backup og meta

ประจําเดือนไม่มา2เดือน เป็นเพราะอะไร รับมืออย่างไรดี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 4 สัปดาห์ก่อน

    ประจําเดือนไม่มา2เดือน เป็นเพราะอะไร รับมืออย่างไรดี

    ประจำเดือนไม่มา2เดือน เป็นปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ ในบางกรณีอาจเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ หรืออาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น เช่น วัยหมดประจำเดือน ความเครียด ความผิดปกติของฮอร์โมน การใช้ยาบางชนิด ซึ่งภาวะประจำเดือนขาดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะมีบุตรยากและกระดูกพรุน การรักษาสาเหตุหลักของภาวะประจำเดือนขาดอาจลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพและภาวะแทรกซ้อนได้

    สาเหตุที่ประจําเดือนไม่มา2เดือน

    ประจำเดือนไม่มา2เดือน จัดเป็นภาวะประจำเดือนขาด (Amenorrhea) ภาวะนี้เกิดจากรังไข่หลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยกว่าปกติ ทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนในกระบวนการผลิตไข่และเตรียมตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

    1. การตั้งครรภ์

    ประจำเดือนจะหยุดไปในช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากไม่มีการตกไข่ คือ รังไข่ไม่ปล่อยไข่ออกมา แต่ในบางรายอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยระหว่างตั้งครรภ์ เรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากเลือดออกมากกว่าปกติในช่วงตั้งครรภ์ ควรพบคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพครรภ์ทันที

    1. การให้นมลูก

    อาจเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงบางคน ประจำเดือนจะขาดหายไปจนกว่าจะสิ้นสุดช่วงเวลาให้นมบุตร หรือบางคนประจำเดือนอาจกลับมาภายใน 2-3 เดือนหลังคลอด

    1. วัยหมดประจำเดือน

    ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน คือ ประมาณช่วงอายุ 40-51 ปี แต่บางคนอาจเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก่อนอายุ 40 ปี เรียกว่า วัยหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร หรือวัยทองก่อนวัยอันควร ซึ่งอาจมาพร้อมกับอาการร้อนวูบวาบได้

    1. การใช้ยาคุมกำเนิด

    หากรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม หรือใช้ยาคุมกำเนิดแบบฉีด หลังจากยาคุมกำเนิดหมดฤทธิ์หรือเลิกรับประทานยา อาจต้องรอประมาณ 2-3 เดือน กว่าประจำเดือนรอบใหม่จะกลับมาอีกครั้ง หรือในบางคนอาจต้องรอนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมของฮอร์โมนในร่างกาย

    1. น้ำหนัก

    น้ำหนักตัวที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปอาจทำให้ประจำเดือนขาดได้ เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เปลี่ยนแปลงฮวบฮาบ อาจทำให้ร่างกายมีสารอาหารไม่พอไปกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนที่ทำให้ไข่ตก สำหรับคนที่มีน้ำหนักตัวมาก ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป ซึ่งส่งผลต่อรอบเดือน ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือขาดหายไป

    1. ความเครียด

    ความเครียดที่รุนแรงเรื้อรังอาจส่งผลกระทบต่อสมองส่วนที่ควบคุมระบบสืบพันธุ์ อาจทำให้สมองไม่ส่งสัญญาณเพื่อผลิตฮอร์โมนที่ช่วยในการตกไข่ หรือฮอร์โมนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน จนทำให้ประจำเดือนขาดได้

  • ปัญหาฮอร์โมน
  • ความผิดปกติของฮอร์โมนที่อาจส่งผลให้ประจำเดือนไม่มา เช่น

    • ภาวะระดับโปรแลคตินในเลือดสูง (Hyperprolactinemia) อาจมีสาเหตุมาจากเนื้องอกไม่ร้ายในสมอง เรียกว่า โปรแลกติโนมา (Prolactinoma)
    • ปัญหาต่อมไทรอยด์ เนื่องจากต่อมไทรอยด์มีหน้าผลิตฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการมีประจำเดือน หากต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากเกินไป (Hyperthyroidism) หรือน้อยเกินไป (Hypothyroidism) ก็อาจส่งผลต่อการมีประจำเดือนได้
    • โรคที่เกิดจากความผิดปกติของเอนไซม์ที่อยู่ในกระบวนการสังเคราะห์ฮอร์โมน (Congenital adrenal hyperplasia) เป็นภาวะสืบทอดทางพันธุกรรมที่พบน้อย อาจส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมน
    1. ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)

    ผู้หญิงที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบอาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือในบางคน ประจำเดือนอาจขาดหาย รวมทั้งอาจทำให้ลดน้ำหนักยาก มีสิวและขนขึ้นตามร่างกาย

    1. ยาและการรักษาโรค

    การใช้ยาบางชนิดอาจมีผลต่อประจำเดือนได้ เช่น ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคจิตเวช ยาแก้ปวดชนิดรุนแรงที่มีส่วนผสมของฝิ่น ยาเมโคลโทพราเดียม (Metoclopramide)

    การรักษาพยาบาลบางประการก็อาจทำให้ประจำเดือนขาดได้ เช่น การผ่าตัดมดลูกออก จะทำให้ไม่มีประจำเดือนอีกเลย การผ่าตัดเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial ablation) จะทำให้ประจำเดือนขาดหายไปช่วงหนึ่ง นอกจากนี้ การรักษาโรคมะเร็ง เช่น เคมีบำบัด ฉายรังสี อาจทำลายรังไข่ทำให้ประจำเดือนขาดได้เช่นกัน

    ผลข้างเคียงเมื่อ ประจําเดือนไม่มา2เดือน

    ผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนขาด อาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

    • ภาวะมีบุตรยาก การไม่มีประจำเดือนหมายความว่ารังไข่ไม่ผลิตไข่ จึงไม่สามารถปฏิสนธิและตั้งครรภ์ได้
    • โรคกระดูกพรุน ประจำเดือนขาดเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีส่วนช่วยให้กระดูกแข็งแรง เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ จึงทำให้เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนหรือแตกหักง่าย

    การรักษาประจำเดือนไม่มา2เดือน

    หากประจำเดือนไม่มา2เดือนหรือมากกว่านั้น ควรรีบพบคุณหมอทันทีเพื่อตรวจหาสาเหตุ เนื่องจากอาจเป็นการตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัว หรืออาจเกี่ยวข้องกับสุขภาพโดยรวมได้

    การรักษาอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนไม่มา จึงจำเป็นต้องระบุสาเหตุของอาการให้ได้ก่อน เมื่อรักษาสาเหตุหลักจนหายดีแล้ว ประจำเดือนอาจกลับมาเป็นปกติ ตัวอย่างเช่น

    • หากประจำเดือนขาดเพราะฮอร์โมนไม่สมดุล คุณหมออาจรักษาด้วยฮอร์โมนเสริม เพื่อช่วยปรับฮอร์โมน เช่น บำบัดด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนสำหรับวัยหมดประจำเดือน ยาคุมกำเนิด ยาต้านแอนโดรเจน
    • หากประจำเดือนขาดเพราะน้ำหนักตัวเกินหรือน้อยเกินเกณฑ์ คุณหมออาจแนะนำให้ควบคุมน้ำหนักหรือเพิ่มน้ำหนัก ด้วยการเปลี่ยนกิจวัตรการรับประทานอาหาร ออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นต้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 4 สัปดาห์ก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา