backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย pimruethai · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome)

คำจำกัดความ

กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง คืออะไร

กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง หรือ Chronic Fatigue Syndrome : CFS คือ ความผิดปกติที่ซับซ้อนที่บ่งชี้ได้จากความเหนื่อยล้ารุนแรง ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ด้วยอาการอื่นๆ โดยความเหนื่อยล้าอ่อนเพลียนี้อาจทำให้กิจกรรมทางกายและจิตย่ำแย่ลง และคงอยู่เป็นระยะเวลานาน พักผ่อนแล้วก็ยังไม่หายไป ซึ่งจำกัดความสามารถในการทำกิจกรรมทั่วไปในชีวิตประจำวัน

กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง หรือสามารถอ้างอิงถึงในชื่อ อาการปวดกล้ามเนื้อเหตุสมองและไขสันหลังอักเสบ (Myalgic Encephalomyelitis : ME) หรือ Systemic exertion intolerance disease (SEID) ถึงแม้ว่า CFS และ ME และ SEID จะมีอาการร่วมกัน คือ อาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง แต่ก็มีความหลากหลายในนิยามของความผิดปกติ โดยอาการเหนื่อยล้าเรื้อรังนี้อาจเป็นผลจากหลายสาเหตุ

สาเหตุของกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด และมีทฤษฏีเกี่ยวกับสาเหตุของโรคนี้มากมาย ตั้งแต่การติดเชื้อไวรัส ไปจนถึงความเครียดทางจิตใจ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านเชื่อว่า กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรังนั้นเกิดจากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน

ในปัจจุบันยังไม่มีการวินิจฉัย เฉพาะสำหรับกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง คุณอาจต้องเข้ารับการตรวจทางการแพทย์หลายประเภทเพื่อค้นหาความผิดปกติอื่นๆที่มีอาการคล้ายคลึงกัน

กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรังพบได้บ่อยแค่ไหน

โดยทั่วไปกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยสามารถส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยในทุกช่วงอายุ แต่สามารถจัดการได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง

สัญญาณและอาการที่เกี่ยวข้องโดยทั่วไป มีดังนี้

  • ความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • การสูญเสียความทรงจำและสมาธิ
  • เจ็บคอ
  • ต่อมน้ำเหลือง บริเวณคอหรือใต้รักแร้โต
  • ปวดกล้ามเนื้อ แบบไม่ทราบสาเหตุ
  • ความเจ็บปวดย้ายจากข้อบริเวณหนึ่ง ไปยังข้ออีกบริเวณหนึ่งโดยไม่มีการบวมหรือแดง
  • ปวดศีรษะ
  • นอนไม่เต็มอิ่ม
  • อ่อนเพลียแบบรุนแรงเป็นเวลามากกว่า 24 ชั่วโมง หลังจากออกกำลังกายหรือใช้สมอง

อาการของกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ อาการของคุณอาจเป็นๆหายๆและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา บางครั้งอาการที่ดูท่าจะดีขึ้นแล้ว ก็สามารถแย่ลงได้ นอกจากนี้ ถึงแม้อาการจะหายไปหมดสิ้นแล้ว ก็ยังสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ ซึ่งทำให้จัดการได้ยากขึ้น

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

อาการเหนื่อยล้า สามารถเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงปัญหาสุขภาพต่างๆได้มากมาย เช่น การติดเชื้อ โรคทางจิตเวช หากคุณมีอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง อ่อนเพลียรุนแรง พักผ่อนแล้วไม่ดีขึ้น ควรไปพบคุณหมอทันที

หากคุณมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการใดๆ ตามที่ระบุข้างต้น หรือมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์ ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง

นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ของกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง  กลุ่มอาการนี้อาจเกิดจากหลายๆ ปัจจัยรวมกันซึ่งส่งผลต่อคนที่เกิดมาพร้อมกับแนวโน้มของความผิดปกติ

สาเหตุที่ถูกศึกษาแล้ว ได้แก่

  • การติดเชื้อไวรัส

เนื่องจากบางคนแสดงอาการของกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรังหลังจากติดเชื้อไวรัส นักวิจัยจึงตั้งคำถามว่าไวรัสอาจไปกระตุ้นความผิดปกตินี้หรือไม่

ไวรัสที่น่าสงสัยได้แก่ ไวรัสเอ็ปสไตน์ บาร์ (Epstein-Barr virus) ไวรัสฮิวแมนเฮอร์ปีส์ชนิดที่ 6 (human herpes virus 6) ไวรัสมะเร็งเม็ดเลือดขาวในหนู (mouse leukemia viruses) แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่พบความเชื่อมโยงใดๆ

  • ปัญหาของระบบภูมิคุ้มกัน

ผู้เชี่ยวชาญ พบความบกพร่องเล็กน้อย ในระบบภูมิคุ้มกันของผู้ที่มีอาการของกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าความบกพร่องนี้รุนแรงพอจะทำให้เกิดกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรังหรือไม่

บางครั้งผู้ที่มีอาการของกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรังก็มีระดับฮอร์โมนในเลือดที่ผิดปกติ เช่น ฮอร์โมนที่ผลิตจากไฮโปทาลามัส ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต แต่ความเชื่อมโยงก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง

ปัจจัยต่อไปนี้อาจเพิ่มความเสี่ยง ในการเกิดกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรังของคุณได้

  • อายุ กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรังสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่โดยปกติแล้ว จะพบมากในคนวัย 40 หรือ 50
  • เพศ จำนวนผู้ป่วยกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรังเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่ที่เป็นเช่นนี้ อาจเพราะว่า เวลาร่างกายผิดปกติ ผู้หญิงมักตัดสินใจเข้าพบคุณหมอมากกว่าผู้ชาย
  • ความเครียด ความเครียดที่จัดการได้ยาก อาจส่งผลให้เกิดกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรังได้

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง

การวินิจฉัยกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง อาจต้องใช้เวลานาน เพราะในปัจจุบันยังไม่มีการทดสอบทางการแพทย์ชนิดที่สามารถวินิจฉัยกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรังได้อย่างเฉพาะเจาะจง อีกทั้งอาการของกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง ยังคล้ายคลึงกับโรคอื่นๆ อีกมากมาย

แพทย์อาจต้องวินิจฉัยโรคหรือภาวะทางการแพทย์อื่นๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้นก่อน โดยโรคหรือภาวะเหล่านั้น ได้แก่

ความอ่อนเพลียเรื้อรังอาจเกิดจากความผิดปกติเกี่ยวกับการนอน งานศึกษาวิจัยเรื่องการนอนชิ้นหนึ่งพบว่า หากการนอนของคุณถูกรบกวนด้วยโรคหรือภาวะสุขภาพเกี่ยวกับการนอน เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข โรคนอนไม่หลับ

  • ปัญหาสุขภาพ

ความเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย เป็นอาการทั่วไปของปัญหาสุขภาพหลายต่างๆ หลายชนิด เช่น โรคโลหิตจาง โรคเบาหวาน ภาวะขาดไทรอยด์

  • ความบกพร่องของหัวใจและปอด

ปัญหาสุขภาพหัวใจหรือสุขภาพปอดอาจทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลียมากกว่าปกติได้ แต่คุณก็สามารถทดสอบประสิทธิภาพในการทำงานของหัวใจและปอดได้ ด้วยการตรวจสมรรถภาพของหัวใจ (Exercise Stress Test/EST หรือ Exercise Tolerance Test/ETT)

  • ปัญหาสุขภาพจิต

ความอ่อนเพลียที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคไบโพลาร์ โรคจิตเภท (Schizophrenia)

ในการวินิจฉัยว่าเข้าข่ายกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง หรืออาการปวดกล้ามเนื้อเหตุสมองและไขสันหลังอักเสบ ต้องมีอาการล้าแบบไม่มีสาเหตุ นานกว่า 6 เดือน ร่วมกับอาการดังต่อไปนี้

  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • การสูญเสียความทรงจำและสมาธิ
  • เจ็บคอ
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอหรือใต้รักแร้โต
  • ปวดกล้ามเนื้อแบบไม่ทราบสาเหตุ
  • ความเจ็บปวดย้ายจากข้อบริเวณหนึ่งไปยังข้ออีกบริเวณหนึ่งโดยไม่มีการบวมหรือแดง
  • ปวดศีรษะ
  • นอนไม่เต็มอิ่ม
  • อ่อนเพลียแบบรุนแรงเป็นเวลามากกว่า 24 ชั่วโมงหลังจากออกกำลังกาย หรือใช้สมอง

ในการวินิจฉัยว่าเข้าข่าย Systemic exertion intolerance disease (SEID) ต้องมีอาการดังต่อไปนี้

  • เหนื่อยล้าแบบไม่ทราบสาเหตุเป็นเวลานาน
  • เหนื่อยล้ารุนแรงมากกว่า 24 ชั่วโมงหลังจากการออกกำลังกาย หรือใช้สมอง
  • นอนไม่เต็มอิ่ม

และอีกสองอาการ ได้แก่

  • ความจำถดถอย
  • มึนและวิงเวียนศีรษะ

กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง มักเกิดร่วมกับความเจ็บป่วยอื่นๆ และมักไม่ใช่อาการที่แยกออกได้ชัดเจน ในกรณีนี้จะเรียกว่า “Chronic multifactorial fatigue”

การรักษากลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเฉพาะ สำหรับกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง อาการที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อแต่ละคนแตกต่างกันออกไป การรักษาที่ทำได้จึงมุ่งเน้นที่การบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น ด้วยการใช้ยาและการบำบัด

การใช้ยา

  • ยารักษาโรคซึมเศร้า

คนส่วนมากที่ประสบกับกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง มักมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย การรักษาอาการซึมเศร้าจึงเปรียบเสมือนการรักษากลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรังไปด้วยในตัว ก็เปรียบกับการรักษากลุ่มอาการความล้าเรื้อรังไปในตัว ขนาดยารักษาโรคซึมเศร้าแบบต่ำๆ สามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและทำให้การนอนหลับดีขึ้นได้

  • ยานอนหลับ
  • หากหลีกเลี่ยงการบริโภคคาเฟอีนแล้ว การนอนหลับยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจสั่งยานอนหลับให้รับประทาน

    การบำบัด

    การบำบัด เพื่อรักษากลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรังที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ กิจกรรมฝึกสมองแบบฝึกการคิดรู้ ร่วมกับการออกกำลังกายเป็นขั้นๆ

    • กิจกรรมฝึกสมองแบบฝึกการคิดรู้ (Cognitive training) 

    หรือการฝึกการทำงานของสมอง เป็นการฝึกสมองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสมองด้านต่างๆ เช่น การแก้ไขปัญหา ความจำ สมาธิ ช่วยให้คุณสามารถจัดการกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น โดยไม่ก่อให้เกิดกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง

    • การออกกำลังกายเป็นขั้นๆ (Graded exercise)

    นักกายภาพบำบัดจะใช้วิธีนี้เพื่อหาว่า คุณเหมาะสมกับการออกกำลังกายประเภทใดมากที่สุด สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวร่างกายน้อย อาจเริ่มจากการฟื้นฟูพิสัยการเคลื่อนไหว (Range of Motion) และการยืดกล้ามเนื้อวันละประมาณ 5 นาที จากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นในการออกกำลังกายขึ้นทีละนิด

    หากในวันถัดมา คุณรู้สึกอ่อนเพลียมาก แสดงว่าออกกำลังกายมากเกินไป วิธีนี้อาจช่วยลดภาวะภูมิไวเกินต่อการออกกำลังกายได้ ซึ่งถือว่าให้ผลเช่นเดียวกับการฉีดยารักษาภูมิแพ้ที่จะช่วยลดความไวต่อสารก่อภูมิแพ้ลงทีละนิด

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง

    แม้จะยังไม่มีวิธีรักษากลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรังให้หายขาด แต่การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองต่อไปนี้ อาจช่วยให้คุณรับมือกับกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรังได้ดีขึ้น

    • มีจังหวะของตัวเอง พยายามควบคุมให้กิจกรรมอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ควรหักโหมทำกิจกรรมต่างๆ มากเกินไป ในวันที่รู้สึกว่าร่างกาย หรือจิตใจไม่พร้อม
    • ลดความเครียด พยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ก่อความเครียด รวมถึงอย่าออกกำลังกายมากเกินไป เพราะก็สามารถส่งผลให้เครียดได้เช่นกัน โดยคุณสามารถลดความเครียดได้ด้วยการทำกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น ฟังเพลง นั่งสมาธิ
    • ฝึกวินัยในการนอน เข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา ลดการนอนหลับระหว่างวัน หลีกเลี่ยงคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และนิโคติน

    อาการของกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรังมักเกี่ยวข้องกับอารมณ์ และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน วิธีบำบัดแบบแพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม การนวด รวมถึงการเล่นโยคะและไทชิ ก็อาจช่วยให้อาการของคุณดีขึ้นได้

    หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย pimruethai · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา