backup og meta

โรคปีกมดลูกอักเสบ อาการ สาเหตุและการป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 13/06/2023

    โรคปีกมดลูกอักเสบ อาการ สาเหตุและการป้องกัน

    โรคปีกมดลูกอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องน้อยแม้จะไม่ได้อยู่ในช่วงมีประจำเดือน หรือปวดประจำเดือนหนักและนานกว่าปกติ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีอาจทำให้ท่อนำไข่เป็นแผลและแคบลง จนไข่เคลื่อนที่ไปยังมดลูกได้ยากขึ้น อาจนำไปสู่ภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก

    โรคปีกมดลูกอักเสบ คืออะไร

    โรคปีกมดลูกอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease หรือ PID) เป็นการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อเนอิสซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria Gonorrhoeae) ที่ทำให้เกิดโรคหนองในแท้ และเชื้อคลามัยเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) ซึ่งติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ โดยเข้าสู่ร่างกายผ่านช่องคลอด ไปยังมดลูก ท่อนำไข่ หรือรังไข่ ผู้ที่เป็นโรคปีกมดลูกอักเสบมักไม่มีอาการใด ๆ ในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปอาการของโรคอาจรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาตามมาเรื่องมีบุตรยาก หรือปวดท้องน้อยเรื้อรัง

    อาการของโรคปีกมดลูกอักเสบ

    อาการของโรคปีกมดลูกอักเสบที่อาจพบได้บ่อย มีดังนี้

  • รู้สึกปวดท้องน้อย
  • มีไข้ บางครั้งอาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย
  • มีสารคัดหลั่งหรือตกขาวมีกลิ่นรวมทั้งเปลี่ยนเป็นสีเขียวหรือเหลือง
  • รู้สึกเจ็บหรือมีเลือดออกเวลามีเพศสัมพันธ์
  • รู้สึกแสบเวลาถ่ายปัสสาวะ หรือปัสสาวะยาก
  • ประจำเดือนมามากผิดปกติ
  • ปวดท้องประจำเดือนมากกว่าปกติ
  • เพศหญิงบางรายที่เป็นโรคปีกมดลูกอักเสบอาจไม่มีอาการดังกล่าวข้างต้น หรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบเข้าพบคุณหมอทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณว่าโรคปีกมดลูกอักเสบกำลังเข้าสู่ภาวะรุนแรง

    • ปวดท้องน้อยรุนแรง
    • คลื่นไส้และอาเจียน เบื่ออาหาร
    • มีไข้สูงกว่า 38.3 องศาเซลเซียส
    • ตกขาวมีกลิ่นเหม็นรุนแรง

    โรคปีกมดลูกอักเสบไม่มีการวินิจฉัยโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่คุณหมออาจตรวจวินิจฉัยโรคโดยดูประวัติทางการแพทย์ ร่วมกับการตรวจร่างกาย และการทดสอบบางประการ ดังนั้น ไม่ควรปกปิดประวัติสุขภาพ โดยเฉพาะประวัติในการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อให้คุณหมอวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง

    สาเหตุและความเสี่ยงของโรคปีกมดลูกอักเสบ

    เชื้อแบคทีเรียหลายชนิดสามารถก่อให้เกิดโรคปีกมดลูกอักเสบได้ แต่สาเหตุที่อาจพบได้บ่อย คือ เชื้อเนอิสซีเรีย โกโนเรียที่ทำให้เกิดโรคหนองในแท้ และเชื้อคลามัยเดีย ทราโคมาติสที่ทำให้เกิดโรคหนองในเทียม ส่วนใหญ่มักได้รับเชื้อมาจากการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน

    แต่ในบางกรณี หากภูมิคุ้มกันบริเวณปากมดลูกอ่อนแอ ถูกทำลายหรือเสียหาย แบคทีเรียอาจเข้าสู่ระบบสืบพันธุ์ผ่านช่องคลอดได้ และทำให้เกิดโรคปีกมดลูกอักเสบได้ ซึ่งในกรณีนี้มักเกิดขึ้นหลังจากคลอดบุตร แท้งบุตร หรือทำแท้ง แต่พบได้ไม่บ่อยนัก

    สำหรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคปีกมดลูกอักเสบ อาจมีดังนี้

    • เป็นผู้หญิงอายุน้อยกว่า 25 ปี และเคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์
    • มีคู่นอนหลายคน
    • มีเพศสัมพันธ์หรือทำกิจกรรมทางเพศกับผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
    • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัย หรือแผ่นยางอนามัย
    • เคยเป็นโรคปีกมดลูกอักเสบ หรือเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เกิดจากปีกมดลูกอักเสบ

    ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่รักษาโรคปีกมดลูกอักเสบจนหายดีแล้วอาจตั้งครรภ์ได้โดยไม่เกิดปัญหาใด ๆ แต่โรคปีกมดลูกอักเสบอาจทำให้มีอาการปวดท้องน้อยนานหลายเดือนถึงหลายปี และอาจทำให้ท่อนำไข่เป็นแผลและแคบลง จนไข่จากรังไข่เคลื่อนที่ไปยังมดลูกได้ยากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) คือ ตัวอ่อนฝังตัวในท่อนำไข่แทนที่จะฝังในมดลูก

    1 ใน 10 ของผู้ที่เคยเป็นโรคปีกมดลูกอักเสบ พบว่า มีภาวะมีบุตรยาก โดยความเสี่ยงเหล่านี้จะยิ่งสูงขึ้น หากเป็นโรคปีกมดลูกอักเสบแล้วไม่เข้ารับการรักษา เข้ารับการรักษาช้า หรือเคยเป็นโรคปีกมดลูกอักเสบซ้ำ

    การป้องกันโรคปีกมดลูกอักเสบ

    วิธีเหล่านี้อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคปีกมดลูกอักเสบ

    • ป้องกันทุกครั้งที่ต้องมีเพศสัมพันธ์ ด้วยการสวมถุงยางอนามัย มีคู่นอนแค่คนเดียว ตรวจสอบประวัติกิจกรรมทางเพศของคู่นอนก่อนมีเพศสัมพันธ์
    • ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ เพราะหากรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้เร็ว ความเสี่ยงในการเกิดโรคปีกมดลูกอักเสบอาจลดลง
    • ให้คู่นอนไปตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากพบว่าตัวเองเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือโรคปีกมดลูกอักเสบ ควรให้คู่นอนไปตรวจโรคด้วย เพราะหากพบโรคจะได้รักษาทันท่วงที ทั้งยังช่วยป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 13/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา