backup og meta

ไขข้อสงสัย ตดบ่อย เป็นอันตรายหรือเปล่า

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/03/2023

    ไขข้อสงสัย ตดบ่อย เป็นอันตรายหรือเปล่า

    การตด หรือการผายลม เกิดขึ้นจากการหมักหมมของกากอาหารในลำไส้ จนกลายเป็นแก๊ส และออกมาเป็นลมที่มีกลิ่นเหม็น การตดนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่อาการ ตดบ่อย  อาจทำให้เสียบุคลิกภาพ ขาดความมั่นใจ ทั้งนี้ หากตดบ่อย อาจไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรงแต่อาจสะท้อนปัญหาสุขภาพที่ควรระวังได้เช่นกัน

    ทำไมถึงตดบ่อย

    ตามปกติแล้ว ผู้ที่มีสุขภาพดี ไม่มีปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย มักจะตดกันวันละประมาณ 5-15 ครั้งต่อวัน แต่หากรู้สึกว่าตัวเองตดบ่อย อย่างน้อยวันละ 20 ครั้งขึ้นไป อาจหมายความว่ามีการเปลี่ยนแปลงในระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ซึ่งอาจมีสาเหตุดังต่อไปนี้

    รับประทานอาหารที่ย่อยยาก

    อาหารที่ย่อยยาก ๆ อย่างอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง มีโปรตีนสูง หรือมีน้ำตาลบางชนิดที่ร่างกายมักจะต้องใช้เวลานานในการย่อยอาหารเหล่านี้ อาจทำให้เกิดแก๊สในลำไส้ระหว่างกระบวนการย่อยอาหารมากกว่าปกติ และส่งผลให้ตดบ่อยมากยิ่งขึ้น อาหารเหล่านั้นได้แก่ ถั่ว ธัญพืช ผักและผลไม้ หรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาลต่าง ๆ เช่น ซอร์บิทอล (Sorbitol) ที่สามารถพบได้ในขนมและลูกอมต่าง ๆ

    ความเครียด

    เมื่อมีความเครียดสะสมมาก ๆ บางครั้งก็อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome) ที่ทำให้ตดบ่อยขึ้นกว่าเดิมได้

    นอกจากนี้ เมื่อเกิดความเครียด มักจะรับประทานอาหารมากขึ้นกว่าเดิม และเลือกรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ อย่าง น้ำอัดลม หรือมันฝรั่งทอด ซึ่งเป็นอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะได้มาก และทำให้ตดบ่อยขึ้นอีกด้วย

    รับประทานอาหารที่ไม่คุ้นเคย

    หากรับประทานอาหารแปลกใหม่ที่ร่างกายของเราไม่ค่อยคุ้นเคย อาจทำให้มีอาการท้องไส้ปั่นป่วน และตดบ่อยขึ้น เช่น ผู้ที่เริ่มเปลี่ยนมากินอาหารแบบมังสวิรัติ หรือแบบวีแกน (Vegan) จากที่ปกติรับประทานเนื้อตามปกติ กลายมาเป็นไม่รับประทานเนื้อ และรับประทานผักเพิ่มขึ้น ร่างกายก็อาจจะยังปรับตัวไม่ค่อยได้ และทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน พะอืดพะอม ท้องเสีย หรือท้องผูก และตดบ่อย ๆ อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อร่างกายปรับตัวเข้ากับรูปแบบในการรับประทานอาหารได้แล้ว

    แพ้น้ำตาลแลคโตส (lactose intolerance)

    ผู้ที่มีภาวะแพ้น้ำตาลแลคโตส คือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสได้ และทำให้เกิดอาการเกิดอาการบางอย่าง เช่น ท้องไส้ปั่นป่วน อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเสีย เรอหรือตดมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว น้ำตาลแลคโตสนั้นสามารถพบได้ในอาหารจำพวกนม เช่น นมวัว ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

    โรคระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย

    ในบางครั้งปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร เช่น แผลในกระเพาะอาหาร ตัวอ่อนอักเสบ ลำไส้แปรปรวน ลำไส้อักเสบ ท้องผูก ท้องเสีย หรือโรคการกินผิดปกติ (Eating disorders) ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ตดบ่อยมากกว่าปกติได้ เนื่องจากโรคเหล่านี้มักจะส่งผลกระทบกับระบบการย่อยอาหารและระบบขับถ่ายโดยตรง และทำให้ตดบ่อยมากขึ้น

    ตดบ่อย อันตรายไหม

    ตามปกติแล้ว อาการตดบ่อย ๆ นั้นมักจะมีสาเหตุมาจากปัญหาที่ไม่เป็นอันตราย เช่น การรับประทานอาหารที่ย่อยยากหรือมีแก็สมาก อาหารที่ไม่คุ้นเคย หรือความเครียดและความกังวลใจ แต่ในบางครั้ง อาการตดบ่อย ๆ นั้นก็อาจจะเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน

    ปัญหาเรื่องอาการตดบ่อยนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วสามารถแก้ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ และอาหารที่รับประทานเข้าไป แต่หากลองเปลี่ยนไลฟ์สไตล์แล้ว แต่ปัญหาตดบ่อยก็ยังไม่หายไป หรือมีอาการบางอย่างร่วมด้วย เช่น

    • ปวดท้อง
    • ท้องเสียหรือท้องผูกเป็นประจำ
    • น้ำหนักลดผิดปกติ
    • มีเลือดปนในอุจจาระ
    • มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น เป็นไข้ อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว

    ควรติดต่อคุณหมอเพื่อตรวจร่างกายและเข้ารับการรักษา เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของสภาวะที่รุนแรงเกี่ยวกับอวัยวะภายใน ระบบย่อยอาหาร หรือระบบขับถ่ายได้

    ไม่อยากตดบ่อยควรทำอย่างไร

    วิธีป้องกันอาการตดบ่อย ทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงน้ำอัดลมและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้สามารถเพิ่มแก๊สในกระเพาะอาหาร และทำให้ตดบ่อยขึ้น
  • รับประทานอาหารให้ช้าลง อย่ารีบรับประทานอาหารอย่างรวดเร็วหรือมากเกินไป ค่อย ๆ รับประทานอย่างพอดีคำ เพื่อลดปริมาณการกลืนอากาศเข้าไปในท้อง และกลายเป็นแก๊สในกระเพาะอาหาร
  • งดเคี้ยวหมากฝรั่งและสูบบุหรี่ เนื่องจากจะทำให้ร่างกายกลืนอากาศลงไปมากขึ้น และสะสมอยู่ในระบบทางเดินอาหาร ทำให้ตดบ่อยขึ้นได้
  • ออกกำลังกายการออกกำลังกายเป็นประจำสามารถช่วยป้องกันการสะสมของแก๊สในระบบทางเดินอาหารได้ ทำให้ตดน้อยลง
  • ขับถ่ายให้เป็นปกติ หากขับถ่ายน้อย หรือมีอาการท้องผูก ก็จะทำให้มีแก๊สสะสมในลำไส้อยู่มาก ควรพยายามขับถ่ายให้เป็นประจำทุกวัน ดื่มน้ำให้มาก และรับประทานอาหารที่ช่วยในเรื่องของการขับถ่าย
  • ใช้ยาลดแก๊สในกระเพาะอาหาร ยาลดแก๊สในกระเพาะอาหารหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป มักมีส่วนช่วยลดแก๊สที่สะสมในระบบทางเดินอาหาร และทำให้ตดน้อยลงได้
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา