backup og meta

ต้นหอมจีน (ไชว์ส) ให้กลิ่น ให้รส แถมยังให้ประโยชน์สุขภาพด้วย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/01/2021

    ต้นหอมจีน (ไชว์ส) ให้กลิ่น ให้รส แถมยังให้ประโยชน์สุขภาพด้วย

    หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อ ต้นหอมจีน หรือ ไชว์ส (Chives) กับเท่าไหร่นัก ต้นหอมจีน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Allium schoenoprasum ลักษณะคล้ายต้นหอมจีนที่เรารู้จักกันดี แต่จะมีขนาดเล็กกว่า วันนี้ Hello คุณหมอ อยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับต้นหอมจีนให้มากขึ้น เพราะพืชชนิดนี้ นอกจากจะเป็นผักโรยที่ช่วยเพิ่มสีสันและกลิ่นให้เมนูอาหารของคุณแล้ว ก็ยังมีประโยชน์สุขภาพที่คุณอาจไม่รู้มาก่อนด้วย

    คุณค่าทางโภชนาการของต้นหอมจีน

    ต้นหอมจีน เป็นพืชที่เปี่ยมไปด้วยสารอาหาร แถมยังมีแคลอรี่ต่ำมาก คนทั่วไปบริโภคต้นหอมจีน วันละประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ หรือ 3 กรัม และข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture; USDA) เผยว่า ต้นหอมจีน 1 ช้อนโต๊ะ ให้คุณค่าทางโภชนาการดังต่อไปนี้

    พลังงาน 1 กิโลแคลอรี่
    คาร์โบไฮเดรต 0.1 กรัม
    โปรตีน 0.1 กรัม
    ไฟเบอร์ 0.1 กรัม
    วิตามินเค 6.4 ไมโครกรัม (5% ของปริมาณแนะนำต่อวัน)
    วิตามินซี 1.8 มิลลิกรัม (2% ของปริมาณแนะนำต่อวัน)
    วิตามินเอ 6.5 ไมโครกรัม (1% ของปริมาณแนะนำต่อวัน)
    โฟเลต 3 ไมโครกรัม (1% ของปริมาณแนะนำต่อวัน)
    แคลเซียม 2.8 มิลลิกรัม (น้อยกว่า 1% ของปริมาณแนะนำต่อวัน)
    โพแทสเซียม 8.9 มิลลิกรัม (น้อยกว่า 1% ของปริมาณแนะนำต่อวัน)
    แมงกานีส 0.1 มิลลิกรัม (1% ของปริมาณแนะนำต่อวัน)

    ประโยชน์สุขภาพของต้นหอมจีน

    ต้นหอมจีนเป็นผักที่นิยมใช้โรยในอาหารเพื่อตกแต่งและให้กลิ่น ทำให้คนส่วนใหญ่บริโภคต้นหอมจีนแต่ละครั้งแค่ในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้เราบริโภคต้นหอมจีนให้เยอะขึ้น เพื่อให้ได้รับประโยชน์สุขภาพจากต้นหอมจีน ดังต่อไปนี้

    ช่วยพัฒนาความจำ

    ต้นหอมจีนมีโคลีน (Choline) และโฟเลต (Folate) ที่มีส่วนช่วยพัฒนาความจำของเราได้ โดยงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า ผู้ใหญ่ที่กินอาหารที่มีโคลีนสูง สามารถทำแบบประเมินกระบวนการรู้คิด เช่น ความจำ ภาษา การรับรู้ระยะและทิศทาง ได้ดีกว่า ส่วนผู้ที่บริโภคอาหารที่มีโคลีนต่ำมีความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์สูงกว่า ทั้งยังมีงานวิจัยที่เผยว่า โฟเลตหรือกรดโฟลิกมีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางการรู้คิด และโรคทางอารมณ์

    เมื่อเราบริโภคอาหารที่มีทั้งโคลีนและโฟเลตอย่างต้นหอมจีน จึงอาจช่วยพัฒนาความจำและป้องกันการเกิดโรคทางสมองได้ เช่น ภาวะสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer)

    ช่วยป้องกันมะเร็ง

    งานศึกษาวิจัยหลายชิ้นเผยว่า พืชตระกูลแอลเลียม (Allium) เช่น ต้นหอมจีน มีสารประกอบที่ฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง เช่น ออร์กาโนซัลเฟอร์ (Organosulfur) และสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้ โดยงานวิจัยในประเทศจีนชิ้นหนึ่งเผยว่า การกินพืชตระกูลแอลเลียมมากขึ้น เชื่อมโยงกับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งที่ลดลง

    นอกจากนี้ งานทบทวนการวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร Environmental Health Perspectives ยังระบุว่า สารประกอบหลายชนิดในต้นหอมจีนมีผลต่อเอนไซม์ (Enzyme) บางตัวที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการกำจัดสารพิษของร่างกาย จึงช่วยชะลอการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้

    ช่วยลดการอักเสบ

    แม้การอักเสบเฉียบพลันจะเป็นกระบวนการหนึ่งในการรับมือต่อสิ่งแปลกปลอมของระบบภูมิคุ้มกัน แต่หากร่างกายของเราเกิดการอักเสบบ่อย ๆ หรืออักเสบเรื้อรังก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ โดยงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นเผยว่า การอักเสบอาจเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ และกระตุ้นให้โรคบางชนิดพัฒนาเร็วขึ้น เช่น โรคภูมิต้านเนื้อเยื่อของตนเอง กลุ่มโรคที่เกิดการการเสื่อมของเซลล์ประสาท โรคมะเร็ง

    แต่การบริโภคต้นหอมจีนให้มากขึ้น อาจช่วยให้คุณรับมือกับการอักเสบในร่างกายได้ดีขึ้นด้วย เพราะงานศึกษาวิจัยหลายชิ้น โดยเฉพาะการศึกษาในหลอดทดลองชิ้นหนึ่งจากประเทศโรมาเนียยืนยันว่า ต้นหอมจีนมีสารต้านอนุมูลอิสระและสารประกอบหลายชนิดที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ อีกทั้งยังช่วยลดภาวะเครียดออกซิเดชั่น (Oxidative stress) ได้ด้วย

    ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า หากคุณอยากได้ประโยชน์จากต้นหอมจีนมากขึ้น ก็อาจจะต้องบริโภคต้นหอมจีนมากกว่าปริมาณวันละ 1 ช้อนโต๊ะ โดยอาจเปลี่ยนจากแค่ใช้ต้นหอมจีนโรยอาหาร เป็นใช้ต้นหอมจีนเป็นส่วนประกอบหลักในเมนูอาหาร เช่น ผัดต้นหอมจีนใส่ไข่ ไข่ตุ๋นใส่ต้นหอมจีน ต้นหอมจีนผัดน้ำมันหอย

    ความเสี่ยงในการบริโภคที่ควรรู้

    ถึงต้นหอมจีนจะมีสารอาหารมากมายและอุดมไปด้วยประโยชน์สุขภาพ แต่ผู้เชี่ยวชาญก็แนะนำว่า คุณควรกินต้นหอมจีนแต่พอดี เพราะหากกินต้นหอมจีนมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อยได้ และหากคุณเป็นภูมิแพ้หอมหัวใหญ่หรือกระเทียม ก็อาจแพ้ต้นหอมจีนได้ด้วย เพราะในต้นหอมจีนมีสารประกอบที่เรียกว่า ไดอัลลิลไดซัลไฟด์ (Diallyl Disulfide) และอาจมีแอลลิซิน (Allicin) ที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ได้

    วิธีเลือกซื้อและเก็บรักษาต้นหอมจีน

    เวลาเลือกซื้อต้นหอมจีน ให้คุณเลือกที่ก้านแน่น ๆ ใบสีเขียวสดเสมอกันทั้งใบ อย่าเลือกซื้อต้นหอมจีนที่เหี่ยว หรือสีเริ่มออกเหลืองแล้ว และเมื่อถึงบ้าน อย่าเพิ่งตัดรากต้นหอมจีนออก แต่ให้คุณใช้กระดาษทิชชู่ห่อต้นหอมจีนทั้งรากแล้วเก็บไว้ในตู้เย็น จะทำให้ต้นหอมจีนอยู่ได้ประมาณ 1 สัปดาห์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/01/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา