backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment disorder)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 23/09/2020

ภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment disorder)

ภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment disorder) หรือที่มักเรียกกันว่า โรคเครียด เป็นภาวะสุขภาพที่เกิดขึ้นหลังจากต้องเผชิญความกดดัน ทำให้เกิดความเครียดสะสมหรือเครียดจัด และไม่สามารถตอบสนอง หรือปรับตัวได้อย่างเหมาะสม

คำจำกัดความ

ภาวะการปรับตัวผิดปกติ คืออะไร

ภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment disorder) หรือที่มักเรียกกันว่า โรคเครียด เป็นภาวะสุขภาพที่เกิดขึ้นหลังจากต้องเผชิญความกดดัน ทำให้เกิดความเครียดสะสมหรือเครียดจัด และไม่สามารถตอบสนอง หรือปรับตัวได้อย่างเหมาะสม จนส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงาน การเรียน ความสัมพันธ์ หรือการเข้าสังคม

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต เช่น คนที่คุณรักเสียชีวิต มีปัญหาด้านความรัก ถูกไล่ออกจากงาน มักทำให้เรารู้สึกเครียดจัด แต่โดยทั่วไปแล้ว คนเรามักปรับตัวได้ภายใน 2-3 เดือนหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ผู้ที่มีภาวะการปรับตัวผิดปกติ มักจะทำใจ ยอมรับ หรือปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้ ร่างกายและจิตใจตอบสนองต่อสถานการณ์นั้น ๆ ในแง่ลบ จนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม คุณไม่จำเป็นต้องเผชิญกับภาวะนี้เพียงลำพัง เพราะยังมีวิธีการรักษาที่ใช้เวลาไม่นาน ที่จะช่วยให้คุณสามารถกลับคืนสู่สภาวะปกติได้อีกครั้ง

ภาวะการปรับตัวผิดปกติ พบได้บ่อยแค่ไหน

ภาวะการปรับตัวผิดปกติ สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่อาจพบได้บ่อยในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต อย่างช่วงวัยรุ่น ช่วงวัยกลางคน ช่วงบั้นปลายชีวิต โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของ ภาวะการปรับตัวผิดปกติ

อาการของภาวะการปรับตัวผิดปกติขึ้นอยู่กับประเภทของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล โดยทั่วไปแล้วภาวะการปรับตัวผิดปกติจะส่งผลต่อความรู้สึกและความคิดที่คุณมีต่อตัวเองและสังคม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความคิด พฤติกรรม และการกระทำดังต่อไปนี้

  • รู้สึกเศร้า เสียใจ สิ้นหวัง ไม่สนุกกับสิ่งที่เคยชอบ
  • ร้องไห้บ่อย
  • วิตกกังวล ตื่นตระหนก กระวนกระวาย สับสน หรือเครียดจัด
  • มีปัญหาในการนอนหลับ
  • กล้ามเนื้อกระตุกหรือสั่น
  • เจ็บปวดตามร่างกาย
  • ไม่อยากอาหาร
  • ไม่มีสมาธิ
  • รู้สึกกดดัน จนเกินจะทนไหว
  • มีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน
  • ปลีกตัวออกจากสังคม
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือกิจวัตรที่สำคัญ เช่น การไปทำงาน การจ่ายบิล
  • มีความคิด หรือพฤติกรรมฆ่าตัวตาย

ผู้ป่วยมักมีอาการของภาวะปรับตัวผิดปกติภายในเวลา 3 เดือนหลังเกิดเหตุการณ์หรือแรงกดดัน และปกติภาวะนี้จะหายไปเองภายในเวลา 6 เดือน แต่ในบางกรณี ผู้ป่วยก็อาจมีภาวะดังกล่าวยาวนานเกิน 6 เดือน ได้ โดยเฉพาะเมื่อปัจจัยที่เป็นสาเหตุของแรงกดดันยังคงอยู่ เช่น ปัญหาการว่างงาน

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

ส่วนใหญ่แล้ว สาเหตุของภาวะการปรับตัวผิดปกติมักเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแค่ชั่วคราว เมื่อปัจจัยที่เป็นสาเหตุหายไป อาการก็มักจะดีขึ้นหรือหายเป็นปกติได้ แต่บางครั้ง เหตุการณ์ที่ทำให้คุณเกิดภาวะการปรับตัวผิดปกติก็อาจจะคงอยู่เป็นเวลานาน หรือมีเรื่องเครียดๆ เรื่องใหม่เกิดขึ้น จนทำให้คุณมีอาการของภาวะการปรับตัวผิดปกติต่อไปไม่จบสิ้น

หากคุณรู้สึกว่าการเผชิญกับเหตุการณ์สำคัญบางอย่าง ทำให้คุณใช้ชีวิตประจำวันต่อไปได้ยากลำบาก ควรปรึกษาแพทย์ และเข้ารับการบำบัดรักษาทันที เพราะการรักษาจะช่วยให้คุณรับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น และรู้สึกดีกับชีวิตมากขึ้นด้วย

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของภาวะการปรับตัวผิดปกติ

ภาวการณ์ปรับตัวผิดปกติเกิดจากการเปลี่ยนแปลง หรือเหตุการณ์ตึงเครียดครั้งใหญ่ในชีวิต โดยสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะนี้ ได้แก่

ปัจจัยกระตุ้นในผู้ใหญ่ เช่น

  • การตายของสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อน
  • ปัญหาความรัก ความสัมพันธ์ หรือการหย่าร้าง
  • การเจ็บป่วย หรือปัญหาสุขภาพของตัวคุณเองหรือคนใกล้ชิด
  • การย้ายบ้าน หรือย้ายงาน
  • ภัยธรรมชาติ
  • ปัญหาด้านการเงิน

ปัจจัยกระตุ้นในเด็กและวัยรุ่น เช่น

  • ปัญหาครอบครัว พ่อแม่ทะเลาะกัน
  • ปัญหาในโรงเรียน
  • ความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องเพศ

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะการปรับตัวผิดปกติ

หากคุณมีปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ อาจทำให้คุณเสี่ยงเกิดภาวะการปรับตัวผิดปกติยิ่งขึ้น

สถานการณ์ตึงเครียดหรือกดดัน ทั้งสถานการณ์ที่ดีและไม่ดี เช่น

  • ปัญหาในการใช้ชีวิตคู่ หรือปัญหาการหย่าร้าง
  • ปัญหาความสัมพันธ์ หรือปัญหาความรัก
  • การเปลี่ยนแปลงในชีวิต เช่น การเกษียณอายุ การมีลูก การต้องแยกจากครอบครัวเพื่อไปเรียน หรือไปทำงาน
  • สถานการณ์เลวร้าย เช่น การตกงาน การสูญเสียคนที่รัก ปัญหาการเงิน
  • ปัญหาการเรียน หรือการทำงาน
  • ประสบการณ์เฉียดตาย เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ประสบภัยพิบัติ
  • ความเครียดที่ต้องเผชิญมายาวนาน เช่น ปัญหาสุขภาพ การอาศัยอยู่ในละแวกที่ไม่ปลอดภัย

ประสบการณ์ชีวิต เช่น

  • การต้องเผชิญเรื่องตึงเครียดในวัยเด็ก
  • ปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ
  • เกิดเรื่องเครียดหรือกดดันหลายเรื่องพร้อมกัน
  • การไม่มีปัจจัยเสี่ยงไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่มีโอกาสเป็นโรคนี้ ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เป็นเพียงข้อมูลอ้างอิงเท่านั้น โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยและการรักษาโรค

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยภาวะการปรับตัวผิดปกติ

    แพทย์จะวินิจฉัยอาการ โดยยึดตามเกณฑ์ในการวินิจฉัยภาวะการปรับตัวผิดปกติ ดังนี้

    • มีอาการที่เกี่ยวข้องกับสภาวะทางจิตใจหรือพฤติกรรม ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนหลังหลังเกิดเหตุการณ์ตึงเครียด หรือเผชิญกับปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเครียด
    • คุณเครียดมากเกิดปกติ ซึ่งอาจเป็นการตอบสนองต่อปัจจัยกระตุ้นความเครียดบางอย่าง หรือความเครียดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์ การเรียน หรือการทำงาน
    • มีอาการเกิน 6 เดือน แม้จะไม่มีปัจจัยกระตุ้นแล้วก็ตาม
    • อาการที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นผลจากภาวะโรคอื่น ๆ

    การรักษาภาวะการปรับตัวผิดปกติ

    หากแพทย์วินิจฉัยว่าคุณมีภาวะการปรับตัวผิดปกติ แพทย์อาจให้คุณเข้ารับการรักษา ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

    การบำบัด

    การบำบัด (Therapy) เป็นวิธีการรักษาหลักของภาวะการปรับตัวผิดปกติ โดยคุณอาจต้องเข้ารับการบำบัดกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา โดยวิธีบำบัดที่นิยมใช้ในการรักษาภาวะการปรับตัวผิดปกติ ได้แก่

    การใช้ยา

    แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาบรรเทาอาการของภาวะการปรับตัวผิดปกติ เช่น อาการนอนไม่หลับ อาการซึมเศร้า อาการวิตกกังวล โดยยาที่นิยมใช้ ได้แก่

    • ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
    • ยาคลายกังวลกลุ่มน็อนเบ็นโซไดอาเซพีน (Nonbenzodiazepine)
    • ยาต้านเศร้ากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (Selective Serotonin Reuptake Inhibitor หรือ SSRI) และกลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ (Serotonin and norepinephrine reuptake inhibitor หรือ SNRI)

    การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือกับภาวะการปรับตัวผิดปกติ

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกันและช่วยให้คุณรับมือกับภาวะการปรับตัวผิดปกติได้ดีขึ้น

    • มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่เสมอ
    • มองหาเรื่องดี ๆ เรื่องตลก หรือแง่บวกจากเหตุการณ์ยากลำบากได้ให้
    • ต้องรู้จักเห็นคุณค่าในตัวเอง หรือเรียนรู้ที่จะนับถือตัวเอง
    • ดูแลสุขภาพ และสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตให้ดี

    หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 23/09/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา