backup og meta

คุยกับคุณหมอเรื่อง เรตินอยด์ในครีมบำรุงผิว

เขียนโดย ดร.พญ. ชนิศา เกียรติสุระยานนท์ · โรคผิวหนัง · สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข


แก้ไขล่าสุด 18/05/2022

    คุยกับคุณหมอเรื่อง เรตินอยด์ในครีมบำรุงผิว

    เรตินอยด์ ป็นสารประกอบอนุพันธ์ของวิตามินเอ ที่สามารถพบได้ทั้งตามธรรมชาติ พบในอาหาร และมาจากการสังเคราะห์ขึ้นเพื่อนำใช้ในการรักษาโรคหลายชนิด ซึ่ง เรตินอยด์ในครีมบำรุงผิว อาจช่วยแก้ไขปัญหาผิวพรรณ โดยเฉพาะปัญหาสิว ทั้งยังมีคุณสมบัติชะลอริ้วรอย จึงมักถูกนำมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในหลากหลายผลิตภัณฑ์บำรุงผิว

    เรตินอยด์ คืออะไร และทำหน้าที่อะไร

    เรตินอยด์ (Retinoid) เป็นสารประกอบอนุพันธ์ของวิตามินเอ ที่สามารถพบได้ทั้งตามธรรมชาติ อาหาร และอาจมาจากการสังเคราะห์ขึ้น เพื่อนำใช้ในการรักษาโรคหลายชนิด โดยส่วนใหญ่ เรตินอยด์จะออกฤทธิ์ทางชีวภาพโดยการดูดซึมผ่านเยื่อหุ้มเซลล์แล้วไปจับกับตัวรับ RAR และ RXR ภายในนิวเคลียสของเซลล์ จากนั้นจะกลายเป็นสารประกอบซึ่งมีหน้าที่หลายอย่างในการควบคุมการทำงานของเซลล์ เช่น ปรับเปลี่ยนการแสดงออกของยีนบางตัว ควบคุมการหลั่งไซโตไคน์ (Cytokines) บางชนิด

    หน้าที่หลักของเรตินอยด์ในผิวหนัง คือ การควบคุมการแบ่งตัวและการเจริญเติบโตของผิวหนัง (epidermal differentiation) ตั้งแต่ผิวหนังชั้นล่างสุดไปจนถึงชั้นหนังกำพร้า รวมถึงควบคุมการผลัดเซลล์ผิวหนังกำพร้าทั้งในภาวะปกติและเมื่อมีการบาดเจ็บของผิวหนัง 

    ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ เรตินอยด์แบบทา (Topical Retinoid) จึงถูกใช้อย่างกว้างขวางและเป็นยาหลักในการรักษาโรคผิวหนังหลายชนิด เช่น สิว ฝ้า สะเก็ดเงิน มะเร็งผิวหนังบางชนิด

    เรตินอยด์ในครีมบำรุงผิว มีชนิดใดบ้าง

    ไอโสเตรติโนอิน (Isotretinoin) และ ตรติโนอิน (Tretinoin) เป็นเรตินอยด์แบบทารุ่นแรก ซึ่งได้ถูกนำมาใช้ในการรักษาสิวเป็นเวลานานกว่า 50 ปี นอกจากนี้ ยังช่วยชะลอภาวะผิวหนังเสื่อมจากแสงแดด (Photoaging) ช่วยให้ผิวดูสว่างใสขึ้น ลดรอยดำ และช่วยทำให้แผลที่เป็นอยู่หายหรือดีขึ้น ต่อมามีการพัฒนายาอะดาพาลีน (Adapalene) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของกรดแนฟโตอิค ที่มีคุณสมบัติคล้ายเรติโนอิด แต่ออกฤทธิ์เร็วกว่า มีโครงสร้างที่เสถียรกว่า และมีผลข้างเคียงในการเกิดการระคายเคืองผิวหนังน้อยกว่า isotretinoin และ tretinoin แบบทา

    ยาอะดาพาลีน จึงเริ่มมีที่ใช้อย่างกว้างขวางในการรักษาสิวอักเสบและสิวอุดตัน ส่วนเรตินอยด์แบบทารุ่นถัดมา เช่น Alitretinoin และ Bexarotene นั้นเป็นยาหลักในการรักษามะเร็งผิวหนังชนิดคาโพซี (Kaposi’s sarcoma) และมะเร็งผิวหนังชนิด CTCL (cutaneous T-cell lymphoma) ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมี Tazarotene ซึ่งเป็นเรตินอยด์แบบทาที่ถูกพัฒนามาเพื่อใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น

    ถึงแม้ว่าเรตินอยด์จะเป็นยาที่มีประโยชน์ ได้รับการยอมรับและนำมาใช้ในทางคลินิกอย่างกว้างขวาง แต่การใช้ยาเรตินอยด์แบบทาก็มีผลข้างคียงเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การระคายเคือง การเกิดผื่นแดง ผิวลอกเป็นขุย และผิวไหม้ ซึ่งผลข้างคียงเหล่านี้มักจะค่อย ๆ ดีขึ้น เมื่อใช้ครีมบำรุงผิวเพื่อให้ความชุ่มชื้นควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ การใช้ยาเรตินอยด์แบบทาอาจส่งผลให้ผิวไวต่อแสงแดดมากขึ้น ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดโรคที่สัมพันธ์กับแสงแดดบางชนิด

    กล่าวโดยสรุป เรตินอยด์เป็นยาที่มีผลทางชีวภาพหลากหลายและใช้ในการรักษาโรคผิวหนังมาอย่างยาวนาน ความรู้เกี่ยวกับผลข้างเคียงและข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการใช้ยาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้อย่างปลอดภัย ควรมีการปรึกษากับคุณหมอหรือเภสัชกร เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    เขียนโดย

    ดร.พญ. ชนิศา เกียรติสุระยานนท์

    โรคผิวหนัง · สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข


    แก้ไขล่าสุด 18/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา