backup og meta

สิวในหู ดูแลอย่างไรเพื่อช่วยคลายความเจ็บปวด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 28/01/2024

    สิวในหู ดูแลอย่างไรเพื่อช่วยคลายความเจ็บปวด

    สิวในหู คือสิวที่เกิดขึ้นในหูซึ่งมักสร้างความเจ็บปวดเป็นอย่างมาก โดยสาเหตุการเกิดสิวในหูนั้นเกิดได้โดยมีสาเหตุเดียวกับการเกิดสิวประเภทอื่น ๆ คือ เกิดจากการอักเสบเรื้อรังและต่อมไขมัน ทำให้เกิดตุ่มนูนเล็ก ๆ ขึ้น โดยปกติแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ สิวอุดตัน และสิวอักเสบ ส่วนใหญ่สิวมักขึ้นที่ใบหน้าและแผ่นหลัง แต่บางครั้งสิวก็อาจเกิดเป็นสิวในหูได้ ซึ่งนับเป็นสิวที่ดูแลรักษายาก

    ประเภทของสิว

    สิวมีหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทย่อมมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป โดยสิวอุดตันเป็นประเภทของสิวที่พบได้บ่อยมากที่สุด สิวอุดตันหัวเปิดเรียกว่า สิวหัวดำ เกิดจากการที่สิวสัมผัสกับออกซิเจนจนกลายเป็นสีดำ สิวหัวดำที่ยังไม่ได้รับการรักษา หรือกำจัดออก อาจอักเสบกลายเป็นตุ่มสีแดง มีหนอง และกดเจ็บ เรียกว่าสิวอักเสบ ซึ่งอาจลุกลามกลายเป็นสิวอักเสบขนาดที่ใหญ่ขึ้น ที่เรียกกันว่า สิวหัวช้าง ได้ด้วย

    โดยปกติแล้วสิวขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย แต่พบมากที่สุดบนใบหน้า และแผ่นหลัง รวมทั้งสิวในหู และเป็นสิวที่อาจก่อให้เกิดอาการปวดและรักษายากกว่าบริเวณอื่น

    สาเหตุการเกิดสิวในหู 

    บริเวณหูชั้นนอกมีทั้งเซลล์ผิวหนัง เซลล์เส้นขน และต่อมน้ำเหลืองซึ่งทำหน้าที่ผลิตน้ำมัน จึงอาจเป็นสาเหตุของการเกิดสิวได้เช่นเดียวกับผิวหนังบริเวณอื่น ๆ เพราะสิวเกิดขึ้นเมื่อรูขุมขนอุดตัน ทั้งจากเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว และน้ำมันธรรมชาติหรือซีบัมที่คอยปกป้องผิว ผสมรวมกับแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว

    นอกจากนี้ สิวในหู ยังอาจเกิดขึ้นจากปัจจัยกระตุ้นอีกหลายอย่าง ได้แก่

  • การใช้หูฟังสกปรก ใช้หูฟังร่วมกับบุคคลอื่น
  • น้ำสกปรกหรือปนเปื้อนเข้าไปในหูจึงอาจทำให้หูชั้นนอกอักเสบ
  • ระดับความเครียดเพิ่มขึ้น
  • ความไม่สมดุลของฮอร์โมน
  • การใช้อุปกรณ์เจาะหูที่สกปรกหรือติดเชื้อ
  • การสวมหมวกหรือหมวกกันน็อคเป็นเวลานานทำให้เกิดการอับชื้น
  • แพ้ยาสระผมหรือผลิตภัณฑ์เสริมความงามซึ่งผ่านเข้าไปในช่องหู
  • ทำอย่างไรเมื่อเป็นสิวในหู

    หากสิวในหูไม่ได้ทำให้รู้สึกปวดมาก ควรปล่อยให้หายไปเอง หลีกเลี่ยงการนำเครื่องมือใด ๆ รวมถึงมือของตัวเอง เข้าไปแคะหรือกดสิวในหู เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการอักเสบได้  นอกจากนี้การทำให้สิวในหูแตก อาจทำให้หนองจากสิวและแบคทีเรียถูกผลักเข้าไปในหูชั้นใน และอาจเกิดอาการอักเสบหรือติดเชื้อขึ้นมาได้ แต่หากจำเป็นต้องกดสิวในหูจริง ๆ ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เพื่อให้แพทย์กดสิวออกให้เท่านั้น

    นอกจากนี้ ยังมีวิธีช่วยเยียวยาสิวในหูให้ดีขึ้น ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • ใช้แผ่นประคบร้อน

    จะช่วยลดอาการอักเสบ ระคายเคือง และเปิดรูขุมขน ทำให้สิวแตกออกมาได้เอง หากรักษาสิวในหูด้วยวิธีนี้ ต้องทำความสะอาดบริเวณสิว และสารคัดหลั่งที่ไหลออกมาจากสิวให้สะอาดหมดจด ด้วยน้ำสบู่อ่อน ๆ หรือเช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์

    • ใช้เรตินอยด์รักษา สิวในหู

    เรตินอยด์เป็นสารในกลุ่มวิตามินเอ ที่จะช่วยผลัดเซลล์ผิวบริเวณรอบ ๆ สิว แต่ผลิตภัณฑ์ที่มีเรตินอยด์ก็อาจทำให้ผิวแห้งหรือลอกได้ ทั้งยังอาจทำให้ผิวบางลง และไวต่อแสงแดดมากขึ้นด้วย จึงควรทาครีมกันแดดเป็นประจำ หากผิวไม่สามารถทนต่อเรตินอยด์ได้ การใช้กรดซาลิไซลิก ซึ่งมีคุณสมบัติในการขัดลอกเซลล์ผิวเหมือนกัน แต่รุนแรงต่อผิวน้อยกว่า อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

    • ใช้เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide)

    ส่วนผสมชนิดนี้พบได้ในผลิตภัณฑ์รักษาสิวจำนวนมาก ช่วยในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium acnes ที่ทำให้เกิดสิว และยังช่วยในการสลายสิ่งที่อุดตันในรูขุมขนด้วย ควรใช้เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ที่มีความเข้มข้นระหว่าง 2.5 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นสูงกว่านี้ ไม่ได้ช่วยให้รักษาสิวได้ดีขึ้น แต่อาจทำให้ผิวลอก แดง หรือบวมได้

    • ใช้น้ำมันทีทรี

    เนื่องจากน้ำมันทีทรีออยล์ 5 เปอร์เซ็นต์ มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ แม้ว่าจะเห็นผลได้ช้ากว่า แต่ข้อดีในการใช้น้ำมันทีทรีคือเสี่ยงต่อการระคายเคืองผิวน้อยกว่า

    • ยาปฏิชีวนะ

    บางครั้ง แพทย์อาจสั่งยาปฏิชีวนะชนิดทา เช่น ยาอิริโธรมัยซิน (erythromycin) คลินด้ามัยซิน (clindamycin) ให้ใช้ร่วมกับเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ เพราะการใช้เพียงอย่างชนิดเดียวอาจไม่ได้ผลในการรักษาปัญหาสิวในหู อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษากับแพทย์ผิวหนังก่อนใช้ยาเสมอ

    วิธีป้องกันสิวในหู

    สิวในหู ป้องกันได้ด้วยการดูแลรักษาสุขอนามัยของหูให้สะอาดอยู่เสมอ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • ควรล้างและทำความสะอาดหูเป็นประจำเพื่อกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วและควบคุมความมัน
    • หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในสถานที่ที่อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค
    • หยุดพักจากการสวมหมวกนิรภัย
    • หมั่นทำความสะอาดหูฟังทั้งชนิดครอบหูหรือแบบเสียบเข้าไปในรูหู
    • หากสิวในหูไม่หายไปเอง หรือเป็นซ้ำบ่อย ๆ  ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เพื่อช่วยระบุระดับความรุนแรงของสิว และแนะนำการใช้ยาหรือวิธีการรักษาที่เหมาะสม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 28/01/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา