทฮอร์โมนจะมีมากในตอนที่เป็นเด็ก มากที่สุดในช่วงวัยรุ่น และลดลงในวัยกลางคน

    โกรทฮอร์โมนจะออกฤทธิ์โดยตรงต่ออวัยวะต่าง ๆ หรือออกฤทธิ์ทางอ้อมโดยผ่านเปปไทด์ฮอร์โมนที่มีโครงสร้างคล้ายอินซูลิน หรือ IGF-1 (insulin-like growth factor-1)

    หน้าที่ของ โกรทฮอร์โมน

    โกรทฮอร์โมนทำหน้าที่หลายอย่างในร่างกาย ได้แก่

  • มีส่วนช่วยในการทำงานของเนื้อเยื่อทั้งร่างกายในวัยเด็กและวัยรุ่น
  • ช่วยพัฒนากระดูกและกระดูกอ่อน
  • ช่วยเร่งการทำงานของโปรตีน
  • ช่วยเรื่องระบบเผาผลาญพลังงาน
  • รักษาระดับน้ำตาลในเลือด
  • จากการศึกษาพบว่าผู้ใหญ่ที่อ้วน จะมีระดับโกรทฮอร์โมนต่ำกว่าผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวปกติ

    โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ ใช้เพื่ออะไร

    โกรทฮอร์โมนแบบสังเคราะห์ (Human Growth Hormone หรือ HGH) เป็นฮอร์โมนที่สังเคราะห์ขึ้นมาเลียนแบบฮอร์โมนตามธรรมชาติ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1985 ถึงแม้โกรทฮอร์โมนแบบสังเคราะห์จะได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา แต่ก็เป็นการรับรองในกรณีเฉพาะ เช่น ใช้ในการรักษาภาวะทางการแพทย์บางอย่างเท่านั้น

    ภาวะทางการแพทย์ในเด็กที่นิยมรับมือด้วย โกรทฮอร์โมน สังเคราะห์ ได้แก่

    • กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner’s Syndrome) ความผิดปกติทางพันธุกรรม ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กผู้หญิง
    • กลุ่มอาการพราเดอร์-วิลลี่ (Prader-Willi Syndrome) ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่พบได้ยาก ทำให้มีฮอร์โมนเพศต่ำ ไม่มีกล้ามเนื้อ และอื่น ๆ
    • โรคไตเรื้อรัง
    • ภาวะขาดโกรทฮอร์โมน ในเด็กที่เกิดมาตัวเล็กเพราะคลอดก่อนกำหนด

    ภาวะทางการแพทย์ในผู้ใหญ่ที่นิยมรับมือด้วย โกรทฮอร์โมน สังเคราะห์ ได้แก่

  • อาการ Short bowel syndrome หรือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้ดีพอ เนื่องมาจากโรคเกี่ยวกับลำไส้ที่รุนแรง หรือการถูกผ่าตัดเอาลำไส้เล็กออกไปจำนวนมาก
  • การขาดฮอร์โมน เนื่องจากเนื้องอกที่ต่อมใต้สมองซึ่งพบได้ยาก หรือผลจากการรักษาเนื้องอกชนิดนี้
  • โรคที่ทำลายกล้ามเนื้อที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี หรือเป็นเอดส์
  • โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ กับสารพัดคำกล่าวอ้าง

    โดยปกติแล้ว ระดับของโกรทฮอร์โมนตามธรรมชาติในร่างกายจะลดลงไปตามวัย ผู้เชี่ยวชาญด้านแอนตี้เอจจิ้ง (Anti-aging) บางคนจึงอ้างว่า สามารถใช้ผลิตภัณฑ์โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ เพื่อทดแทนโกรทฮอร์โมนธรรมชาติ และสามารถเปลี่ยนความเสื่อมของร่างกายที่เกิดขึ้นเนื่องจากวัยได้

    อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างเหล่านี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ และการใช้โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ เพื่อการต่อต้านความร่วงโรยของวัย ก็ไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) แต่อย่างใด

    บางคนใช้โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์พร้อมกับยาเพิ่มประสิทธิภาพร่างกายบางอย่าง เช่น สเตียรอยด์เพื่อสร้างกล้ามเนื้อ หรือทำให้เล่นกีฬาได้ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่มีงานวิจัยใดที่รับรองผลในเรื่องนี้เช่น และองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ก็ไม่ได้รับรองการใช้งานในกรณีนี้เช่นกัน

    ผลข้างเคียงและอันตรายจากโกรทฮอร์โมนสังเคราะห์

    การฉีดโกรทฮอร์โมนเข้าสู่ร่างกายในระยะยาว สามารถทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า อะโครเมกาลี (Acromegaly) หรือ ภาวะที่ร่างกายเจริญเติบโตไม่สมส่วนได้ เนื่องจากร่างกายของผู้ใหญ่ไม่สามารถเติบโตต่อไปได้อีกแล้ว การใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์นี้ในปริมาณมาก จึงทำให้กระดูกหนาขึ้น แทนที่จะทำให้มันยาวขึ้น

    คนที่เกิดภาวะอะโครเมกาลี จะพบการเจริญเติบโตของกระดูกผิดปกติบริเวณ มือ เท้า และใบหน้า และผิวหนังก็อาจได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน โดยอาจสังเกตได้จากผิวบริเวณนั้นหนาขึ้น หยาบขึ้น และมีขนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ระดับของโกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ที่มากเกินไป ยังอาจนำไปสู่การเกิดความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ รวมถึงอาการต่าง ๆ เหล่านี้ได้ด้วย

    • อาการเจ็บปวดข้อต่อ กล้ามเนื้อ และปลายประสาท
    • อาการบวม เนื่องจากมีของเหลวส่วนเกินในเนื้อเยื่อร่างกาย
    • กลุ่มอาการคาร์ปัลทันเนลซินโดรม (Carpal tunnnel syndrome) หรือกลุ่มอาการที่ส่งผลให้ประสาทมือชา
    • ความรู้สึกเหมือนเป็นเหน็บ และมีอาการชาตามผิวหนัง
    • ระดับคอเลสเตอรอลสูงขึ้น
    • เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน
    • เนื้องอกมะเร็งเติบโตเร็วขึ้น

    คิดให้ดีก่อนใช้โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์

    จะเห็นได้ว่า ถึงแม้จะเป็นฮอร์โมนแบบเดียวกัน แต่โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ก็ไม่ได้มีประโยชน์ต่อร่างกายเท่าโกรทฮอร์โมนที่ร่างกายเราผลิตขึ้นเองตามธรรมชาติ การใช้โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และใช้สำหรับผู้ที่อยู่ในภาวะขาดโกรทฮอร์โมนจริง ๆ เท่านั้น ไม่ควรใช้เพื่อประโยชน์ในการทำให้ร่างกายดีขึ้น แข็งแรง หรืออ่อนเยาว์มากขึ้น

    ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่รับรองผลในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย เพิ่มความแข็งแรง และทำให้เยาว์วัยอย่างเพียงพอ และเมื่อเทียบกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้แล้ว โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์จึงอาจไม่ใช่ “น้ำพุแห่งความอ่อนเยาว์’ ที่ทุกคนควรหันไปพึ่งพา โดยปราศจากการแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 22/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา