backup og meta

อาหารเพิ่มอารมณ์ทางเพศ และวิธีช่วยกระตุ้นอารมณ์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 04/04/2022

    อาหารเพิ่มอารมณ์ทางเพศ และวิธีช่วยกระตุ้นอารมณ์

    ภาวะไม่มีอารมณ์ทางเพศหรือหมดอารมณ์ทางเพศ เป็นปัญหาสุขภาพทางเพศที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศ อาจเป็นผลมาจากความเครียด ความเหนื่อยล้า ภาวะอวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว ภาวะช่องคลอดแห้ง อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้อาจบรรเทาได้ด้วยการรับประทาน อาหารเพิ่มอารมณ์ทางเพศ ควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพวิธีอื่นที่อาจส่งผลดีต่อสุขภาพทางเพศได้ เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

    อาหารเพิ่มอารมณ์ทางเพศ

    อาหารที่อาจช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ เช่น

    • หอยนางรม

    หอยนางรมอุดมไปด้วยสังกะสี ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อสมรรถภาพทางเพศและภาวะเจริญพันธุ์ในผู้ชาย หากร่างกายขาดสังกะสีอาจกระทบต่อระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและคุณภาพของสเปิร์มได้ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Reproduction & Infertility เมื่อปี พ.ศ. 2561 ทำการศึกษาความสำคัญของสังกะสีในฐานะสารอาหารสำคัญต่อภาวะเจริญพันธุ์ในเพศชาย พบว่า การมีสังกะสีในพลาสมาของน้ำอสุจิ (Seminal plasma) อย่างพอเหมาะส่งผลดีต่อสุขภาพ การเจริญเติบโต ภาวะเจริญพันธุ์ และการทำงานของอสุจิ แต่หากมีปริมาณสังกะสีในพลาสมาของน้ำอสุจิมากเกินไป ก็อาจส่งผลให้น้ำอสุจิด้อยคุณภาพได้เช่นกัน

    วิธีกระตุ้นอารมณ์และเสริมสมรรถภาพทางเพศ

    วิธีดังต่อไปนี้อาจช่วยกระตุ้นอารมณ์และเสริมสมรรถภาพทางเพศ ทำให้สามารถทำกิจกรรมทางเพศได้อย่างมีความสุข มีประสิทธิภาพ และอาจช่วยให้ไปถึงจุดสุดยอดได้ง่ายขึ้น

    ·  นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

    การนอนหลับ นอกจากจะช่วยฟื้นฟูร่างกายจากความเหนื่อยล้าหรือภาวะทางสุขภาพกายและสุขภาพจิต เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล แล้ว ยังอาจส่งผลดีต่อการเกิดอารมณ์ทางเพศด้วย โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The World Journal of Men’s Heath เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง การนอนหลับ โรคเกี่ยวกับการนอนหลับ และภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ พบว่า โรคเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น ภาวะนอนไม่หลับ โรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น โรคลมหลับ (โรคง่วงนอนตลอดเวลา) โรคปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน อาจส่งผลให้อารมณ์ทางเพศลดลง หรือทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้

    ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว จึงควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เช่น วัยรุ่น (อายุ 13-18 ปี) ควรนอนหลับ 8-10 ชั่วโมง/วัน วัยผู้ใหญ่ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ควรนอนหลับ 7 ชั่วโมงขึ้นไป/วัน

    ·  จัดการกับความเครียด

    ความเครียดสะสมทั้งความเครียดทางกาย โดยเฉพาะความเครียดทางจิตใจ จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ เป็นต้น อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงสุขภาพทางเพศและการเกิดอารมณ์ทางเพศด้วย งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Family Psychology เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2553 ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดในชีวิตประจำวันและปัญหาสุขภาพทางเพศ พบว่า ความเครียดอาจทำให้ความต้องการทางเพศหรืออารมณ์ทางเพศลดลง ทั้งยังอาจส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศด้วย

    หากรู้สึกเครียด ควรคลายเครียดด้วยกิจกรรมผ่อนคลายหรือกิจกรรมที่ชอบ เช่น นอนพัก ดูหนัง ฟังเพลง เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดสะสมจนส่งผลต่อสุขภาพทางเพศ

    ·  ออกกำลังกายเป็นประจำ

    การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที หรือสัปดาห์ละ 150 นาที ด้วยการเดินเร็ว การปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ การเต้นแอโรบิก ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น เครียดน้อยลง และอาจช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ และช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้ ข้อมูลจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร The Journal of Sexual Medicine เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการฝึกโยคะและสมรรถภาพทางเพศในผู้หญิง ด้วยการให้กลุ่มตัวอย่างเพศหญิงจำนวน 40 คน (อายุ 22-50 ปี) เล่นโยคะเป็นเวลา 12 สัปดาห์ โดยใช้ท่าโยคะ 22 ท่าที่เชื่อว่าอาจช่วยทำให้กล้ามเนื้อท้อง กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ระบบย่อยอาหาร ข้อต่อแข็งแรงขึ้น และช่วยปรับปรุงอารมณ์ ผลปรากฏว่า การฝึกโยคะดังกล่าวช่วยปรับปรุงสมรรถภาพทางเพศ เช่น ความต้องการทางเพศ ความตื่นตัวทางเพศ การถึงจุดสุดยอด ปริมาณน้ำหล่อลื่น ความเจ็บปวด ความพึงพอในใจเรื่องเพศโดยรวม

    อย่างไรก็ตาม ในการมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง ควรคำนึงถึงสุขอนามัย ความสะอาด และความปลอดภัย โดยการสวมถุงยางอนามัย ทำความสะอาดร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะเพศทุกครั้งทั้งก่อนและหลังทำกิจกรรมทางเพศ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 04/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา