backup og meta

ชาวออฟฟิศควรรู้ อาหารแบบไหนเป็น อาหารที่ไม่ดีต่ออาการลำไส้แปรปรวน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 02/07/2020

    ชาวออฟฟิศควรรู้ อาหารแบบไหนเป็น อาหารที่ไม่ดีต่ออาการลำไส้แปรปรวน

    อาการลำไส้แปรปรวน เป็นหนึ่งในอาการเรื้อรังที่สามารถควบคุมได้ หากคุณเจ็บป่วยด้วยอาการลำไส้แปรปรวน หรือสังเกตได้ว่าตนเองมีอาการลำไส้แปรปรวน ก็ยิ่งจำเป็นที่จะต้องใส่ใจกับอาหารการกินให้มากขึ้น และเนื่องด้วยโรคนี้มีความเชื่อมโยงกับการรับประทานอาหาร บทความนี้ Hello คุณหมอ จึงขอพาคุณมารู้จักกับ อาหารที่ไม่ดีต่ออาการลำไส้แปรปรวน เพื่อลดโอกาสในการเจ็บป่วยด้วยอาหารที่คุณไม่ควรมองข้าม

    ทำความรู้จักกับอาการลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome หรือ IBS)

    อาการลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome หรือ IBS) คือ อาการที่แน่นท้อง ปวดท้อง ท้องอืด มีแก๊ซในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ท้องเสีย ท้องผูก หรือมีความรู้สึกไม่สบายท้อง โดยจะมีอาการสลับกันไปมา และจะมีอาการเช่นนี้เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน จึงจัดว่าเป็นอาการเรื้อรังอย่างหนึ่ง แต่เป็นอาการเรื้อรังที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งอาการดังกล่าว มีสาเหตุที่มาของอาการที่ไม่แน่ชัด โดยอาจเกิดจากไลฟ์สไตล์หรือการใช้ชีวิต ความเครียด หรือการรับประทานอาหารบางชนิดที่อาจมีผลต่อการทำงานของลำไส้หรือระบบย่อยอาหาร

    อาหารที่ไม่ดีต่ออาการลำไส้แปรปรวน มีอะไรบ้าง

    อาหาร ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด อาการลำไส้แปรปรวน แต่การรับประทานอาหารบางชนิดอาจมีผลที่ไม่ดีต่อลำไส้ หรือกระบวนการย่อยอาหาร จนก่อให้เกิดอาการลำไส้แปรปรวน หรือส่งผลให้อาการลำไส้แปรปรวนที่เป็นอยู่แย่ลงกว่าเดิม โดยอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงหากมีอาการลำไส้แปรปรวน ได้แก่

    อาหารที่มีไฟเบอร์ชนิดไม่ละลายน้ำ

    ไฟเบอร์ (Fiber) เป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มักพบได้ในอาหารประเภท ผัก ผลไม้ และธัญพืชต่างๆ แต่ไฟเบอร์ก็ยังแบ่งเป็นไฟเบอร์แบบละลายน้ำได้ กับแบบที่ละลายน้ำไม่ได้ โดยไฟเบอร์แบบที่ละลายน้ำไม่ได้ จะไม่สามารถย่อยได้ตามธรรมชาติของกระบวนการย่อยอาหารในร่างกาย ดังนั้น กากใยต่าง ๆ จึงจะออกมาด้วยเมื่อถึงเวลาอุจจาระ มีผลทำให้ท้องเสีย และทำให้ อาการลำไส้แปรปรวน ที่เป็นอยู่แย่ลงได้ อาหารที่มีไฟเบอร์ชนิดไม่ละลายน้ำ ได้แก่ 

    • ธัญพืช เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์
    • พืชตระกูลหัว เช่น แครอท พาร์สนิป
    • ผลไม้ จำพวก เบอร์รี่ มะม่วง ส้ม องุ่น
    • ถั่ว เช่น ถั่วลันเตา
    • อาหารที่มีกลูเตน

    กลูเตน เป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ อาการแพ้กลูเตน และเป็นสาเหตุให้เกิดอาการท้องร่วง ท้องเสีย รวมถึงโรคเซลิแอค (Celiac Disease) ซึ่งเป็นภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีปฏิกิริยาต่อกลูเตน จนทำให้ลำไส้ดูดซึมสารอาหารได้ไม่ค่อยดี โดยอาหารที่มีสารโปรตีนกลูเตน ได้แก่ ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี

    อาหารทอด

    เพราะอาหารทอดนั้นมีไขมันที่สูง เมื่อผู้ที่มี อาการลำไส้แปรปรวน รับประทานของทอดเข้าไป สารเคมีในอาหารทอดก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งทำให้ยากต่อการย่อย ดังนั้นหากเป็นไปได้ ควรเลือกรับประทานอาหารประเภทย่าง หรืออบ เพราะอาจจะดีต่อ อาการลำไส้แปรปรวน ที่เป็นอยู่มากกว่า

    พืชตระกูลถั่ว

    ถั่ว เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนและไฟเบอร์ แต่กับผู้ที่มีอาการลำไส้แปรปรวนนั้น ถั่วอาจเป็นอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะถั่วจะไปเพิ่มแก๊ซในกระเพาะอาหาร และมีแนวโน้มจะทำให้เกิดอาการท้องอืด หรือมีการขับถ่ายมากกว่าปกติด้วย

    เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

    เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อาจส่งผลต่อผู้ที่มีอาการลำไส้แปรปรวน โดยอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ ดังนั้นหากต้องการเพิ่มความรู้สึกสดชื่นในช่วงเช้า หรือช่วงบ่าย อาจจำเป็นจะต้องเลือกอาหารว่างชนิดอื่น หรืออาจเป็นการเดินออกไปข้างนอกเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์แทน

    อาหารแปรรูป

    อาหารแปรรูปส่วนใหญ่ มักจะมีสารกันบูด หรือวัตถุกันเสียด้วยเสมอ ซึ่งอาจส่งผลต่อลำไส้ได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มี อาการลำไส้แปรปรวน อยู่แต่เดิมแล้ว ดังนั้น จึงควรรับประทานอาหารที่ทำขึ้นด้วยของสดและใหม่จะดีกว่า

    สารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือน้ำตาลเทียม

    ของต้องห้ามอีกอย่างหนึ่งสำหรับคนที่มี อาการลำไส้แปรปรวน คือ อาหารจำพวกลูกอม ขนม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางชนิด และน้ำอัดลม เพราะมีสารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือน้ำตาลเทียม ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายดูดซึมได้ยาก ยิ่งในผู้ที่มีอาการลำไส้แปรปรวนด้วยแล้ว ยิ่งมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดอาการทางสุขภาพตามมาด้วย ดังนั้น ก่อนซื้อสินค้าจึงควรอ่านฉลากสินค้าก่อนซื้อทุกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีส่วนผสมของน้ำตาลเทียม

    ช็อกโกแลต

    ช็อกโกแลต อาจมีผลต่อสุขภาพสำหรับผู้ที่มีอาการลำไส้แปรปรวน เนื่องจากในช็อกโกแลตมีปริมาณน้ำตาลที่สูงและคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้

    แอลกอฮอล์

    การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งมีผลต่อการทำงานของตับ และระบบย่อยอาหาร นอกนากนี้แอลกอฮอล์บางชนิด อาจมีส่วนผสมของกลูเตนและน้ำตาล ซึ่งแน่นอนว่าสารเหล่านี้ไม่ดีต่อผู้ที่มีอาการลำไส้แปรปรวน

    กระเทียมและหัวหอม

    กระเทียมและหัวหอม เป็นพืชที่มีส่วนช่วยเพิ่มแก๊ซในลำไส้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการปวดท้องได้หากมีอาการลำไส้แปรปรวนอยู่ก่อนแล้ว 

    บร็อคโคลี่และกะหล่ำดอก

    บร็อคโคลี่และกะหล่ำดอก เป็นผักที่ค่อนข้างจะย่อยได้ยาก สำหรับผู้ที่มีอาการลำไส้แปรปรวน แน่นอนว่าระบบย่อยอาหารจะต้องทำงานหนักเนื่องจากผักทั้งสองชนิดนั้นย่อยได้ยาก และอาจทำให้เกิดอาการท้องผูก เกิดแก๊ซในลำไส้ ไปจนถึงมีอาการปวดท้องร่วมด้วย

    ข้อแนะนำเพิ่มเติมในการรับมือกับ อาการลำไส้แปรปรวน

    คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ โดยเฉพาะ อาการลำไส้แปรปรวน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มชาวออฟฟิศหรือวัยทำงานที่ต้องเผชิญกับความเครียด หรืออาจยุ่งแต่กับการทำงานอยู่ตลอดเวลาจนลืมที่จะใส่ใจสุขภาพ จนอาจมีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ตามมา และเมื่อเป็นแล้ว ก็จำเป็นจะต้องระมัดระวังในการรับประทานอาหารและดูแลตัวเองให้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้อาการลำไส้แปรปรวนกำเริบจนมีอาการรุนแรงและส่งผลต่อปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 02/07/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา