backup og meta

คันอวัยวะเพศ สาเหตุ การป้องกันและการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 17/08/2023

    คันอวัยวะเพศ สาเหตุ การป้องกันและการรักษา

    อาการ คันอวัยวะเพศ อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว และทำให้เจ็บปวดบริเวณอวัยวะเพศได้ อาการคันอวัยวะเพศอาจเกิดจากสารระคายเคือง การติดเชื้อ หรือเป็นสัญญาณของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือโรคมะเร็ง การป้องกันและการรักษาอาการคันจึงอาจเป็นวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้

    สาเหตุอาการ คันอวัยวะเพศ

    อาการคันอวัยวะเพศอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุอาจเป็นไม่อันตรายต่อสุขภาพ แต่บางสาเหตุก็อาจเป็นสัญญาณของโรคที่ควรระวัง ดังนี้

    อวัยวะเพศระคายเคือง

    อวัยวะเพศเป็นส่วนที่บอบบาง มีเส้นประสาทจำนวนมากจึงอาจระคายเคืองได้ง่าย และส่งผลให้คันอวัยวะเพศได้ สิ่งที่อาจทำให้อวัยวะเพศระคายเคือง เช่น เสื้อผ้าหรือชุดชั้นในที่ทำจากวัสดุแข็ง หนา และไม่ระบายอากาศ ซึ่งเสียดสีและทำให้ผิวหนังเป็นรอย นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ซักผ้า หรือสบู่ ที่มีเคมีบางชนิดเป็นส่วนผสม ก็อาจสร้างความระคายเคืองให้กับผิวได้เช่นกัน

    การกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ

    การกระตุ้นอารมณ์ทางเพศอาจมีส่วนทำให้เกิดอาการคันอวัยวะเพศได้ เพราะเมื่อร่างกายถูกกระตุ้น การไหลเวียนของเลือดที่อวัยวะเพศจะเพิ่มขึ้น ทำให้อวัยวะเพศพองตัว จนไวต่อความรู้สึกและระคายเคืองได้ง่าย อย่างไรก็ตาม อาการคันที่เกิดขึ้นจากสาเหตุนี้สามารถหายไปได้เอง ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

    นอกจากนี้ อาการคันอาจเกิดจากภาวะถึงจุดสุดยอดพร่ำเพรื่อ (Persistent Genital Arousal Disorder หรือ PGAD) ได้เช่นกัน ผู้ที่เกิดภาวะนี้จะตื่นตัวทางเพศแม้จะไม่ได้รับการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศเลยก็ตาม ภาวะนี้ มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ทำให้มีอาการคัน รู้สึกเสียวซ่า แสบร้อน เจ็บปวด มีน้ำหล่อลื่นและถึงจุดสุดยอด

    การติดเชื้อราในช่องคลอด

    ยีสต์แคนดิดา (Candida) อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเชื้อราในช่องคลอด และทำให้มีอาการคันช่องคลอด แสบร้อน บวมแดง บางรายอาจมีการติดเชื้อมายังอวัยวะะเพศด้านนอกด้วย ทำให้มีอาการเจ็บเมื่อปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวมีสีขาวขุ่น อาจมีหรือไม่มีกลิ่นเหม็นก็ได้ นอกจากนี้ ปัจจัยดังต่อไปนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อราในช่องคลอดได้เช่นกัน

  • การใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน
  • หญิงตั้งครรภ์
  • การสวนล้างช่องคลอด โดยเฉพาะเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารรุนแรง
  • ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
  • เป็นโรคเบาหวาน หรือน้ำตาลในเลือดสูง
  • รักษาโรคด้วยยาปฏิชีวนะบางชนิด
  • ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

    เป็นภาวะที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในช่องคลอดมีปริมาณมากเกินไป ซึ่งมักเกิดจากการที่มีการเสียสมดุลของภาวะกรด-เบสในช่องคลอด ซึ่งปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรีย คือ การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคนโดยไม่ป้องกัน หรือการสวนล้างช่องคลอด ซึ่งอาจแสดงอาการ ดังนี้

    • ปวดหรือแสบร้อนในช่องคลอด
    • ตกขาวมีสีเทาหรือสีขาว
    • รู้สึกแสบเมื่อปัสสาวะ
    • ช่องคลอดมีกลิ่นคาว โดยเฉพาะหลังมีเพศสัมพันธ์

    กลากที่อวัยวะเพศ

    กลากหรือโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นโรคผิวหนังที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย มักเกิดในผู้ที่เป็นโรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ หรือเกิดผิวหนังระคายเคืองจากเสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์อาบน้ำ และอาจทำให้มีอาการ ดังนี้

    โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    อาการคันอวัยวะเพศ หรือช่องคลอดอาจเป็นสัญญาณของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และอาจมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย

    • ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
    • ปัสสาวะบ่อยและเจ็บเมื่อปัสสาวะ
    • มีรอยแดงที่อวัยวะเพศ หรือมีแผลรอบปากช่องคลอด
    • เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด และปวดท้องน้อย
    • หูดที่อวัยวะเพศ

    ทั้งนี้ หากมีอาการคันอวัยวะเพศและมีอาการดังกล่าวร่วมด้วย ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและเข้ารับการรักษา

    ไลเคน พลานัส (Lichen Planus)

    ไลเคน พลานัส (Lichen Planus) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดไม่ติดต่อ มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการ ดังนี้

    • คัน
    • มีแผลพุพอง เลือดออก
    • ผิวหนังฟกช้ำง่าย
    • ผิวหนังบางและเหี่ยวย่น
    • มีรอยแผลเป็น มีจุดขาวเล็ก ๆ ที่อาจขยายใหญ่ขึ้น

    คุณหมอยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคผิวหนังชนิดนี้ แต่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การบาดเจ็บที่ผิวหนัง พันธุกรรม หรืออาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานมากเกินไป

    มะเร็งปากช่องคลอด

    อาการคันอวัยวะเพศหญิงอาจเป็นอาการของโรคมะเร็งปากช่องคลอด และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งปากช่องคลอด อาการอาจมีได้ ดังนี้

    • มีเนื้องอกในช่องคลอด หรือที่อวัยวะเพศ หรือก้อนนั้นโตเร็วผิดปกติ
    • เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือตกขาวผิดปกติ และมีกลิ่นเหม็น
    • เจ็บปวดหรือแสบร้อนที่ช่องคลอด
    • ผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศมีลักษณะแตกต่างกับบริเวณอื่น อาจมีสีแดงหรือชมพู
    • มีแผลที่อวัยวะเพศ หรือแผลเรื้อรังรักษาเเล้วอาการไม่ดีขึ้น

    การรักษาอาการ คันอวัยวะเพศ

    อาการคันอวัยวะเพศมักต้องได้รับการรักษาแบบเฉพาะที่ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการคัน ดังนี้

    • รับประทานยาต้านเชื้อราหรือยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาการติดเชื้อ
    • ใช้ยาแก้แพ้ (Antihistamines) สำหรับรักษาอาการลมพิษ หรืออาการระคายเคือง
    • ใช้ยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ หรือยาทากลุ่มแคลซินูริน (calcineurin inhibitors) สำหรับรักษาโรคอักเสบ หรือกลาก
    • รักษาด้วยการผ่าตัดหากปัญหาเส้นประสาทมีส่วนทำให้เกิดอาการคันช่องคลอด
    • ใช้ยาต้านเศร้า เช่น ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic antidepressants) และยากันชัก (Anticonvulsant) ใช้สำหรับรักษาอาการทางระบบประสาท

    การป้องกัน อาการคันอวัยวะเพศ

    วิธีดูแลสุขภาพช่องคลอด และป้องกันอาการคันอวัยวะเพศ มีดังนี้

    • อาบน้ำชำระล้างร่างกายและทำความสะอาดช่องคลอดเป็นประจำทุกวัน เพื่อขจัดสิ่งสกปรกและลดการระคายเคือง ทั้งนี้ ในหนึ่งวันไม่ควรอาบน้ำบ่อยหรือนานเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวแห้งและเพิ่มอาการคันได้
    • ล้างอวัยวะเพศด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอวัยวะเพศสูตรอ่อนโยน และไม่ควรสวนล้างอวัยวะเพศ เพราะอาจทำให้ระคายเคืองได้
    • เช็ดอวัยวะเพศให้แห้งทุกครั้ง เพื่อป้องกันการอับชื้น
    • เปลี่ยนชุดชั้นในเป็นประจำ และหลีกเลี่ยงการใส่กางเกง กางเกงใน หรือถุงน่องที่รัดอวัยวะเพศมากเกินไป
    • หลีกเลี่ยงการขี่จักรยาน หรือนั่งม้านั่งเป็นเวลานาน เพราะอาจเกิดแรงกดทับที่อวัยวะเพศได้
    • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
    • เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV ที่อาจส่งผลทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก และโรคไวรัสตับอักเสบบี
    • ออกกำลังกายช่วยกระชับกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เพื่อป้องกันปัญหาอุ้งเชิงกรานอ่อนแรง อวัยวะเพศหย่อนยาน ปัสสาวะรั่ว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 17/08/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา