backup og meta

สูตรผัดถั่วงอกใส่เต้าหู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 06/10/2020

    สูตรผัดถั่วงอกใส่เต้าหู้

    ใครที่กำลังมองหาเมนูอาหารที่สามารถทำกินเองได้ง่าย ๆ แถมยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพสุดๆ Hello คุณหมอ แนะนำให้คุณลองทำผัดถั่วงอกใส่เต้าหู้ตามสูตรที่เรานำมาฝากดู รับรองเลยว่า สูตรผัดถั่วงอกใส่เต้าหู้ สูตรนี้ทำง่ายมาก ต่อให้เป็นคุณเป็นพ่อครัวแม่ครัวมือใหม่ ก็ทำได้อร่อยชัวร์!

    สูตรผัดถั่วงอกใส่เต้าหู้

    ส่วนผสมสำหรับ ผัดถั่วงอกใส่เต้าหู้

    (สำหรับ 1-2 ที่)

    น้ำมันพืช 1 ช้อนโต๊ะ
    กระเทียมสับ 1 ช้อนโต๊ะ
    น้ำมันหอย 1 ช้อนโต๊ะ
    ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ
    เต้าเจี้ยว 1 ช้อนโต๊ะ
    น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา
    น้ำสต๊อกไก่ ¼ ถ้วย
    ถั่วงอก 200 กรัม
    เต้าหู้เหลือง ½ ก้อน
    ต้นหอมซอย ปริมาณตามชอบ

    วิธีทำ ผัดถั่วงอกใส่เต้าหู้

  • ใส่น้ำมันในกระทะ ตามด้วยกระเทียมสับ ผัดให้หอม
  • ปรุงรสด้วยซอสปรุงรส น้ำมันหอม เต้าเจี้ยว น้ำตาลทราย และน้ำสต๊อกไก่ ผัดให้เข้ากัน
  • ใส่ถั่วงอก และเต้าหู้เหลือง ผัดจนถั่วงอกสุก แล้วใส่ต้มหอมซอย ผัดต่อพอให้ต้นหอมสุก
  • ตักใส่จาน เสิร์ฟร้อน ๆ
  • ใช้เวลาไม่นาน คุณก็จะได้ผัดถั่วงอกใส่เต้าหู้ร้อน ๆ ไว้กินแก้หิว แถมยังดีต่อสุขภาพมากด้วย และถ้าหากคุณอยากให้ผัดถั่วงอกใส่เต้าหู้ของคุณดีต่อสุขภาพมากขึ้น เราแนะนำให้ลดปริมาณเครื่องปรุงต่าง ๆ ลง หรือจะใช้เครื่องปรุงแบบลดโซเดียม หรือโซเดียมต่ำก็ได้ สำหรับน้ำตาล ลองเปลี่ยนจากน้ำตาลทรายขาวเป็นน้ำตาลทรายแดง ก็จะยิ่งดีเข้าไปใหญ่

    สูตรผัดถั่วงอกใส่เต้าหู้

    ถั่วงอก นอกจากมีดีที่ความกรอบ ดีต่อสุขภาพ และยังราคาถูก

    ถั่วงอก นอกจากจะหาซื้อได้ง่าย และราคาถูกแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกมากมายหลายด้าน เช่น

    อาจช่วยลดและป้องกันอาการอักเสบ

    งานศึกษาวิจัยเบื้องต้นหลายชิ้นชี้ว่า สารต้านอนุมูลอิสระในถั่วงอกมีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ จึงส่งผลดีต่อการรักษามะเร็ง การควบคุมโรคความดันโลหิตสูง และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะพิษจากการติดเชื้อ (Sepsis) ซึ่งเป็นภาวะที่มีการอักเสบทั่วร่างกายเนื่องจากปฏิกิริยาตตอบสนองต่อการติดเชื้อได้ด้วย

    ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน

    ถั่วงอกอุดมไปด้วยวิตามินซี ซึ่งวิตามินชนิดนี้มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และไม่ใช่แค่วิตามินซีสูง แต่ในถั่วงอกยังมีธาตุเหล็กที่ช่วยให้เราแข็งแรง และช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ด้วย

    ช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ

    ถั่วงอกมีวิตามินเคสูง โดยรายงานฉบับหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร American Society for Nutrition ระบุว่า วิตามินเคอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยวิตามินเคมีเป็นวิตามินที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ในกระบวนการแข็งตัวของเลือด และช่วยยับยั้งการก่อตัวของแคลเซียมในหลอดเลือด เมื่อกระบวนการต่าง ๆ เป็นปกติ ความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจก็จะลงลงตามไปด้วย

    ช่วยให้กระดูกแข็งแรง

    งานศึกษาวิจัยหลายชิ้นเผยว่า ผู้หญิงและผู้ชายที่อายุเกิน 50 ปี มีความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนมากถึงร้อยละ 50 และร้อยละ 25 ตามลำดับ แต่หากคุณบริโภคถั่วงอก ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงนี้ได้ เนื่องจากในถั่วงอกมีแมงกานีสที่ช่วยให้กระดูกแข็งแรงขึ้น สำหรับผู้หญิง หากได้รับแมงกานีส แคลเซียม (Calcium) วิตามินดี แมกนีเซียม (Magnesium) สังกะสี ทองแดง และโบรอน (Boron) ในปริมาณที่เพียงพอ ก็จะช่วยเพิ่มมวลกระดูก จึงทำให้ความเสี่ยงในการเกิดภาวะกระดูกพรุนลดลง

    ช่วยป้องกันมะเร็ง

    โปรตีนและเปปไทด์ในถั่วงอกอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ โดยงานศึกษาหลายชิ้นชี้ว่า สารอาหารดังกล่าวสามารถชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ ทั้งยังเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหารด้วย

    ช่วยบำรุงสุขภาพตา

    ถั่วงอกอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจช่วยป้องกันและชะลอการเกิดปัญหาสุขภาพตาได้ เช่น โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age related Macular degeneration หรือ AMD)

    ข้อควรระวังในการบริโภคถั่วงอก

    แม้ถั่วงอกจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพมาก แต่ก็เสี่ยงที่จะปนเปื้อนเชื้อโรคสูงเช่นกัน เพราะถั่วงอกเป็นพืชที่เจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมที่อุ่นและชื้น ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่า เด็ก หญิงมีครรภ์ และผู้สูงอายุที่ระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงไม่ควรบริโภคถั่วงอก หรือหากต้องการบริโภคจริง ๆ ก็ควรทำความสะอาดให้ดี และควรกินถั่วงอกที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น เพราะความร้อนอาจช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ หรือหากเป็นไปได้ คุณอาจลองปลูกถั่วงอกเองก็ได้ จะได้ลดความเสี่ยงในการบริโภคถั่วงอกที่ปนเปื้อน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 06/10/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา