backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)

คำจำกัดความ

การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ คืออะไร

การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection หรือ UTI) เกิดขึ้นเมื่อมีเชื้อแบคทีเรียในอวัยวะใดๆ ของทางเดินปัสสาวะ ทางเดินปัสสาวะหมายรวมถึงอวัยวะในการสร้าง เก็บรักษา และขับถ่ายปัสสาวะ ซึ่งได้แก่ ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะมักมีการติดเชื้อมากที่สุด

การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะพบได้บ่อยแค่ไหน

โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่ผู้หญิงมีอัตราการเกิดโรคนี้สูงกว่าผู้ชายเนื่องจากมีท่อปัสสาวะที่สั้นกว่า จึงติดเชื้อได้ง่ายกว่า

อาการ

อาการของการ ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

อาการทั่วไป ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย มีอาการเจ็บเวลาปัสสาวะ ไม่สามารถควบคุมปัสสาวะได้ ปัสสาวะขุ่นหรือมีกลิ่นเหม็น และมีหนองหรือเลือดในปัสสาวะ ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้หญิงจะรู้สึกเจ็บที่หัวหน่าว นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการอื่นๆ อีก ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ติดเชื้อ เช่น

  • หากไตติดเชื้อ ผู้ป่วยอาจมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ตัวสั่น หรือปวดหลัง
  • หากกระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ ผู้ป่วยจะรู้สึกถึงแรงกดบริเวณด้านหน้าเชิงกราน (ช่องท้องส่วนล่าง) ปัสสาวะบ่อย และปัสสาวะมีเลือดปน
  • หากท่อปัสสาวะติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บเมื่อปัสสาวะ หรือมีสารคัดหลั่งออกจากท่อปัสสาวะ

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการนอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ โปรดปรึกษาคุณหมอ

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากคุณสังเกตได้ถึงอาการใดๆ ที่ระบุไว้ข้างต้น โดยเฉพาะเวลาปัสสาวะ คุณควรไปพบคุณหมอ หากคุณยังคงมีไข้ในเวลา 48 ชั่วโมงหลังจากใช้ยาปฏิชีวนะ หรือมีอาการเป็นซ้ำหลังจากใช้ยา ควรไปพบคุณหมอทันที

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

สาเหตุที่พบได้มากที่สุดคือแบคทีเรียเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) หรืออีโคไล (E.coli) ซึ่งพบได้ในลำไส้ แต่ก็สามารถเกิดจากแบคทีเรียชนิดอื่นๆ ได้เช่นกัน เชื้ออีโคไลที่อยู่บนผิวหนังหรืออยู่ใกล้ทวารหนัก จะเข้าไปในทางเดินปัสสาวะและแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ผู้หญิงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะและทวารหนักอยู่ใกล้กันมากกว่า

การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ สามารถเกิดจากแบคทีเรียที่แพร่กระจายเข้าไปในทางเดินปัสสาวะผ่านทางสายสวนที่ใช้ในการรักษาทางการแพทย์ หรือเมื่อมีก้อนนิ่ว หรือมีความผิดปกติในการคลอดบุตร ที่ทำให้ทางเดินปัสสาวะอุดกั้น หรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงยังสามารถเกิดจากการติดเชื้อจากบริเวณอื่นๆ ไปยังไตได้ด้วย ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อไม่ติดต่อทางการสัมผัส แต่การมีเพศสัมพันธ์เมื่อติดเชื้อจะทำให้เจ็บปวด และเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของการ ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

ปัจจัยเสี่ยงโรคนี้มีหลายประการ ได้แก่

  • เพศ : ท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่าของผู้ชาย แบคทีเรียจึงเดินทางไปยังกระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า และทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าผู้ชาย
  • การมีเพศสัมพันธ์ : เพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  • การคุมกำเนิด : ผู้หญิงที่ใช้แผ่นครอบปากมดลูก (diaphragm) หรือยาฆ่าเชื้ออสุจิ (spermicide) มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงกว่า
  • วัยหมดประจำเดือน : ภาวะหลังหมดประจำเดือนและพร่องฮอร์โมนเอสโตรเจนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางเดินปัสสาวะ ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  • ท่อปัสสาวะผิดปกติ : ทารกที่มีท่อปัสสาวะรูปร่างผิดปกติไม่สามารถขับถ่ายปัสสาวะได้ตามปกติ หรือมีปัสสาวะคั่งค้างในท่อปัสสาวะซึ่งทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น
  • มีภาวะปัสสาวะอุดกั้น : ก้อนนิ่วหรือต่อมลูกหมากโตทำให้เกิดปัสสาวะคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะ
  • มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ : เบาหวานและภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อในการเกิดโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
  • ใช้สายสวนปัสสาวะ : เกิดขึ้นในผู้ที่ไม่สามารถปัสสาวะได้เอง และต้องใช้สายสวนในการปัสสาวะ อาจเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบประสาทที่ไม่สามารถควบคุมการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะและผู้ป่วยอัมพาต

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรค ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

แพทย์จะตรวจปัสสาวะ (urinalysis total) ซึ่งตัวอย่างปัสสาวะที่นำมาตรวจไม่ควรติดเชื้อที่ภายนอก เพื่อให้ได้ตัวอย่างปัสสาวะที่ถูกต้อง ผู้ป่วยไม่ควรเก็บปัสสาวะตั้งแต่เริ่มขับถ่าย แต่ควรถ่ายปัสสาวะช่วงแรกทิ้งก่อน ในบางครั้งการตรวจปัสสาวะสัมพันธ์กับ urine implantation ซึ่งเป็นการทดสอบที่ใช้ตัวอย่างปัสสาวะสำหรับการเพาะเชื้อแบคทีเรียในห้องปฏิบัติการ การทดสอบนี้จะทำให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับชนิดของแบคทีเรียที่ทำให้ท่อปัสสาวะติดเชื้อ และกำหนดการใช้ยาที่ให้ผลการรักษาดีที่สุด

หากแพทย์สงสัยว่าอาการผิดปกติเกี่ยวกับท่อปัสสาวะทำให้เกิดโรคซ้ำ คุณจะต้องเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ หรือการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้ภาพถ่ายร่างกายที่ชัดมากขึ้น ในบางกรณี แพทย์จะใช้สีที่ต่างกันเพื่อระบุโครงสร้างของระบบทางเดินปัสสาวะ และอาจต้องตรวจกรวยไตอักเสบ (pyelonephritis) ทางเส้นเลือด

หากคุณทรมานจากภาวะท่อปัสสาวะติดเชื้อที่กลับมาเป็นซ้ำ แพทย์จะใช้หลอดยาวและบางที่ติดตั้งหลอดไฟเอาไว้ ส่องเข้าไปภายในท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ เพื่อให้ตรวจวินิจฉัยอาการได้ง่ายขึ้น

การรักษาโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

ผู้ป่วยมักใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 3-10 วัน ให้ดื่มน้ำเพื่อช่วยขับปัสสาวะ นอกจากนี้ ให้ดื่มน้ำผลไม้และรับประทานวิตามินซีเพื่อเพิ่มกรดในปัสสาวะซึ่งจะเป็นประโยชน์ และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน แพทย์จะสั่งยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บในขณะปัสสาวะ เช่น ยาฟีนาโซไพริดีน (Phenazopyridine) ยานี้จะเปลี่ยนสีของปัสสาวะ และหากจำเป็น แพทย์อาจสั่งให้ใช้ยาบรรเทาปวด เช่น ยาอะเซตามิโนเฟน (acetaminophen) ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ผู้ป่วยสามารถแช่น้ำอุ่นเพื่อบรรเทาอาการปวดได้ ควรพักผ่อนให้เพียงพอจนกว่าอาการไข้และอาการเจ็บบรรเทาลง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือกับการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณรับมือกับการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

  • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว โดยคุณสามารถดื่มน้ำเปล่า หรือน้ำผลไม้ก็ได้
  • ควรรักษาความสะอาดให้ถูกสุขอนามัย เวลาเข้าห้องน้ำ ผู้หญิงต้องเช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง ให้หลีกเลี่ยงการฉีดหรือพ่นน้ำเข้าไปในช่องคลอด ควรอาบน้ำฝักบัวแทนการแช่น้ำ เลือกสวมชุดชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย และหลีกเลี่ยงการสวมใส่กางเกงที่คับแน่น
  • ลดความเสี่ยงติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยผู้หญิงควรปัสสาวะและทำความสะอาดก่อนและหลังการมีเพศสัมพันธ์ ให้หลีกเลี่ยงการใช้แผ่นครอบปากมดลูก หรือยาฆ่าเชื้ออสุจิ
  • หากปวดปัสสาวะต้องขับถ่ายปัสสาวะออกให้หมด อย่าอั้นหรือกลั้นปัสสาวะ
  • ให้แจ้งแพทย์ทราบหากคุณใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาปฏิชีวนะบางชนิดสามารถทำปฏิกิริยากับยาเม็ดคุมกำเนิดได้
  • หากคุณมีอาการท่อปัสสาวะติดเชื้อ แพทย์อาจสั่งให้ใช้ยาปฏิชีวนะ ให้ใช้ยาปฏิชีวนะจนกว่าอาการจะหายขาด

หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา