backup og meta

ประโยชน์สุขภาพของน้ำมันอาร์แกน (Argan oil) น้ำมันสกัดสารพัดประโยชน์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 23/07/2020

    ประโยชน์สุขภาพของน้ำมันอาร์แกน (Argan oil) น้ำมันสกัดสารพัดประโยชน์

    ผู้ที่รักความสวยความงาม และการบำรุงผิว อาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับ น้ำมันอาร์แกน กันมาบ้างไม่มากก็น้อย เพราะเป็นน้ำมันสกัดที่ได้รับความนิยมในการใช้เพื่อบำรุงผิวพรรณ เส้นผม หรือเล็บ และสามารถพบได้ครีมบำรุงผิวต่าง ๆ มากมาย แต่บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่า น้ำมันอาร์แกนนั้นก็ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้เช่นกัน ประโยชน์สุขภาพของน้ำมันอาร์แกน มีอะไรบ้าง หาคำตอบได้จากบทความนี้

    น้ำมันอาร์แกน คืออะไร

    น้ำมันอาร์แกน (Argan oil) เป็นน้ำมันสกัดที่ได้จากการสกัดเมล็ดของต้นอาร์แกน (Argan) ต้นไม้ชนิดหนึ่งที่พบได้มากในประเทศโมร็อกโก โดยส่วนใหญ่แล้ว น้ำมันอาร์แกนที่ขายกันทั่วไปตามท้องตลาด จะเป็นน้ำมันสกัดเข้มข้น ที่สามารถนำไปผสมหรือเจือจางในสารละลายอื่น ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป หรือจะนำไปผสมกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ยาสระผม สบู่ เครื่องสำอาง หรือครีมบำรุงผิวอื่น ๆ ก็ได้เช่นกัน

    น้ำมันอาร์แกนนั้นได้รับความนิยมในการใช้เพื่อความสวยความงาม ไม่ว่าจะเป็นการบำรุงผิว เส้นผม และเล็บ เนื่องจากเป็นน้ำมันสกัดที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และมีสรรพคุณ Anti-aging ช่วยต่อต้านริ้วรอยที่มาพร้อมกับอายุ แต่บางส่วนก็รับประทานน้ำมันอาร์แกน เพื่อหวังประโยชน์ต่อสุขภาพต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน

    ประโยชน์สุขภาพของน้ำมันอาร์แกน

    อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย

    ในน้ำมันอาร์แกนนั้นจะอุดมไปด้วยกรดไขมันจำเป็นและสารประกอบที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เช่น กรดไลโนเลอิก (Linoleic Acid) กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่อยู่ในกลุ่มของกรดไขมันโอเมก้า 6 ที่สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ชะลอการเสื่อมโทรมของเซลล์ เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง และช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดได้

    นอกจากนี้ น้ำมันอาร์แกนยังอุดมไปด้วยวิตามินอี ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยบำรุงผิว เส้นผม และดวงตา อีกทั้งยังมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย

    รักษาสภาวะของผิวต่าง ๆ

    น้ำมันอาร์แกนนั้นนอกจากจะสามารถช่วยบำรุงผิวได้แล้ว ยังสามารถช่วยเร่งการฟื้นฟูของผิวได้ด้วย เนื่องจากมีสรรพคุณในการต้านการอักเสบและอนุมูลอิสระ สองปัญหาปัญหาที่สามารถพบได้ในสภาวะผิวหนังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย (Rosacea) หรือโรคอื่นผิวหนังต่างๆ โดยสามารถทาลงบนผิวโดยตรงเพื่อใช้รักษาโรคผิวหนังเหล่านี้ได้เลย นอกจากนี้น้ำมันอาร์แกนยังมีคุณสมบัติในการต่อต้านการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา จึงสามารถช่วยป้องกันไม่ได้เกิดโรคผิวหนังติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย

    ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

    มีงานวิจัยที่พบว่า การรับประทานน้ำมันอาร์แกน อาจสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยการลดระดับของความดันโลหิตที่เพิ่มสูง ลดน้ำตาลในเลือด และช่วยการเกิดภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistance) ในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งสภาวะเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ทั้งสิ้น

    นอกจากนี้ ในน้ำมันอาร์แกนยังอุดมไปด้วยกรดโอเลอิก (Oleic acid) กรดไขมันไม่อิ่มตัวในกลุ่มกรดไขมันโอเมก้า 9 ที่มีสรรพคุณในการช่วยปกป้องหัวใจ โดยการช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล (Cholesterol) และสารอนุมูลอิสระ มีงานวิจัยที่ทำการทดลองให้ผู้ทดลองที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ 40 คน ได้รับประทานน้ำมันอาร์แกนปริมาณ 15 กรัม เป็นเวลา 30 วัน พบว่ามีระดับของไขมันไม่ดี (LDL) ลดลง 16% และระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลง 20%

    ข้อควรระวังในการใช้น้ำมันอาร์แกน

    น้ำมันอาร์แกนนั้นปลอดภัยสำหรับการรับระทานและการใช้ทาบนผิวหนัง แต่อย่างไรก็ตาม บางคนอาจจะมีอาการแพ้ต่อน้ำมันอาร์แกน และทำให้เกิดอาการระคายเคือง ผื่นผิวหนัง รอยแดง หรืออาการคันในบริเวณที่ทาน้ำมันอาร์แกนได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคภูมิแพ้ต่อถั่วยืนต้นต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย ก่อนทาน้ำมันอาร์แกน ควรทำการทดสอบภูมิแพ้ด้วยการทาน้ำมันอาร์แกนเป็นบริเวณเล็ก ๆ ทิ้งไว้ข้ามคืนเพื่อดูว่ามีอาการแพ้อะไรหรือไม่ก่อนใช้

    การรับประทานน้ำมันอาร์แกนอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ท้องอืด หรือท้องเสียได้ นอกจากนี้บางคนก็อาจจะมีอาการเบื่ออาหาร ผดผื่น หรือสิวเห่อได้ นอกจากนี้น้ำมันอาร์แกนยังสามารถชะลอการแข็งตัวของเลือดได้ ผู้ที่กำลังใช้ยาละลายลิ่มเลือด หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด ควรระมัดระวังการรับประทานน้ำมันอาร์แกน เพราะน้ำมันอาร์แกนอาจทำปฏิกิริยากับยาเหล่านี้ได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 23/07/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา