backup og meta

ความดันโลหิตสูง วิตามินและแร่ธาตุ ชนิดใดที่ช่วยจัดการได้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 28/04/2021

    ความดันโลหิตสูง วิตามินและแร่ธาตุ ชนิดใดที่ช่วยจัดการได้

    การกินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุในปริมาณที่เหมาะสม สามารถช่วยลดและจัดการปัญหาสุขภาพต่างๆ ได้มากมาย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน รวมไปถึงภาวะความดันโลหิตสูงด้วย หากคุณมีปัญหา ความดันโลหิตสูง วิตามินและแร่ธาตุ ที่ส่งผลดีต่อความดันโลหิตตามธรรมชาตินั้นมีอะไรบ้าง เรามีคำตอบมาให้แล้ว

    ความดันโลหิตสูง วิตามินและแร่ธาตุ เหล่านี้ช่วยได้

    โพแทสเซียม

    หากร่างกายได้รับโพแทสเซียมในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยลดผลกระทบจากโซเดียม และช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างเป็นปกติ จึงส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง และป้องกันการเกิดตะคริวได้ ทั้งยังช่วยให้การนำไฟฟ้าของคลื่นไฟฟ้าหัวใจและระบบประสาทส่วนกลางทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติได้ด้วย

    ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ทั้งผู้หญิงและผู้ชายควรได้รับโพแทสเซียมในปริมาณ 4,700 มิลลิกรัมต่อวัน โพแทสเซียมสามารถพบได้ในมันฝรั่ง ลูกพรุน แอปริคอต เห็ด ถั่ว ส้ม ปลาทูน่า ปวยเล้ง มะเขือเทศ ลูกเกด เกรปฟรุต นมพร่องมันเนย โยเกิร์ต

    แมกนีเซียม

    แมกนีเซียมสามารถช่วยควบคุมความดันเลือดของคุณได้ แมกนีเซียมช่วยให้หลอดเลือดคลายตัว ความดันโลหิตจึงลดลง แมกนีเซียมในระดับสูงสามารถลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองได้ด้วย

    อาหารจำพวกผักใบเขียวเข้ม ธัญพืช และพืชตระกูลถั่ว อุดมไปด้วยแมกนีเซียม ปริมาณแมกนีเซียมที่แนะนำ คือ 420 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับผู้ชายอายุ 50 ปีหรือมากกว่า และ 320 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับผู้หญิงอายุ 50 ปีหรือมากกว่า อย่างไรก็ตาม แมกนีเซียมในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้

    แคลเซียม

    แคลเซียม สามารถช่วยให้ผนังหลอดเลือดหดและคลายในเวลาที่ต้องการ สิ่งนี้ช่วยควบคุมความดันโลหิตได้ แคลเซียมสามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นม เนยแข็ง ในผักใบเขียวเข้ม เช่น คะน้า ปวยเล้ง และในปลา เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน

    ปริมาณแคลเซียมที่แนะนำอยู่ระหว่าง 1,000 และ 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับผู้ชายอายุ 51 ปีหรือมากกว่า และ 1,200 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับผู้หญิงอายุ 51 ปีหรือมากกว่า

    วิตามินอี

    วิตามินอีเป็นวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน วิตามินอีสามารถพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น ธัญพืช เนื้อสัตว์ ไข่ ผลไม้ สัตว์ปีก ผัก น้ำมันพืช รวมไปถึงอาหารเสริมด้วย วิตามินอีสามารถคงอยู่ในร่างกายได้ จึงไม่ค่อยพบภาวะขาดวิตามินอี

    วิตามินอีสามารถใช้เพื่อรักษาความดันโลหิตสูงได้ เพราะส่งผลส่งผลต่อการผลิตไนตริกออกไซด์ ซึ่งช่วยให้หลอดเลือดคลายตัว จึงช่วยลดความดันโลหิตทั้งในขณะหัวใจบีบตัวและคลายตัว

    นอกจากนี้วิตามินอี ยังสามารถป้องกันภาวะหัวใจวาย อาการเจ็บหน้าอก โรคอัลไซเมอร์ ความผิดปกติเกี่ยวกับเลือด ปัญหาเกี่ยวกับไต ปัญหาเกี่ยวกับผิวหนัง และโรคพาร์กินสันได้ด้วย

    วิตามินซี

    วิตามินซีเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถผลิตวิตามินซีเองได้ แต่คุณสามารถรับวิตามินซีได้จากอาหารต่างๆ เช่น ผัก ผลไม้ อาหารเสริม อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า คุณควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซี แทนการรับประทานอาหารเสริม

    เชื่อกันว่า วิตามินซีสามารถรักษาหรือป้องกันอาการติดเชื้อ โรคซึมเศร้า ปัญหาเกี่ยวกับการคิด โรคอัลไซเมอร์ อาการอ่อนเพลีย โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะคอเลสเตอรอลสูง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความดันเลือดสูง เนื่องจากช่วยลดภาวะความเครียดจากการเกิดอนุมูลอิสระ และช่วยกระตุ้นผลของการผลิตไนตริกออกไซด์ ซึ่งช่วยลดความดันเลือดลงได้

    วิตามินดี

    วิตามินดีเป็นวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน พบได้ในปลาที่มีไขมัน เช่น ปลาทู ปลาทูน่า ในผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นม เนยแข็ง ในน้ำผลไม้และธัญพืชที่มีฉลากติดไว้ว่า “เสริมวิตามินดี’ รวมไปถึงจากแสงแดดด้วย

    วิตามินดีมีประโยชน์ต่อหลอดเลือดและภาวะโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคอ้วน เบาหวาน ภาวะไตล้มเหลว กล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคเกี่ยวกับฟันและเหงือก

    สิ่งที่คุณรับประทานสามารถส่งผลต่อสุขภาพของคุณได้เสมอ ดังคำกล่าวที่ว่า “กินอะไร ได้อย่างนั้น (You are what you eat)’ อาหารที่มีประโยชน์จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาระดับความดันโลหิตของคุณให้เหมาะสม

    ดังนั้นหากอยากให้ความดันปกติ หรือจัดการกับปัญหาความดันโลหิตสูง วิตามินและแร่ธาตุที่กล่าวไปข้างต้น คือ สิ่งที่คุณได้รับทุกวัน ไม่ควรขาด และควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม กับความต้องการของร่างกาย หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทานวิตามิน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องก่อนการรับประทาน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 28/04/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา