backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary Hypertension)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 15/06/2021

ความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary Hypertension)

ความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary Hypertension) เป็นความดันโลหิตสูงประเภทหนึ่ง ที่ส่งผลต่อหลอดเลือดแดงในปอด และบริเวณด้านขวาของหัวใจ

คำจำกัดความ

ความดันหลอดเลือดปอดสูง คืออะไร

ความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary Hypertension) คือ ประเภทหนึ่งของความดันโลหิตสูง ที่ส่งผลต่อหลอดเลือดแดงในปอด และบริเวณด้านขวาของหัวใจ ที่เกิดจากหลอดเลือดแดงฝอยในปอด (Pulmonary Arterioles) และหลอดเลือดฝอย (Capillary) จะแคบลง อุดตัน หรือถูกทำลาย ทำให้เลือดไหลเวียนเข้าสู่ปอดได้ยากขึ้น จนในที่สุดอาจระดับความดันเพิ่มขึ้น รวมถึงห้องหัวใจด้านขวาล่าง (Right Ventricle) ทำงานอย่างหนักทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอและล้มเหลว

ความดันหลอดเลือดปอดสูงบางชนิด อาจมีสภาวะรุนแรงที่จะแย่ลงเรื่อย ๆ และอาจถึงขั้นเสียชีวิต แม้ความดันหลอดเลือดปอดสูงบางรูปแบบ อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็มีการบำบัดเพื่อบรรเทาอาการ และเพิ่มคุณภาพชีวิตได้

พบได้บ่อยได้แค่ไหน

ความดันหลอดเลือดปอดสูงสามารถเกิดได้กับผู้ป่วยทุกช่วงวัย สามารถจัดการได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดปรึกษากับแพทย์

อาการ

อาการของ ความดันหลอดเลือดปอดสูง

อาการทั่วไปของความดันหลอดเลือดปอดสูง มีดังต่อนี้

  • หายใจไม่ทั่วท้อง (Dyspnea) ในตอนแรกจะเริ่มจากขณะออกกำลังกาย แล้วสุดท้ายก็จะเป็นในช่วงเวลาพัก
  • เหนื่อยล้า 
  • เวียนหัวหรือเป็นลมบ่อย หรือเป็นโรควูบ (Syncope)
  • มีแรงดันที่หน้าอกหรืออาการปวด
  • บวมน้ำ (Edema) ที่บริเวณข้อเท้า ขา และสุดท้ายในช่องท้อง เป็นอาการท้องบวม (Ascites)
  • ริมฝีปากและผิวหนังเป็นสีเขียวคล้ำ (Cyanosis)
  • ชีพจรเต้นเร็ว หรือใจสั่น (Heart palpitations)

สัญญาณและอาการของความดันหลอดเลือดปอดสูงในระยะแรก อาจไม่สามารถสังเกตเห็นได้เป็นเวลาหลายเดือน หรือหลายปี เมื่อโรคนี้เป็นมากขึ้น อาการก็จะแย่ลงเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตาม อาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใด ๆ โปรดปรึกษาหมอของคุณ

ควรไปพบหมอเมื่อไร

ถ้าคุณมีอาการใด ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น หรือมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษากับคุณหมอ เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดจึงควรพูดคุยกับหมอ เพื่อหาแนวทางในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของความดันหลอดเลือดปอดสูง

สาเหตุส่วนใหญ่ของความดันหลอดเลือดปอดสูง เกิดจากหัวใจห้องบน (Atria) และหัวใจห้องล่าง (Ventricles) โดยทุกครั้งที่เลือดไหลผ่านหัวใจไป หัวใจห้องล่างขวา (Right Ventricle) ก็จะปั๊มเลือดเข้าสู่ปอดผ่านหลอดเลือดแดงใหญ่ (Pulmonary Artery) ภายในปอด เลือดจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซน์ออก แล้วเก็บออกซิเจนไว้ เลือดที่มีออกซิเจนอยู่มาก จะไหลผ่านหลอดเลือดภายในปอด (หลอดเลือดแดงฝอยในปอด หลอดเลือดฝอย และหลอดเลือดดำ) เข้าสู่ด้านซ้ายของหัวใจ โดยปกติแล้ว เลือดจะไหลผ่านหลอดเลือดได้อย่างง่ายดาย ดังนั้น โดยปกติแล้วความดันโลหิตในปอดจะต่ำมาก

สำหรับความดันหลอดเลือดปอดสูง ค่าความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้นนั้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ ที่อยู่ในหลอดเลือดแดงที่ปอด การเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้ผนังหลอดเลือดแข้งและหนาขึ้น และอาจมีเนื้อเยื่อส่วนเกินก่อตัวขึ้น และหลอดเลือดอาจจะติดเชื้อและตึงขึ้นได้

ความเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดแดงในปอดนี้ อาจจะลดหรือขัดขวางการไหลเวียนของเลือดผ่านหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ยากขึ้น และเพิ่มระดับความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงในปอด

กลุ่มที่ 1 : ความดันหลอดเลือดแดงในปอดสูง (Pulmonary Arterial Hypertension)

  • ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด รู้จักกันในชื่อความดันหลอดเลือดแดงในปอดสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Pulmonary Arterial Hypertension)
  • การกลายพันธุ์บางชนิด สามารถทำให้เกิดความดันหลอดเลือดแดงในปอดสูงได้ภายในครอบครัว เรียกว่า “ความดันหลอดเลือดแดงในปอดสูง ที่สืบทอดทางพันธุกรรม (Heritable Pulmonary Arterial Hypertension)’
  • ยาบางชนิด เช่น ยาลดน้ำหนักตามใบสั่งยา หรือยาเสพติด เช่น เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamines) หรือยาพิษบางชนิด
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease)
  • สภาวะอื่น ๆ เช่น ความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน อย่าง โรคหนังแข็ง (Scleroderma) โรคลูปัส (Lupus) และอื่น ๆ การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคตับเรื้อรัง หรือตับแข็ง (Cirrhosis)  

กลุ่มที่ 2 : ความดันหลอดเลือดปอดสูงที่มีสาเหตุมาจากโรคหัวใจด้านซ้าย (Left-sided Heart Disease)

  • โรคลิ้นหัวใจด้านซ้าย (Left-sided Valvular Heart Disease) เช่น โรคลิ้นไมตรัล (Mitral Valve) หรือโรคลิ้นเอออร์ติก (Aortic Valve)
  • หัวใจห้องซ้ายล่าง (Left Ventricle) ล้มเหลว

กลุ่มที่ 3 : ความดันหลอดเลือดปอดสูงที่มีสาเหตุมาจากโรคปอด

กลุ่ม 4 : ความดันหลอดเลือดปอดสูงที่มีสาเหตุมาจากโรคลิ่มเลือดเรื้อรัง (chronic blood clots)

  • โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดเรื้อรัง (Pulmonary Embolism)

กลุ่ม 5 : ความดันหลอดเลือดปอดสูงที่เกี่ยวข้องกับสภาวะอื่น ที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่า ทำไมถึงเกิดความดันหลอดเลือดปอดสูง

  • ความผิดปกติของเลือด
  • ความผิดปกติที่ส่งผลกระทบกับอวัยวะหลายส่วนในร่างกาย เช่น โรคซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis)
  • โรคเกี่ยวกับระบบการเผาผลาญอาหาร (Metabolic Disorders) เช่นโรคเกี่ยวกับการเก็บรักษาไกลโคเจน (Glycogen Storage Disease)
  • เนื้องอกกดทับหลอดเลือดแดงในปอด

กลุ่มอาการไอเซนเมนเกอร์ (Eisenmenger Syndrome) และความดันหลอดเลือดปอดสูง

กลุ่มอาการไอเซนเมนเกอร์ คือชนิดหนึ่งของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ทำให้เกิดความดันหลอดเลือดปอดสูง มักมีสาเหตุมาจากรูขนาดใหญ่ในหัวใจ ระหว่างหัวใจห้องล่างทั้งสองห้อง เรียกว่า “โรคผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว (Ventricular Septal Defect)’

รูที่หัวใจทำให้เลือดไหลเวียนผิดปกติ เลือดที่นำพาออกซิเจน (Red Blood) ไปผสมกับเลือดที่มีออกซิเจนต่ำ (Blue Blood) ทำให้เลือดนั้นกลับไปสู่ปอด แทนที่จะไปสู่ส่วนอื่นในร่างกาย เพิ่มความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงที่ปอด และทำให้เกิดความดันหลอดเลือดปอดสูง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความดันหลอดเลือดปอดสูง

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดความดันหลอดเลือดปอดสูง มีดังนี้

  • คุณอยู่ในวัยหนุ่มสาว อาการความดันหลอดเลือดแดงในปอดสูงโดยไม่ทราบสาเหตุนั้น มักจะพบมากในผู้ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว
  • คุณมีภาวะน้ำหนักเกิน
  • คนในครอบครัวของคุณมีประวัติเป็นโรคนี้
  • คุณมีหนึ่งในสภาวะต่าง ๆ ที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความดันหลอดเลือดปอดสูง
  • คุณกำลังใช้ยาเสพติด เช่น โคเคน
  • คุณกำลังใช้ยาลดความอยากอาหารบางชนิด (Appetite-suppressant Medications)
  • คุณมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดความดันหลอดเลือดปอดสูง เช่น คนในครอบครัวมีอาการนี้ และคุณอาศัยอยู่ในพื้นที่สูง

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์ทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรคความดันหลอดเลือดปอดสูง

ความดันหลอดเลือดปอดสูงในช่วงระยะต้นนั้นยากต่อการวินิจฉัย เนื่องจาก มักจะไม่ตรวจพบจากการตรวจร่างกาย แม้ว่าอาการจะเริ่มรุนแรงขึ้น สัญญาณและอาการของโรคนี้จะคล้ายกับอาการของโรคหัวใจหรือโรคปอดอื่น ๆ

เพื่อวินิจฉัยโรค แพทย์อาจจะทำการซักประวัติการรักษาของคุณและคนในครอบครัว สอบถามเกี่ยวกับสัญญาณและอาการ และทำการตรวจร่างกาย แพทย์อาจสั่งให้ทำการทดสอบหลาย ๆ อย่าง เพื่อวินิจฉัยความดันหลอดเลือดปอดสูง บ่งชี้ความรุนแรงของโรค และหาสาเหตุของโรค การทดสอบอาจมีดังนี้

  • คลื่นเสียง ที่สามารถสร้างภาพเคลื่อนไหวของหัวใจเต้นได้ การตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) สามารถช่วยให้แพทย์ตรวจสอบขนาดและการทำงานของหัวใจห้องล่างขวา และความหนาของผนังหัวใจห้องล่างขวาได้ การตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง ยังสามารถแสดงให้เห็นการทำงานของห้องหัวใจและลิ้วหัวใจ แพทย์ยังอาจใช้วิธีนี้เพื่อวัดระดับความดันในหลอดเลือดแดงในปอด
  • เอ็กซเรย์หน้าอก การเอ็กซเรย์หน้าอกจะแสดงให้เห็นภาพของหัวใจ ปอด และหน้าอก การทดสอบนี้สามารถแสดงให้เห็นการขยายตัวของหัวใจห้องล่างขวาหรือหลอดเลือดแดงในปอด และยังสามารถใช้เพื่อบ่งชี้สภาวะอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นสาเหตุของความดันหลอดเลือดปอดสูง
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) การตรวจแบบไม่รุกล้ำร่างกายนี้ (Noninvasive Test) แสดงให้เห็นรูปแบบของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และสามารถตรวจจับจังหวะที่ผิดปกติ แพทย์อาจจะสามารถเห็นสัญญาณของการขยายตัวของหัวใจห้องล่างขวาหรือแรงตึง
  • การตรวจสวนหัวใจห้องขวา (Right Heart Catheterization) หลังจากที่คุณทำการการตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง หากแพทย์คิดว่า คุณมีอาการความดันหลอดเลือดปอดสูง คุณอาจจะต้องทำการตรวจสวนหัวใจห้องขวา การตรวจนี้จะช่วยยืนยันว่า คุณเป็นโรคนี้ และตรวจจับระดับความรุนแรงของโรค การตรวจสวนหัวใจห้องขวา จะทำให้แพทย์สามารถวัดระดับความดันในหลอดเลือดใหญ่ ที่ปอดและหัวใจห้องล่างขวาได้โดยตรง และยังใช้เพื่อดูประสิทธิภาพของยาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดกับอาการความดันหลอดเลือดปอดสูงของคุณ
  • การตรวจเลือด แพทย์อาจจะทำการตรวจเลือดเพื่อตรวจดูสารบางอย่าง ที่อาจจะปรากฏในเลือดของคุณ หากคุณมีอาการความดันหลอดเลือดปอดสูง หรืออาการแทรกซ้อนของโรค การตรวจเลือดยังสามารถตรวจดูสภาวะอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นสาเหตุของโรคนี้

แพทย์อาจสั่งให้ทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูสภาวะของปอด หรือหลอดเลือดแดงในปอด เพื่อบ่งชี้สาเหตุของอาการ ดังนี้คือ

  • การทำซีทีแสกน (Computerized Tomography) ทำซีทีแสกนสร้างเอกซเรย์ เพื่อสร้างภาพตัดขวางของร่างกาย แพทย์อาจทำการตรวจด้วยวิธีนี้ เพื่อดูขนาดและการทำงานของหัวใจ และเพื่อตรวจสอบลิ่มเลือดภายในหลอดเลือดแดงในปอด
  • การสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็กหรือเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging) อาจทำการตรวจด้วยวิธีนี้ เพื่อตรวจสอบการทำงานของหัวใจห้องล่างขวา และการไหลเวียดของเลือดภายในหลอดเลือดในปอด การทำเอ็มอาร์ไอใช้สนามแม่เหล็กและคลื่นพลังงานวิทยุ เพื่อสร้างภาพของร่างกาย
  • การตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Test) การตรวจแบบไม่รุกล้ำร่างกายนี้ ใช้วัดปริมาณของอากาศที่ปอดสามารถบรรจุได้ และการไหลเวียนของอากาศเข้าและออกจากปอดของคุณ ขณะที่ทำการตรวจนี้ คุณจะต้องเป่าเครื่องมือแบบง่าย ๆ ที่เรียกว่า “เครื่องสไปโรมิเตอร์ (Spirometer)’ 
  • การทดสอบที่ตรวจจับการทำงานของสมอง อัตราการเต้นของหัวใจ การไหลเวียนของเลือด ระดับออกซิเจน และปัจจัยอื่น ๆ ขณะที่คุณนอนหลับ และยังสามารถช่วยวินิจฉัยความผิดปกติของการนอนหลับได้ เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea)
  • การสแกนการไหลเวียนของอากาศ และการไหลเวียนของเลือดในปอด (V/Q Scan) ในการตรวจด้วยวิธีนี้จะฉีดตัวตรวจจับเข้าไปในหลอดเลือดดำที่แขน ตัวตรวจจับจะบ่งบอกถึงการไหลเวียนของโลหิต และอากาศที่ไปยังปอดของคุณ ทั้งยังสามารถบ่งชี้ว่า ลิ่มเลือดคือสาเหตุของอาการของความดันหลอดเลือดปอดสูงหรือไม่
  • การตัดชิ้นเนื้อปอด (Open-lung Biopsy) ในกรณีหายากแพทย์อาจแนะนำให้ทำการตัดชิ้นเนื้อปอด เป็นการผ่าตัดชนิดหนึ่งซึ่งจะนำเอาตัวอย่างเนื้อเยื่อในปอดออกไปในขณะให้ยาสลบ เพื่อตรวจสอบสาเหตุรองที่อาจจะเป็นไปได้ ที่จะทำให้เกิดอาการความดันหลอดเลือดปอดสูง

หากคนในครอบครัวของคุณ มีอาการความดันหลอดเลือดปอดสูง แพทย์อาจทำการตรวจหายีนที่เกี่ยวข้องกับอาการความดันหลอดเลือดปอดสูง หากผลการตรวจเป็นบวก แพทย์อาจจะต้องแนะนำให้คนอื่นในครอบครัวมาตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีนแบบดียวกัน

เมื่อคุณได้รับการวินิจฉัยว่า มีอาการความดันหลอดเลือดปอดสูง แพทย์อาจจะแบ่งความรุนแรงของโรคนี้ตามประเภทของความรุนแรง ดังนี้

  • ประเภท I แม้ว่าคุณจะได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นความดันหลอดเลือดปอดสูง แต่คุณก็ยังไม่มีอาการอะไร และยังทำกิจกรรมได้เป็นปกติ
  • ประเภท II คุณไม่มีอาการขณะพักผ่อน แต่คุณจะมีอาการบางอย่าง เช่น เหนื่อยล้า หายใจไม่ทั่วท้อง หรือปวดหน้าอก และยังทำกิจกรรมได้เป็นปกติ
  • ประเภท III คุณจะรู้สึกสบายเมื่อพักผ่อน แต่จะมีอาการเมื่อคุณทำกิจกรรมทางกายภาพ
  • ประเภท IV คุณจะมีอาการตลอด ทั้งขณะทำกิจกรรมและพักผ่อน

การรักษาโรคความดันหลอดเลือดปอดสูง

ความดันหลอดเลือดปอดสูงไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่แพทย์อาจช่วยคุณจัดการกับโรคได้ การบำบัดนั้นจะช่วยให้อาการดีขึ้น และชะลอการพัฒนาของอาการความดันหลอดเลือดปอดสูง

อาจจะต้องใช้เวลาสักพัก เพื่อหาวิธีการบำบัดที่เหมาะสมกับอาการความดันหลอดเลือดปอดสูง การบำบัดนั้นอาจจะซับซ้อน และต้องการการติดตามผลอย่างยาวนาน แพทย์อาจจะต้องเปลี่ยนวิธีการบำบัด หากไม่ได้ผล

หากความดันหลอดเลือดปอดสูงเกิดจากสภาวะอื่น ๆ แพทย์จะรักษาต้นเหตุของโรคด้วยหากเป็นไปได้

การใช้ยา

  • ยาขยายหลอดเลือด (Vasodilators) ยาขยายหลออดเลือดจะเปิดหลอดเลือดที่แคบ หนึ่งในยาที่ใช้มากที่สุดทำหรับอาการความดันหลอดเลือดปอดสูง คือ ยาเอโพพรอสเตนอล (Epoprostenol) อย่าง ฟรอแลน (Flolan) หรือเวเลทริ (Veletri) ฉีดยาตัวนี้เข้าหลอดเลือดดำเป็นประจำ โดยใช้เครื่องปั๊มขนาดเล็ก ที่ใส่ในกระเป๋าบนเข็มขัดหรือบนหลัง ยาอีกตัวคือยาไอโลพรอส (Iloprost) อย่าง เวนทาวิส (Ventavis) สามารถสูดได้ 6-9 ครั้งต่อวัน ผ่านทางเครื่องพ่นยาแบบฝอยละออง (Nebulizer) เนื่องจาก การสูดยาทำให้ยาสามารถเข้าสู่ปอดได้โดยตรง ยาอีกแบบหนึ่ง คือ ยาทรีพรอสทินิล (Treprostinil) อย่าง ไทเวโซ (Tyvaso) หรือเรมอดูลิน (Remodulin) หรือออเรนิแทรม (Orenitram) สามารถให้ได้ 4 ครั้งต่อวัน สามารถสูดยา รับประทาน หรือฉีดเข้าร่างกายได้
  • เอนโดทีลิน รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Endothelin Receptor Antagonists) ยานี้จะย้อนกลับผลของเอนโดทีลิน (Endothelin) สารที่อยู่ในผนังหลอดเลือด ที่ทำให้หลอดเลือดแคบลง ยานี้อาจจะช่วยเพิ่มระดับพลังงาน และทำให้อาการดีขึ้น แต่ไม่ควรรับประทานยานี้ หากคุณกำลังตั้งครรภ์ และยานี้ยังสามารถสร้างความเสียหายให้แก่ตับ ทำให้ต้องตรวจตับทุกเดือน มียาดังนี้คือ ยาโบเซนแทน (bosentan) อย่าง แทคลีเออร์ (Tracleer) ยามาคซิเทนทัน (Macitentan) อย่าง อ็อพซูมิต (Opsumit) และยาแอมบริเซนทัน (Ambrisentan) อย่าง เลทาริส (Letairis)
  • ยาซิลเดนาฟิล (Sildenafil) และยาทาดาลาฟิล (Tadalafil) ยาซิลเดนาฟิลอย่าง เรวิติโอ (Revatio) หรือไวอากรา (Viagra) และยาทาดาลาฟิล อย่าง เซียลิส (Cialis) หรือแอดเซอร์กา (Adcirca) ในบางครั้งอาจใช้เพื่อรักษาความดันหลอดเลือดปอดสูง ยาเหล่านี้ทำงานโดยการเปิดหลอดเลือดในปอด และทำให้เลือดไหลเวียนได้ง่ายขึ้น
  • ยากลุ่มแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ขนาดแรง (High-dose Calcium Channel Blockers) ยานี้จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อผนังหลอดเลือด มียาดังนี้ คือ ยาแอมโลดิปีน (amlodipine) อย่าง นอร์แวสค์ (Norvasc) ยาดิลไทอะเซม (diltiazem) อย่าง คาร์ดิเซม (Cardizem) เทียแซค (Tiazac) และอื่น ๆ และยา (nifedipine) อย่าง โพรคาร์เดีย (Procardia) และอื่น ๆ แม้ว่ายากลุ่มแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ อาจจะมีประสิทธิภาพ มีผู้ป่วยความดันหลอดเลือดปอดสูงแค่จำนวนน้อยเท่านั้น ที่ตอบสนองต่อยานี้
  • เครื่องกระตุ้นไฟฟ้ายากัวอะนิลเลทไซเคลสแบบละลายน้ำได้ (Soluble Guanylate Cyclase) เครื่องกระตุ้นไฟฟ้ายากัวอะนิลเลทไซเคลสแบบละลายน้ำได้อย่าง อะเดมเพส (Adempas) จะทำปฏิกิริยากับไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) และช่วยผ่อนคลายความดันหลอดเลือดปอดสูง และลดความดันโลหิตในหลอดเลือดแดง
  • แพทย์อาจจะสั่งให้ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant) คือ ยาวาฟาริน (Warfarin) อย่าง คูมาดิน® (Coumadin®) หรือแจนโทเวน (Jantoven) เพื่อป้องกันการก่อตัวของลิ่มเลือดภายในหลอดเลือดแดงฝอยในปอด เนื่องจากยานี้จะป้องกันการแข็งตัวของเลือดตามปกติ ทำให้เสี่ยงต่อการมีอาการแทรกซ้อนเลือดออก รับประทานยาวาฟารินตามที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เพราะยานี้สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง หากคุณกำลังใช้ยาวาฟาริน แพทย์อาจจะทำการตรวจเลือดเป็นระยะ ๆ เพื่อตรวจดูการทำงานของยา ยา อาหารเสริมสมุนไพร และอาหารอื่นๆ มากมาย สามารถทำปฏิกิริยากับยาวาฟารินได้ จึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง
  • ยาไดจอกซิน (Digoxin) อย่าง เลนอกซ์ซิน (Lanoxin) สามารถช่วยให้หัวใจเต้นได้แรงขึ้น และปั๊มเลือดได้มากขึ้น และยังสามารถช่วยในการควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ หากคุณมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia)
  • ยาที่รู้จักกันทั่วไปว่ายาขับน้ำ (Water Pills) ยานี้จะกำจัดของเหลวส่วนเกินในร่างกาย ทำให้ลดปริมาณของงานที่หัวใจต้องทำ และยังช่วยจำกัดการสะสมของของเหลวภายในปอดด้วย
  • แพทย์อาจจะแนะนำให้คุณสูดหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ เรียกว่า “การบำบัดด้วยออกซิเจน (Oxygen Therapy)’ เพื่อช่วยรักษาความดันหลอดเลือดปอดสูง หากคุณอาศัยอยู่ในพื้นที่สูงหรือมีอาการหยุดหายใจขณะนอนหลับ บางคนที่มีอาการความดันหลอดเลือดปอดสูง อาจจะต้องทำการบำบัดด้วยออกซิเจนอย่างต่อเนื่อง

การผ่าตัด

  • การเจาะหรือตัดผนังกั้นห้องหัวใจห้องบน (Atrial Septostomy) หากยาไม่สามารถควบคุมอาการความดันหลอดเลือดปอดสูงได้ การผ่าตัดเปิดหัวใจนี้อาจจะเป็นหนึ่งในทางเลือก การผ่าตัดนี้แพทย์จะทำการเปิดช่องระหว่างห้องหัวใจด้านบนข้างขวาและซ้าย (Atria) เพื่อลดความดันบริเวณหัวใจด้านขวา การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ สามารถทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ รวมไปถึงอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia)
  • ในบางกรณี การปลูกถ่ายหัวใจหรือปอดอาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่อายุน้อย และมีอาการความดันหลอดเลือดปอดสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ ความเสี่ยงหลักของการปลูกถ่ายอวัยวะนี้ รวมถึงการต่อต้านอวัยวะที่ปลูกถ่ายมา และการติดเชื้อที่รุนแรง และคุณยังจำเป็นต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต เพื่อช่วยลดโอกาสในการเกิดการต่อต้าน

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาตนเองที่จะช่วยรับมือกับความดันหลอดเลือดปอดสูง

ลักษณะไลฟ์สไตล์และการเยียวยาด้วยตนเองต่อไปนี้ อาจจะช่วยรับมือกับอาการของคุณได้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนสามารถช่วยลดอาการเหนื่อยล้า ที่อาจมาจากความดันหลอดเลือดปอดสูง
  • พยายามกระฉับกระเฉงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้แต่การทำกิจกรรมที่เบาที่สุด ก็สามารถทำให้รู้สึกเหนื่อยเกินไปได้ หากกคุณมีอาการความดันหลอดเลือดปอดสูง สำหรับผู้อื่น การออกกำลังกายระดับปานกลาง อย่าง การเดิน อาจจะเป็นประโยชน์ได้โ ดยเฉพาะหากทำร่วมกับใช้ออกซิเจน แต่คุณควรปรึกษากับแพทย์ เกี่ยวกับข้อจำกัดการออกกำลังกายโดยเฉพาะ กรณีส่วนใหญ่จะแนะนำไม่ให้คุณยกน้ำหนัก แพทย์อาจจะช่วยคุณวางแผนโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมให้ได้
  • อย่าสูบบุหรี่ หากคุณสูบบุหรี่ สิ่งสำคัญที่คุณสามารถทำเพื่อหัวใจและปอดของคุณได้ คือหยุดสูบเสีย หากคุณไม่สามารถเลิกบุหรี่ด้วยตัวเองได้ ควรขอให้แพทย์กำหนดแผนการบำบัด เพื่อช่วยให้คุณเลิกบุหรี่ และควรหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง หากเป็นไปได้
  • หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์และยาคุมกำเนิด หาคุณเป็นผู้หญิงในช่วงวัยเจริญพันธุ์ หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์สามารถเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ทั้งกับคุณและลูก และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิดที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือด ปรึกษากับแพทย์ถึงวิธีอื่นในการคุมกำเนิด หากคุณตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาการความดันหลอดเลือดปอดสูง สามารถทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงทั้งคุณและลูก
  • หลีกเลี่ยงการเดินทางไปหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่สูง พื้นที่สูงสามารถทำให้อาการของคุณแย่ลงได้ หากคุณอาศัยอยุ่ในพื้นที่ที่สูง 8,000 ฟุต (2,438 เมตร) หรือสูงกว่านั้น แพทย์อาจจะแนะนำให้คุณย้ายมาอยู่ในพื้นที่ต่ำกว่า
  • หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจจะลดระดับความดันโลหิตคุณอย่างมาก มีทั้งการแช่อ่างน้ำร้อน หรือห้องซาวน่า หรืออาบน้ำด้วยน้ำร้อน การกระทำเหล่านี้สามารถลดระดับความดันโลหิตของคุณ และทำให้คุณหมดสติหรือเสียชีวิตได้ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องมีการเกร็งเป็นเวลานาน อย่าง ยกของหนักหรือยกน้ำหนัก
  • รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และรักษาน้ำหนักที่ดีต่อสุขภาพ มุ่งเน้นในการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อย่าง ธัญพืช ผักและผลไม้นานาชนิด เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน และผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัวไขมันทรานส์และคอเลสเตอรอล แพทย์มักจะแนะนำให้จำกัดปริมาณของเกลือในอาหาร และมุ่งเน้นในการรักษาระดับของน้ำหนักที่ดีต่อสุขภาพ
  • สอบถามแพทย์เกี่ยวกับยา ใช้ยาทั้งหมดตามกำหนด และสอบถามเกี่ยวกับยาอื่น ๆ ก่อนจะใช้ยา เนื่องจากมันอาจส่งผลกระทบต่อยาของคุณหรือทำให้อาการของคุณแย่ลง
  • ไปหาแพทย์ตามนัด แพทย์อาจจะแนะนำให้มาหาแพทย์เป็นประจำ หากคุณมีคำถามใดๆ  เกี่ยวกับโรค หรือยาที่กำลังใช้อยู่ หรือหากคุณมีอาการหรือผลข้างเคียงใด ๆ ควรแจ้งแพทย์ทราบ หากอาการความดันหลอดเลือดปอดสูง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคุณ สอบถามแพทย์เกี่ยวกับทางเลือก หรือวิธีที่จะช่วยพัฒนาระดับคุณภาพชีวิตของคุณ
  • รับวัคซีน แพทย์อาจจะแนะนำให้คุณรับวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวม เนื่องจากอาการเหล่านี้สามารถทำให้เกิดอาการที่ร้ายแรงสำหรับผู้ที่มีอาการความดันหลอดเลือดปอดสูงได้
  • รับการช่วยเหลือ หากคุณรู้สึกเครียด หรือเป็นกังวลเกี่ยวกับอาการของคุณ รับการช่วยเหลือจากคนในครอบครัวหรือเพื่อนของคุณ หรือพิจารณาเข้ากลุ่มสนับสนุนกับผู้อื่น ที่มีอาการความดันหลอดเลือดปอดสูงด้วยเช่นกัน

หากคุณมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำความเข้าใจให้ดีขึ้น ถึงทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 15/06/2021

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา