backup og meta

วิธีธรรมชาติแก้อาการอาหารไม่ย่อย ที่คุณสามารถทำเองได้ง่าย ๆ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย นบชุลี นวลอ่อน · แก้ไขล่าสุด 26/08/2020

    วิธีธรรมชาติแก้อาการอาหารไม่ย่อย ที่คุณสามารถทำเองได้ง่าย ๆ

    มีหลากหลายวิธีในการรักษาอาการอาหารไม่ย่อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ อาหารไม่ย่อยไม่ใช่ปัญหาร้ายแรงและสามารถรักษาได้ด้วยตัวเอง และบทความโดย Hello คุณหมอ นี้จะช่วยให้คุณสามารถสังเกตสัญญาณและอาการของโรคได้ พร้อมทั้งมี วิธีธรรมชาติแก้อาการอาหารไม่ย่อย มาฝากด้วย

    จะรู้ได้อย่างไรว่าอาหารไม่ย่อย

    อาหารไม่ย่อยหรือที่เรียกว่าอาการท้องอืด เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ที่พบได้ทั่วไปคือภาวะกรดไหลย้อน แผลในกระเพาะอาหาร มะเร็ง ความผิดปกติของตับอ่อนและท่อน้ำดี สัญญาณและอาการโดยทั่วไปของอาหารไม่ย่อย ได้แก่

  • รู้สึกอึดอัดระหว่างรับประทานอาหาร คุณอาจรู้สึกอึดอัดในขณะกำลังรับประทานอาหารและไม่สามารถรับประทานต่อไปได้
  • รู้สึกอิ่มและอึดอัดหลังรับประทานอาหารเสร็จ มีความรู้สึกอิ่มเป็นเวลานาน
  • แสบร้อนบริเวณเหนือกระเพาะอาหาร คุณอาจรู้สึกแสบร้อนเหนือบริเวณสะดือและใต้กระดูกหน้าอก
  • รู้สึกอึดอัดที่กระเพาะส่วนบน คุณอาจรู้สึกปวดเล็กน้อยจนถึงรุนแรงเหนือบริเวณสะดือและใต้กระดูกหน้าอก
  • คุณอาจมีอาการท้องอืด คลื่นไส้ และอาเจียน แต่ไม่บ่อยนัก อาหารเหล่านี้คล้ายคลึงกับการเกิดกรดไหลย้อนแต่ก็มีอาการบางอย่างที่แตกต่างกัน เมื่อเกิดกรดไหลย้อนคุณอาจรู้สึกปวดบริเวณทรวงอกและอาจลุกลามไปยังหลังและคอ ทั้งนี้ คุณอาจมีอาการอาหารไม่ย่อยและกรดไหลย้อนในเวลาเดียวกันได้

    วิธีธรรมชาติแก้อาการอาหารไม่ย่อย

    กินขิง

    หนึ่งใน วิธีธรรมชาติแก้อาการอาหารไม่ย่อย ที่รู้จักกันดีก็คือ การบริโภคขิง นั่นเอง ขิงเป็นที่รู้จักกันดีถึงสรรพคุณทางธรรมชาติในการรักษาโรคกระเพาะอาหาร อาการคลื่นไส้ และอาหารไม่ย่อย เมื่อคุณกินขิงจะช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำลายและช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น

    มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่า ขิงสามารถลดอาการบวม ลดระดับคอเรสเตอรอล และน้ำตาลในเลือดได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางท่านแนะว่าขิงอาจทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดในหญิงตั้งครรภ์ได้ ฉะนั้น หากคุณกำลังตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภคขิง

    เคี้ยวหมากฝรั่ง

    การเคี้ยวหมากฝรั่งช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำลายได้มากขึ้น หมากฝรั่งบางชนิดมีส่วนผสมของไซลิทอลซึ่งช่วยป้องกันฟันผุ นอกจากนี้ หมากฝรั่งรสมินต์ยังช่วยในการขจัดกลิ่นปาก หลังรับประทานอาหาร หากคุณไม่สามารถแปรงฟัน หรือทำความสะอาดช่องปากด้วยวิธีอื่นได้ การเคี้ยวหมากฝรั่งก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดีมาก

    หากคุณเผลอกลืนหมากฝรั่งลงไปก็ไม่ต้องตกใจ จริงอยู่ที่กระเพาะอาหารไม่สามารถย่อยหมากฝรั่งได้ แต่หมากฝรั่งจะเคลื่อนที่ไปตามทางเดินอาหารและถูกขับออกสู่ภายนอกร่างกายของคุณได้ อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าหมากฝรั่งอาจก่อให้เกิดการอุดตันในลำไส้หากคุณกลืนหมากฝรั่งลงไปในปริมาณมาก

    ดื่มน้ำว่านหางจระเข้

    ว่านหางจระเข้มีสรรพคุณต้านการอักเสบ นอกจากจะช่วยรักษาอาการทางผิวหนังได้แล้ว ยังดีต่อกระเพาะอาหารของคุณด้วย น้ำว่านหางจระเข้ช่วยลดการอักเสบในกระเพาะอาหารเนื่องจากอาการกรดไหลย้อนและโรคกรดไหลย้อน

    อย่างไรก็ตาม ว่านหางจระเข้ก็สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้ ผู้ที่มีอาการปวดท้องฉับพลันและรุนแรง ผู้ที่มีอาการไส้ติ่งอักเสบ โรคลำไส้อุดตัน อุจจาระแข็ง ผู้ป่วยโรคไต โรคตับ หรือผู้ที่มีอาการตับเป็นพิษ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานว่านหางจระเข้ เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาแพทย์ก่อนดื่มน้ำว่านหางจระเข้

    บริโภคเบคกิ้งโซดา

    หากคุณเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือกรดไหลย้อน เบคกิ้งโซดาก็เป็นอีกหนึ่งวิธีธรรมชาติแก้อาการอาหารไม่ย่อยที่คุณไม่ควรพลาด เพราะเบคกิ้งโซดามีฤทธิ์เป็นด่าง ช่วยรักษาสมดุลของกรดในกระเพาะอาหาร จึงบรรเทาอาการกรดไหลย้อน อาหารไม่ย่อยได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรรับประทานเบคกิ้งโซดามากเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

    กินคาโมมายล์

    คาโมมายล์ช่วยลดอาการผิดปกติของระบบย่อยอาหาร เช่น อาการจุกเสียด แก๊สในกระเพาะเยอะ ท้องร่วง ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน เนื่องจากมีสรรพคุณช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อเรียบ จึงทำให้อาการต่าง ๆ เหล่านี้ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ คาโมมายล์ยังช่วยให้สมองผ่อนคลายและช่วยบรรเทาอาการปวดในผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังได้ด้วย

    เปลี่ยนพฤติกรรมการนอน

    แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการนอนเล็กน้อย ก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยอาหารของคุณได้มากเลยทีเดียว อย่าเอนตัวลงนอนทันทีหลังรับประทานอาหารเสร็จ ปล่อยให้แรงโน้มถ่วงของโลกได้ทำงานช่วยดึงกระเพาะอาหารเข้าสู่กระบวนการย่อย หากมีอาการกรดไหลย้อนในเวลากลางคืน ให้ใช้หมอนรองบริเวณคอของคุณให้สูงขึ้น หากไม่ได้ผลลองยกลำตัวส่วนบนให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันการเกิดกรดไหลย้อนในเวลากลางคืน

    หากสังเกตได้ว่าตัวเองมีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหารบางอย่าง ลองนำวิธีการดูแลตัวเองเหล่านี้ไปใช้ดู แต่ถ้าอาการอาหารไม่ย่อยไม่ทุเลาลง ก็ควรเข้ารับการรักษากับแพทย์จะดีที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย นบชุลี นวลอ่อน · แก้ไขล่าสุด 26/08/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา