backup og meta

เซ็บเดิร์ม อาการ สาเหตุ การรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 09/11/2022

    เซ็บเดิร์ม อาการ สาเหตุ การรักษา

    เซ็บเดิร์ม เป็นโรคผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจเกิดจากภาวะอักเสบของผิวหนังจากเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) ลักษณะของเซ็บเดิร์มอาจคล้ายกับโรคกลาก โรคสะเก็ดเงิน อาจส่งผลทำให้ผิวหนังเป็นขุย เป็นสะเก็ด และอาจมีผื่นคันเกิดขึ้น แม้เซ็บเดิร์มอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย แต่ก็อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัว อับอาย และอาจทำให้รู้สึกเหมือนเป็นคนสกปรก เซ็บเดิร์มอาจพบได้บ่อยบริเวณหนังศีรษะ แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนบนร่างกาย

    เซ็บเดิร์ม คืออะไร

    เซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) คือ โรคผิวหนังทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะอักเสบของผิวหนังจากเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) อาจมีลักษณะคล้ายโรคกลาก โรคสะเก็ดเงิน หากเซ็บเดิร์มเกิดขึ้นในเด็ก อาจถูกเรียกว่า ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณศีรษะ (Cradle Cap) เพราะอาจเกิดจากไขมันบนหนังศีรษะของเด็กจับตัวหนาขึ้น และอาจทำให้ผิวหนังลอกออกมา เซ็บเดิร์มอาจพบได้บ่อยบริเวณหนังศีรษะ ทั้งยังอาจพบได้ในบริเวณที่มีน้ำมันของร่างกาย เช่น ใบหน้า ด้านข้างของจมูก คิ้ว หู เปลือกตา หน้าอก

    อาการของเซ็บเดิร์ม อาจทำให้ผิวเป็นขุย เป็นสะเก็ด เกิดผื่นคัน เกิดรอยแดงบริเวณผิวหนังที่มีสีอ่อน และเกิดจุดด่างบริเวณผิวหนังที่มีสีเข้ม เซ็บเดิร์มอาจหายได้เอง แต่โดยส่วนใหญ่อาจจะเป็นแบบเรื้อรัง อาจเป็น ๆ หาย ๆ และอาการอาจกำเริบในช่วงฤดูหนาว อากาศแห้ง และอากาศเย็น หากต้องการรักษาให้หายขาด อาจต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี แม้โรคเซ็บเดิร์มอาจไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย แต่อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัว อับอาย และอาจทำให้รู้สึกเหมือนเป็นคนสกปรก

    สาเหตุของเซ็บเดิร์ม

    สาเหตุที่ทำให้เกิดเซ็บเดิร์ม อาจมีดังนี้

  • เกิดจากเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia)
  • เพศ เซ็บเดิร์มอาจพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
  • อายุ เซ็บเดิร์มอาจพบได้ทั่วไปในเด็กทารกอายุ 3 เดือนหรือต่ำกว่า ส่วนในผู้ใหญ่อาจพบได้ในอายุระหว่าง 30-60 ปี
  • พันธุกรรม
  • สภาพผิวหนัง เซ็บเดิร์มอาจพบได้ในผู้ที่มีผิวมันมากกว่าผิวประเภทอื่น
  • สภาพอากาศที่แห้งและเย็น
  • ความเครียด
  • การรักษาทางการแพทย์ หากผู้ป่วยกินยาที่ประกอบไปด้วยอินเตอร์เฟอรอน ลิเธียม หรือยาซอราเลน (Psoralen) ก็อาจความเสี่ยงที่จะเป็นเซ็บเดิร์มได้
  • ภาวะทางการแพทย์ เช่น มีเชื้อ HIV เป็นสิว โรคสะเก็ดเงิน โรคโรซาเซีย (Rosacea) โรคพาร์กินสัน โรคซึมเศร้า
  • อาการของเซ็บเดิร์ม

    เซ็บเดิร์มอาจพบได้บ่อยบริเวณผิวหนังที่มีความมัน ลื่น เช่น ใบหน้า รอบ ๆ จมูก หนังศีรษะ ใบหู โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจสังเกตได้ ดังนี้

    • มีไขเกาะบนผิวหนังเป็นสีขาวหรือสีเหลือง
    • เป็นผื่นแดง
    • มีอาการคัน
    • รังแคที่เส้นผมหรือขนคิ้ว
    • เกิดอาการแสบร้อนหรือชา

    การรักษาเซ็บเดิร์ม

    อาการของเซ็บเดิร์มอาจหายได้เองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่ถ้าอาการยังไม่ยอมหายไปเอง คุณอาจต้องเข้าพบคุณหมอ เพื่อทำการรักษาและควบคุมอาการที่เกิดขึ้น คุณหมอผิวหนังอาจแนะนำให้ผู้ป่วยลองเยียวยาตนเองก่อนที่จะสั่งจ่ายยา สำหรับการรักษาเซ็บเดิร์มด้วยตัวเอง อาจทำได้ดังนี้

    • ใช้แชมพู ครีม และโลชั่นที่เกี่ยวข้องกับการรักษา
    • ซื้อยาโดยตรงกับเภสัชกรได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยอาจมองหาฉลากที่ระบุว่า สามารถรักษาเซ็บเดิร์ม รวมถึงอาจมองหาส่วนประกอบในตัวยา เช่น
  • กรดซาลิซิลิก (Salicylic ฤcid)
  • น้ำมันดินถ่านหิน (Coal tar)
  • คีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
  • ซิงก์ ไพริไธออน (Zinc Pyrithione)
  • เซเลเนียม ซัลไฟด์ (Selenium Sulfide)
  • ส่วนในเด็กอ่อนไม่ควรใช้แชมพูขจัดรังแค เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง

  • ทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำอุ่นและสบู่อ่อนทุกวัน
  • ทำความสะอาดผิวบริเวณที่เกิดอาการและซับให้แห้ง
  • ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกดีขึ้นในฤดูร้อน เพราะแสงแดดอาจช่วยฆ่าเชื้อราที่ก่อให้เกิดเซ็บเดิร์ม ส่วนการรักษาชนิดอื่น ๆ อาจได้แก่

    • การใช้แชมพูต้านเชื้อรา
    • การกินยา เช่น ยาที่อาจช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
    • การใช้โลชั่นที่มีส่วนประกอบของคอร์ติโคสเตียรอยด์
    • การรักษาด้วยแสงเลเซอร์

    ผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาเพียงวิธีเดียว หรือหลายวิธีประกอบกัน หากการรักษาไม่ทำให้อาการดีขึ้น หรือผู้ป่วยยังรู้สึกเจ็บปวด มีผื่นแดง มีอาการบวม มีน้ำไหลซึม การไปพบคุณหมออาจเป็นวิธีการที่ดีที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 09/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา