backup og meta

ท้องลาย อาการ สาเหตุ และวิธีการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 15/06/2022

    ท้องลาย อาการ สาเหตุ และวิธีการรักษา

    ท้องลาย คือ รอยผิวแตกลายที่มีลักษณะเป็นริ้ว หรือเส้นที่บริเวณหน้าท้อง อาจมีสีชมพู แดง น้ำตาล หรือม่วงตามสภาพผิวหนังของแต่ละบุคคล โดยสาเหตุอาจเกิดจากการขยายขนาดของหน้าท้องอย่างรวดเร็ว เช่น ตั้งครรภ์ อ้วนขึ้น นอกจากนี้ ผิวแตกลายสามารถเกิดขึ้นได้ในบริเวณอื่น เช่น ต้นขา สะโพก แม้ท้องลายจะไม่มีอันตรายต่อร่างกาย แต่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นใจ และการใช้ชีวิตได้

    อาการของท้องลาย

    เมื่อเกิดท้องลายใหม่ ๆ อาจรู้สึกระคายเคือง หรือคันบริเวณที่แตกลาย รวมถึงผิวหนังบริเวณนั้นอาจบางลง หรือนูนขึ้นมาเล็กน้อย มีลักษณะเป็นริ้วสีขาว ชมพู แดง น้ำตาล หรือม่วงขึ้นอยู่กับสภาพและความตึงของผิวหนังในแต่ละบุคคล โดยลักษณะอาการเหล่านี้อาจจะค่อย ๆ จางหายและสังเกตเห็นน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไปนานหลายปี 

    สาเหตุของท้องลาย 

    ท้องลายส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการยืด หรือการขยายขนาดของผิวหนังหน้าท้องที่อยู่ลึกลงไป นอกจากนั้นยังอาจมีอีกหลายปัจจัย เช่น น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งครรภ์ กำลังเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธ์ุ เนื่องจากการเติบโตอย่างรวดเร็วอาจทำให้ผิวหนังเกิดรอยแตกลายได้ นอกจากนี้ อาจเกิดจากระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนความเครียดเปลี่ยนแปลง การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้ผิวสูญเสียความยืดหยุ่น และลดการสร้างคอลลาเจนภายในผิวหนัง ทำให้ผิวแตกลายได้

    ปัจจัยเสี่ยงของท้องลาย 

    ท้องลายอาจเกิดขึ้นได้กับหลาย ๆ คน ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของการเกิดท้องลายอาจมีดังนี้

  • เป็นผู้หญิง เช่น อาจเกิดจากการตั้งครรภ์ 
  • ลดน้ำหนัก หรือเพิ่มน้ำหนักเร็วเกินไป เนื่องจากอาจจะยืด หรือหดไม่ทัน อาจทำให้เกิดผิวแตกลายได้ 
  • พันธุกรรม ที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับทางด้านสุขภาพ เช่น 
    • คุชชิ่งซินโดรม (Cushing’s Syndrome) เป็นผลมาจากฮอร์โมนคอลติซอลที่อาจทำให้เกิดการกินจุ กินบ่อย และอาจเกิดภาวะอ้วน 
    • มาร์แฟนซินโดรม (Marfan Syndrome) เป็นกลุ่มอาการผิดปกติของเนื้อเยื่อ 
    • โรคหนังยืดผิดปกติ (Ehlers-Danlos Syndrome หรือ EDS ) โรคที่ทำให้เนื้อเยื้อเกี่ยวพันในร่างกายอ่อนแอ โดยผิวหนังจะยืดและบางจนแตกลายได้ง่าย
  • กำลังเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะบุคคลที่เจริญอาหาร และรับประทานอาหารมากจนทำให้ร่างกายท้วม หรืออ้วนเร็วเกินไป 
  • ตั้งครรภ์ เนื่องจากผิวหนังขยายตามไม่ทันจึงอาจส่งผลให้ผิวแตกลายได้ง่ายขึ้น 
  • การออกกำลังกายผิดวิธี เช่น การเพาะกายแบบเร่งด่วน อาจทำให้กล้ามเนื้อนูนขึ้น และทำให้เกิดรอยแตกลายได้ 
  • การใช้สเตียรอยด์ เนื่องจากยาสเตียรอยด์อาจทำให้การผลิตคอลลาเจนผิวหนังลดลง และสูญเสียความชุ่มชื้น
  • วิธีการรักษาและการป้องกันท้องลาย 

    แม้ท้องลายจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่อาจทำให้ผิวดูไม่สวยและส่งผลถึงความมั่นใจ โดยวิธีการแก้ปัญหาท้องลาย อาจทำได้ดังนี้

    • ทาโลชั่น ครีม เพื่อช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื่นอย่างสม่ำเสมอ ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเรตินอยด์ (Retinoid) เป็นสารอนุพันธ์ของวิตามินเอ ที่อาจช่วยเพิ่มการผลิตคอลลาเจนในชั้นผิวหนังขึ้นมาใหม่ รวมถึงอาจช่วยลดเลือนริ้วรอย อย่างไรก็ตามเรติน-เอ (Retin-A ) มีส่วนผสมของกรดวิตามินเอ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น รอยแดง ระคายเคือง 
    • เลเซอร์บำบัด การรักษาด้วยเลเซอร์มีหลายประเภท เช่น เลเซอร์เพาซ์ดายด์ (Pulsed Dye Laser)  Fractional CO2 เป็นการกระตุ้นให้สร้างคอลลาเจนใหม่ขึ้นมา โดยคุณหมอผิวหนังอาจแนะนำการรักษาที่เหมาะสมกับสภาพผิวหนังและประเภทของท้องลายที่เกิดขึ้นในแต่ละบุคคล ซึ่งการรักษาด้วยเลเซอร์บำบัดอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูง
    • หลีกเลี่ยงการเพิ่ม หรือลดน้ำหนักอย่างกะทันหัน เพราะอาจทำให้ผิวหนังยืด หรือหดตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดรอยแตกลายได้ 
    • ควบคุมดัชนีมวลกาย (BMI) สำหรับผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดภาวะอ้วน โดยค่าดัชนีมวลกายที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 18.5-25
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และสมดุล เพื่อลดปัจจัยในการทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 
    • ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว อาจช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น และเสริมสร้างความยืดหยุ่นให้กับผิวหนัง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 15/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา