backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ภาวะเปลือกตาม้วนออก (Ectropion)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 05/10/2020

ภาวะเปลือกตาม้วนออก (Ectropion)

ภาวะเปลือกตาม้วนออก (Ectropion) คือ ภาวะผิดปกติของเปลือกตา ทำให้เปลือกตาม้วนออก ไม่แนบสนิทกับตาเหมือนปกติ จนส่งผลให้ตาเจ็บ ระคายเคือง หรือติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

คำจำกัดความ

ภาวะเปลือกตาม้วนออก คืออะไร

ภาวะเปลือกตาม้วนออก (Ectropion) คือ ภาวะที่เปลือกตาหรือหนังตาของผู้ป่วยห้อยหรือย้อยออก จนมองเห็นด้านในของเปลือกตา และเปลือกตาไม่แนบสนิทกับตาเหมือนปกติ ส่งผลทำให้ดวงตาเสี่ยงต่อการระคายเคืองหรือการติดเชื้อมากขึ้น โดยทั่วไปแล้ว ภาวะนี้มักเกิดกับเปลือกตาล่าง

ภาวะเปลือกตาม้วนออกพบได้บ่อยแค่ไหน

ภาวะเปลือกตาม้วนออกพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการไม่รุนแรงนัก อาจมีเปลือกตาม้วนออกแค่บางส่วนเท่านั้น แต่หากเป็นกรณีรุนแรง เปลือกตาล่างอาจม้วนออกทั้งแถบ

อาการ

อาการของภาวะเปลือกตาม้วนออก

อาการที่พบได้ทั่วไปของภาวะเปลือกตาม้วนออก ได้แก่

  • มีน้ำตาไหลมากกว่าปกติ หรือที่เรียกว่า ภาวะน้ำตาเอ่อ (Epiphora)
  • ตาแห้งผิดปกติ
  • แสบตา
  • ระคายเคืองดวงตาเป็นประจำ
  • ตาไวต่อแสง หรือตาสู้แสงไม่ได้
  • ตาแดงเรื้อรัง

หากคุณมีอาการของภาวะเปลือกตาม้วนออกข้างต้น ต้องรีบเข้ารับการรักษาโดยด่วน เพราะหากปล่อยไว้ หรือรักษาล่าช้าเกินไป อาจส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงได้

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการนอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ โปรดปรึกษาคุณหมอ

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากคุณเกิดอาการดังต่อไปนี้กะทันหัน ควรไปพบคุณหมอทันที

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

  • อยู่ ๆ ตาก็ไวต่อแสง หรือแพ้แสง
  • เจ็บตา
  • ตาแดงฉับพลัน
  • อยู่ ๆ ก็มองเห็นไม่ชัด

สาเหตุ

สาเหตุของภาวะเปลือกตาม้วนออก

ภาวะเปลือกตาม้วนออก อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเนื้อเยื่อคลายตัว

ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้เมื่อเราอายุมากขึ้น และปัญหาสุขภาพตามวัยเหล่านี้ถือเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของภาวะเปลือกตาม้วนออก

  • โรคอัมพาตใบหน้า (Facial paralysis หรือ Bell’s palsy)

รวมถึงเนื้องอกบางชนิดที่ส่งผลให้เส้นประสาทและกล้ามเนื้อใบหน้าเป็นอัมพาต สามารถส่งผลให้เกิดภาวะเปลือกตาม้วนออกได้

  • มีแผลเป็น หรือเคยเข้ารับการผ่าตัด
  • หากผิวหนังถูกทำลายจากการเผาไหม้ หรือการเกิดแผล เช่น โดนสุนัขกัด ก็อาจส่งผลให้เปลือกตาไม่แนบสนิทกับดวงตา นอกจากนี้ การผ่าตัดบริเวณดวงตา เช่น การศัลยกรรมผิวหนังเปลือกตา ก็อาจทำให้เกิดภาวะเปลือกตาม้วนออกได้ โดยเฉพาะหากผ่าตัดเอาผิวหนังบริเวณเปลือกตาออกไปเป็นจำนวนมาก

    หากมีเนื้องอกหรือเป็นมะเร็งที่เปลือกตา ก็ทำให้เปลือกตาม้วนออกได้เช่นกัน

    • โรคทางพันธุกรรม

    ทารกแรกเกิดบางรายอาจมีภาวะเปลือกตาม้วนออกแต่กำเนิด ซึ่งส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับโรคทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม

    ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเสี่ยงของ ภาวะเปลือกตาม้วนออก

    ปัจจัยต่อไปนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเปลือกตาม้วนออกได้

    • อายุ เมื่ออายุมากขึ้น เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อจะหย่อนยานและอ่อนแรงลง จนอาจส่งผลให้เปลือกตาม้วนออกได้ ซึ่งปัญหากล้ามเนื้อเนื่องจากอายุนี้ ถือเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเปลือกตาม้วนออกได้มากที่สุด
    • การผ่าตัดตา ผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดตาและบริเวณโดยรอบ มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะเปลือกตาม้วนออกมากกว่าผู้ที่ไม่เคยเข้ารับการผ่าตัดดังกล่าว
    • เคยเป็นแผล เป็นมะเร็ง หรือมีแผลไหม้ เนื้อเยื่อแผลเป็นที่เกิดขึ้นจากการเป็นแผลที่บริเวณใบหน้า หรือดวงตา อาจส่งผลให้เกิดภาวะเปลือกตาม้วนออกได้

    การวินิจฉัยและการรักษาโรค

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยภาวะเปลือกตาม้วนออก

    แพทย์มักตรวจพบภาวะเปลือกตาม้วนเข้าในขณะตรวจสุขภาพตา หรือตรวจสุขภาพทั่วไป และหากแพทย์สงสัยว่าคุณมีภาวะนี้ อาจทดสอบด้วยการถ่างตาของคุณให้เปิดกว้าง แล้วบอกให้คุณลองกะพริบตาหรือพยายามหลับตา เพื่อดูว่าเปลือกตาอยู่ในตำแหน่งปกติหรือไม่ และกล้ามเนื้อดวงตาของคุณทำงานผิดปกติหรือเปล่า

    หากคุณมีภาวะเปลือกตาม้วนออกเนื่องจากมีแผลเป็น เนื้องอก จากการผ่าตัด หรือการฉายรังสี แพทย์ก็อาจต้องตรวจเนื้อเยื่อบริเวณโดยรอบด้วย

    เมื่อแพทย์ทราบสาเหตุของภาวะเปลือกตาม้วนออกของคุณแล้ว ก็จะทำให้สามารถรักษาได้อย่างเหมาะสมที่สุด

    การรักษาภาวะเปลือกตาม้วนออก

    หากภาวะเปลือกตาม้วนออกของคุณอยู่ในระดับเบา แพทย์อาจให้คุณบรรเทาอาการด้วยการหยอดน้ำตาเทียมและการทายา แต่หากเป็นกรณีรุนแรง ก็อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยรูปแบบของการผ่าตัดนั้นจะขึ้นอยู่กับสภาพของเนื้อเยื่อโดยรอบเปลือกตา และปัญหาสุขภาพที่เป็นสาเหตุของภาวะเปลือกตาม้วนออกของคุณ เช่น

    หากภาวะเปลือกตาม้วนออกเกิดจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นหย่อนยานตามวัย แพทย์มักจะผ่าตัดเอาขอบเปลือกตาล่างออกเล็กน้อย เมื่อแผลหายดีแล้ว กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นของเปลือกตาก็จะตึงขึ้น จึงทำให้ขอบเปลือกตาล่างแนบกับตาเหมือนปกติ

    หากภาวะเปลือกตาม้วนออกเกิดจากเนื้อเยื่อแผลเป็นจากการบาดเจ็บ หรือการผ่าตัดก่อนหน้านี้ แพทย์อาจจำเป็นต้องผ่าตัดปลูกผิวหนังบริเวณเปลือกตา โดยใช้ผิวหนังเปลือกตาบน หรือผิวหนังหลังใบหู และหากแผลเป็นที่เป็นสาเหตุมีขนาดค่อนข้างใหญ่ หรือคุณเป็นโรคอัมพาตใบหน้า ก็อาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดมากกว่าหนึ่งครั้ง

    หลังผ่าตัด คุณอาจมีรอยช้ำและอาการบวมรอบดวงตาเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ และคุณอาจจำเป็นต้องใช้ผ้าปิดตาเอาไว้ 24 ชั่วโมง ต้องทายาปฏิชีวนะหรือยาสเตียรอยด์ชนิดใช้ภายนอกวันละ 2-3 ครั้งเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ร่วมกับการประคบเย็นเป็นระยะ เพื่อบรรเทาอาการบวมและรอยช้ำ นอกจากนี้ คุณอาจรู้สึกว่าเปลือกตาตึงขึ้นจนไม่สบายตา แต่ไม่นานอาการนี้ก็จะดีขึ้น

    การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือกับ ภาวะเปลือกตาม้วนออก

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณรับมือกับภาวะเปลือกตาม้วนออกได้

    • หยอดน้ำตาเทียม หรือทายาป้ายตา เพื่อลดอาการระคายเคืองกระจกตา ช่วยให้กระจกตาชุ่มชื้นอยู่เสมอ และป้องกันการสูญเสียการมองเห็น หลังทายา คุณควรใช้ฝาครอบตาปิดตาเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
    • เช็ดตาอย่างระมัดระวัง เพราะการเช็ดตา หรือขยี้ตาแรง ๆ เป็นประจำ สามารถส่งผลให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นใต้ดวงตายืดหรือหย่อนยานผิดปกติได้ และส่งผลให้ภาวะเปลือกตาม้วนออกยิ่งแย่ลงด้วย เวลาเช็ดตา ควรค่อย ๆ เช็ดจากใต้ตาไล่ออกไปที่แก้มหรือจมูก อย่าถูไปถูมา

    หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 05/10/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา