backup og meta

BDSM คืออะไร รสนิยมทางเพศแบบนี้ปกติหรือไม่

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 21/06/2023

    BDSM คืออะไร รสนิยมทางเพศแบบนี้ปกติหรือไม่

    BDSM เป็นรสนิยมทางเพศอย่างหนึ่งในการเพิ่มความสุขขณะมีกิจกรรมทางเพศ อาจมีตั้งแต่การสวมบทบาทสมมติ ไปจนถึงการถูกพันธนาการขณะมีเพศสัมพันธ์ ตราบใดที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ทั้งกับตัวเองและผู้อื่น โดยการมีเพศสัมพันธ์แบบ BDSM นั้นจะมีข้อตกลงกันระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ ว่าสามารถทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง มีระดับความรุนแรงได้ขนาดไหน เป็นต้น

    BDSM คืออะไร

    BDSM คือ กิจกรรมทางเพศ เช่น การสัมผัสร่างกายเบา ๆ การจูบ การสอดใส่ การออรัลเซ็กส์ การช่วยตัวเอง ถือเป็นกิจกรรมทางเพศที่กระทำกันโดยทั่วไป แต่บางคนอาจมีรสนิยมทางเพศที่แตกต่างออกไป โดย BDMS เป็นอักษรย่อ 4 ตัวที่มาจากคำ 6 คำ ดังนี้

    1. การถูกพันธนาการ (Bondage)
    2. การลงโทษ (Discipline)
    3. การปกครอง (Dominance)
    4. การยอมจำนน (Submission)
    5. การมีความสุขจากการทำให้ผู้อื่นเจ็บปวด (Sadism)
    6. การมีความสุขจากการถูกผู้อื่นทำให้เจ็บปวด (Masochism)

    BDSM อาจรวมไปถึงกิจกรรมทางเพศที่หลากหลาย เช่น การตีเบา ๆ การเล่นบทบาทสมมติ การใช้เชือกพันธนาการ การทำให้เกิดความเจ็บปวด

    BDSM ถือเป็นเรื่องปกติหรือไม่

    กระแสจากภาพยนตร์บางเรื่องทำให้สังคมเริ่มหันมายอมรับการมีเพศสัมพันธ์แบบ BDSM มากขึ้น แต่ก็อาจยังมีคนที่รู้สึกว่ารสนิยมทางเพศแบบ BDSM เป็นสิ่งแปลก หรืออาจคิดว่าคนที่มีรสนิยมทางเพศแบบ BDSM เป็นผู้มีปัญหาสุขภาพจิต โดยมีสมมติฐานว่า ผู้ที่มีรสนิยมทางเพศแบบ BDSM เป็นผ้ที่มีความวิตกกังวลทางจิตใจและไม่สามารถยอมรับมันได้ หรือมีประวัติการถูกล่วงละเมิดทางเพศในอดีต จึงทำให้มีพฤติกรรมแบบที่เคยประสบมา

    อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าสมมติฐานเหล่านี้ไม่เป็นความจริง เช่น งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร The Journal of Sexual Medicine ของประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งทีมนักวิจัยได้ศึกษาข้อมูลที่ได้จากการสอบถามประชาชนอายุ 16-59 ปี จำนวน 19,307 คนทางโทรศัพท์เมื่อปี พ.ศ. 2544-2545 พบว่า 1.8% ของกลุ่มผู้เข้าร่วมทำแบบสอบถามที่มีเพศสัมพันธ์ในช่วงปีที่ผ่านมามีกิจกรรมทางเพศแบบ BDSM และพวกเขาไม่ได้มีปัญหาความเครียดหรือความวิตกกังวลมากไปกว่าคนทั่วไป อีกทั้งยังไม่เคยถูกข่มขู่ คุกคามทางเพศ หรือได้รับความรุนแรงทางเพศมาก่อนด้วย

    ถึงแม้ว่ารสนิยมทางเพศแบบ BDSM จะไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ก็ไม่ใช่ว่าคนทุกคนจะมีรสนิยมทางเพศแบบเดียวกันนี้ ดังนั้น การได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายก่อนที่จะมีกิจกรรมทางเพศในแบบ BDSM จึงเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง

    ข้อควรรู้ก่อนมีกิจกรรมทางเพศแบบ BDSM 

    แม้ว่าการมีเพศสัมพันธ์ในรูปแบบ BDSM จะเป็นกิจกรรมที่ที่มีความยินยอมพร้อมใจกันทั้งคู่ แต่ว่าก็ต้องมีกฎกติกาที่ตกลงร่วมกัน เพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย เช่น

    ทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากความยินยอม

    การยินยอมเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นก่อนการมีเพศสัมพันธ์ สำหรับบางคนอาจจะยังไม่เคยมีประสบการณ์แบบ BDSM มาก่อน ดังนั้น ควรต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายก่อนที่จะทำกิจกรรมทางเพศในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น การแสดงบทบาทสมมติระหว่างมีเพศสัมพันธ์ การสวมใส่ชุดที่มีความเฉพาะ

    มี Save words หรือคำปลอดภัย  

    หนึ่งในรูปแบบการมีเซ็กส์แบบ BDSM คือ มาโซคิสม์ (Masochism) คือการชอบ หรือมีความสุขเมื่อถูกทำให้เจ็บปวดระหว่างมีเซ็กส์ ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางใจ บางคนชอบที่จะให้เฆี่ยน ตี ด่าทอ เยาะเย้ย ขณะที่มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งผู้ที่ชอบเซ็กส์รูปแบบ Masochism มักคู่กับผู้ที่ชอบเซ็กส์รูปแบบซาดิสม์ (Sadism) คือผู้ที่มักมีความสุขเมื่อทำให้ผู้อื่นเจ็บปวด เมื่ออีกฝ่ายแสดงอาการเจ็บปวด ร้องขอ หรือบอกให้หยุด ก็จะยิ่งชอบและมีอารมณ์ทางเพศมากขึ้น  แต่บางครั้งก็อาจทำให้อีกฝ่ายไม่ชอบ หรือเจ็บตัวเกินไป ดังนั้นทั้งคู่ควรมีคำปลอดภัย (Save words) ซึ่งเป็นเสมือนคำพูดที่จะใช้เป็นสัญญาณว่าควรพอแล้ว หยุดได้แล้ว หรือเป็นสัญญาณบอกว่าตัวเองไหว ทำต่อได้

    มีข้อตกลงร่วมกัน

    ทุก ๆ คนมักมีข้อจำกัดและขอบเขตที่แตกต่างกันไป กิจกรรมทางเพศเป็นกิจกรรมที่ควรมีความสุขกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้น หากมีพฤติกรรมหรือรูปแบบการมีเซ็กส์แบบใดที่ไม่ชอบ ควรพูดคุยกันให้ชัดเจน

    คำนึงถึงความปลอดภัย และดูแลซึ่งกันและกัน

    รูปแบบการมีเพศสัมพันธ์บางรูปแบบก็มีความสุขเมื่อร่างกายได้รับความเจ็บปวด ดังนั้น ก่อนที่จะทำอะไรควรคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ไม่ควรให้เกินเลยจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ทำให้เกิดความเจ็บปวดที่ส่งผลต่ออวัยวะเพศ หรือมีความเสียหายรุนแรง หรือมีผลกระทบที่จะตามมาในระยะยาว

    นอกจากนี้ หลังเสร็จกิจกรรมทางเพศ ควรตรวจสอบว่าตัวเองและอีกฝ่ายมีภาวะซึมเศร้าหรือภาวะอารมณ์ไม่ดีหลังการมีเพศสัมพันธ์ (Post-coital Dysphoria) หรือไม่ ซึ่งอาจสังเกตได้จากอาการ เช่น วิตกกังวล หงุดหงิด ร้องไห้ ควรพูดคุย ตรวจสอบ และดูแลอีกฝ่ายให้ดี เพื่อให้แน่ใจว่า แต่ละฝ่ายไม่ได้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพกายหรือสุขภาพจิตหลังจากที่มีกิจกรรมทางเพศ โดยเฉพาะเมื่อมีกิจกรรมทางเพศแบบรุนแรง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 21/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา