backup og meta

สูตรแกงเลียงกุ้งสด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    สูตรแกงเลียงกุ้งสด

    ใครที่กำลังมองหาเมนูอาหารสุขภาพ ไขมันน้อย ปรุงรสไม่จัดจ้านมาก อุดมไปด้วยประโยชน์ แกงเลียงกุ้ง เป็นอีกเมนูที่แนะนำเลยค่ะ เพราะแกงเลียงกุ้ง มีผักหลายชนิดเป็นส่วนประกอบ ไม่ว่าจะเป็น ฟักทอง บวบ ข้าวโพดอ่อน วันนี้ Hello คุณหมอ มี สูตรแกงเลียงกุ้งสด มาฝากทุกคนกันค่ะ และนอกจากนี้ยังหยิบประโยชน์ของฟักทอง หนึ่งในผักที่ใส่แกงเลียงมาฝากกันด้วยค่ะ

    ประโยชน์ของฟักทอง

    ฟักทอง เนื้อสีเหลืองชวนกิน ไม่ได้มีดีแค่รสชาติเท่านั้น ฟักทองยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพมากมาย ฟักทองหนึ่งถ้วย หรือประมาณ 245 กรัม ให้พลังงานเพียง 49 กิโลแคลอรี่เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไฟเบอร์ วิตามินเอ อีกด้วย นอกจากจะเต็มไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุแล้ว ฟักทองยังมีแคลอรี่ต่ำเนื่องจากมีน้ำถึงร้อยละ 94

    ฟักทองมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย รวมถึงการเป็นหนึ่งในแหล่งอาหารชั้นเยี่ยมที่มีเบตาแคโรทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่แล้วเบตาแคโรทีนจะพบมาก ในผักสีส้มและผลไม้สีสันสดใส เมื่อร่างกายได้รับเบตาแคโรทีนจะแปลงเบตาแคโร ทีนที่รับประทานเข้าไปเป็นวิตามินเอ

    การบริโภคอาหารที่อุดมด้วยเบตาแคโรทีน อาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งบางประเภท ช่วยป้องกันโรคหอบหืดและโรคหัวใจ แถมยังชะลอความแก่และการเสื่อมของร่างกายอีกด้วย มีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า การบริโภคฟักทองจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคอ้วน นอกจากนี้ยังสามารถช่วยป้องกันโรคเบาหวาน และส่งเสริมสุขภาพผิวพรรณและเส้นผมอีกด้วย

    มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงที่มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง

    อนุมูลอิสระเป็นโมเลกุลที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย มีประโยชน์ในการทำลายแบคทีเรียที่เป็นอันตราย แต่อย่างไรก็ตามหากร่างกายมีสารอนุมูลอิสระที่มากเกินไป ร่างกายจะเกิดความเครียดออกซิเดชั่นซึ่งมีผลต่อการเกิดอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง รวมถึงโรคหัวใจและโรคมะเร็งด้วย

    ฟักทองมีสารต้านอนุมูลอิสระเช่น แอลฟา-แคโรทีน (alpha-carotene)  เบตาแคโรทีน (beta-carotene) และ เบตา-คริปโตแซนทิน (beta-cryptoxanthin) ซึ่งสารสิ่งเหล่านี้มีส่วนช่วยในการหยุดการทำลายเซลล์ของคุณได้

    จากการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์ แสดงให้เห็นว่าสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้ ยังช่วยปกป้องผิวจากการถูกทำลายของแสงแดดและลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง โรคตา

    อุดมไปด้วยวิตามินที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน

    ฟักทอง เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย ที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อย่าง เบตาแคโรทีน เมื่อร่างกายได้รับเบตาแคโรทีนร่างกายก็จะเปลี่ยนไปเป็นวิตามินเอ ที่มีส่วนในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและช่วยในการต่อสู้กับการติดเชื้อ

    ในทางกลับกันคนที่มีวิตามินเอต่ำ ร่างกายขาดวิตามินเอ จะมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ นอกจากนี้ฟักทองยังมีวิตามินซีสูง ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างเม็ดเลือดขาวที่ช่วยให้เซลล์ภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและช่วยให้แผลหายเร็ว นอกเหนือจากวิตามินทั้งสองชนิดที่กล่าวมาแล้ว ฟักทองยังเป็นแหล่งของวิตามินอี ธาตุเหล็กและโฟเลตซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนช่วยเรื่องระบบภูมิคุ้มกันเช่นกัน

    ฟักทอง

    สูตรแกงเลียงกุ้งสด

    วัตถุดิบสำหรับ สูตรแกงเลียงกุ้งสด (สำหรับ 1-2 ท่าน ใช้เวลา 20 นาที)

    • ฟักทองหั่น 5 ชิ้น
    • ข้าวโพดอ่อนหั่น 5 ชิ้น
    • บวบหั่น 5 ชิ้น
    • เห็ดฟางผ่าครึ่ง 5 ชิ้น
    • ถั่วฝักยาวหั่น 5 ชิ้น
    • แตงโมอ่อนปลอกเปลือกหั่น 5 ชิ้น
    • ใบแมงลัก 15 ใบ
    • กระชายสับ 1 ช้อนโต๊ะ
    • พริกไทยเม็ด 1 ช้อนชา
    • หอมแดงไทย 3 หัว
    • กะปิย่าง 2 ช้อนชา
    • กุ้งแห้งป่น 1 ช้อนโต๊ะ
    • พริกขี้หนู 5 เม็ด
    • น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
    • น้ำตาลทราย 1/2 ช้อนชา
    • น้ำ 2 ถ้วยตวง
    • กุ้ง 5 ตัว

    วิธีทำแกงเลียงกุ้ง 

  • นำกระชายสับ พริกไทยเม็ด หอมแดงไทย กะปิย่าง กุ้งแห้งป่น และพริกขี้หนู ใส่ลงครกตำพอให้หยาบ ๆ แล้วพักไว้
  • หั่นผักทั้งหมดที่เตรียมไว้ให้พอดีคำ ส่วนแตงโมอ่อนก็ปลอกเปลือกก่อนด้วยเตรียมไว้
  • นำน้ำใส่หม้อตั้งไฟ จนน้ำเดือด ใส่ส่วนผสมที่ตำไว้ลงไป แล้วตามด้วยผัก เห็ดฟาง ฟักทอง ข้าวโพดอ่อน แตงโมอ่อน ถั่วฝักยาว และ บวบ ตามลำดับ
  • เมื่อเดือดอีกครั้งใส่กุ้งลงไป ปรุงรสด้วยน้ำปลาหรือเกลือ ตัดรสด้วยน้ำตาลเพียงเล็กน้อยหรือไม่ก็ได้ ปรุงรสให้ได้รสตามที่ชอบ
  • หลังจากนั้นใส่ใบแมงลักลงไป พอให้ใบแมงลักพอสุก เมื่อทุกอย่างสุกเรียบร้อยแล้ว จึงตักใส่ถ้วย พร้อมเสิร์ฟ
  • Hello Health Groupไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา