backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง อาการ สาเหตุ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/06/2023

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง อาการ สาเหตุ และการรักษา

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง อาการ โดยเบื้องต้น ต่อมน้ำเหลืองในลำคอ รักแร้ หรือขาหนีบมักบวม แต่ไม่รู้สึกเจ็บปวดใด ๆ ทั้งนี้ ต่อมน้ำเหลืองจัดเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน หากเป็นโรคนี้ ย่อมเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจึงควรเฝ้าระวัง และหมั่นตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำสม่ำเสมอ

คำจำกัดความ

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง คืออะไร

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) เป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่มีจุดกำเนิดที่เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) ซึ่งผลิตจากไขกระดูก และเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน มีหน้าที่ต่อสู้กับการติดเชื้อ เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์นี้พบได้ในหลายส่วนของร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลือง ม้าม ต่อมไทมัส (ต่อมไร้ท่อ) ไขกระดูก

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่

  1. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma) ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด
  2. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin Lymphoma)

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอาจดูคล้ายคลึงกับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่ความแตกต่างก็คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะมีจุดกำเนิดที่เซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ ส่วนมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะมีจุดกำเนิดที่เซลล์เม็ดเลือดในไขกระดูก

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง พบได้บ่อยแค่ไหน

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จัดเป็นโรคมะเร็งระบบเลือดที่พบได้บ่อยที่สุด และสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยรุ่น คนหนุ่มสาว และผู้สูงอายุ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

อาการที่พบได้ทั่วไป ได้แก่

  • ต่อมน้ำเหลืองในลำคอ รักแร้ หรือขาหนีบบวม แต่ไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ
  • ไอ
  • มีไข้ โดยไม่ได้ติดเชื้อโรคใด ๆ
  • เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • อ่อนเพลียเรื้อรัง
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีอาการคัน
  • หากเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน อาจมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย
  • ไอเรื้อรัง
  • หายใจหอบ ถี่
  • ปวดท้อง หรือท้องบวม

บางราย อาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากมีข้อสงสัยใด ๆ โปรดปรึกษาแพทย์

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากมีสัญญาณหรืออาการที่ระบุข้างต้น หรือมีข้อสงสัยใด ๆ โปรดปรึกษาแพทย์

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามภาวะสุขภาพ

สาเหตุ

สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ในปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่ทราบว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีจุดกำเนิดที่เซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ซึ่งเกิดการกลายพันธุ์ ทำให้เซลล์แบ่งตัวเร็วผิดปกติ และนำไปสู่ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง รวมถึงโรคอื่น ๆ ด้วย

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

  • อายุ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิดพบได้บ่อยในวัยผู้ใหญ่ แต่ชนิดที่พบได้มากที่สุด มักเกิดในผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป
  • เป็นเพศชาย เพศชายมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมากกว่าเพศหญิง
  • ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองพบได้บ่อยในผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน หรือคนที่ต้องกินยากดภูมิคุ้มกัน
  • ติดเชื้อบางชนิด เชื้อโรคบางชนิดเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ เช่น ไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein Barr Virus หรือ EBV) เชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (Helicobacter Pylori หรือ H. Pylori)

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัย โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

หากสงสัยว่าเป็น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ควรเข้ารับการตรวจดังต่อไปนี้ เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจริงหรือไม่ และเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดใด

  • การตรวจเลือดและการผ่าตัดเพื่อการวินิจฉัย หรือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ (Biopsy) และในบางกรณี อาจต้องเจาะไขกระดูกไปตรวจด้วย
  • การตรวจภาพวินิจฉัย ด้วยวิธีการ เช่น
  • การตรวจซีทีสแกน (CT Scan)
    • การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan)
    • การตรวจเพท สแกน (PET scan)
    • การตรวจเพท ซีทีสแกน (PET-CT scan)
    • การเอกซเรย์ทรวงอก ช่องท้อง และกระดูกเชิงกราน
    • การอัลตราซาวด์
    • การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture หรือ Spinal Tap)

การตรวจบางประเภท เช่น การเจาะไขกระดูก การเจาะน้ำไขสันหลังจะต้องมีการให้ยาระงับความรู้สึกก่อน และแพทย์อาจดำเนินการในวันเดียวกับวันที่มีการผ่าตัดเพื่อการวินิจฉัย

การรักษา  มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น

  • ชนิดและระยะของโรคมะเร็ง
  • สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
  • ความต้องการของผู้ป่วย
  • เซลล์มะเร็งนั้นมีปฏิกิริยาไวต่อฮอร์โมนบางชนิดหรือไม่

วิธีรักษา โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่นิยมใช้ทั่วไป เช่น

การเฝ้าระวังเชิงรุก (Active surveillance)

เซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิดนั้นเจริญเติบโตช้ามาก คุณหมออาจแนะนำให้รอจนกว่าอาการของโรคจะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ค่อยเข้ารับการรักษา และในระหว่างเฝ้าระวัง อาจต้องเข้ารับการตรวจเป็นระยะ เพื่อหาความเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาของโรค

เคมีบำบัด (Chemotherapy)

ยาเคมีบำบัดจะช่วยทำลายเซลล์ในร่างกายที่เติบโตเร็วผิดปกติ เช่น เซลล์มะเร็ง โดยการให้ยาเคมีบำบัดส่วนใหญ่จะให้ผ่านทางหลอดเลือด แต่บางรายอาจรับยาในรูปแบบยาเม็ดด้วย ขึ้นอยู่กับชนิดของยาเคมีบำบัดที่ใช้

รังสีรักษา (Radiation therapy)

วิธีนี้เป็นทำลายเซลล์มะเร็งด้วยคลื่นพลังงานแรงสูง หรือที่เรียกว่ารังสี เช่น รังสีเอ็กซ์ รังสีโปรตอน

การปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone marrow transplant)

วิธีนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด โดยเริ่มต้นเข้ารับเคมีบำบัดในขนาดยาสูง และเข้ารับการรักษาด้วยรังสีรักษาเพื่อกดการทำงานของไขกระดูก จากนั้นจึงฉีดเซลล์ต้นกำเนิดไขกระดูกที่มีสุขภาพแข็งแรงดีที่ได้จากร่างกายของผู้ป่วยเอง หรือจากผู้บริจาค และผ่านการกรองแล้ว เข้าหลอดเลือดดำของผู้ป่วย เพื่อให้ร่างกายผลิตไขกระดูกขึ้นใหม่ และมีสุขภาพดีขึ้น

การรักษาด้วยวิธีอื่น

แพทย์อาจใช้การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่น

  • การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
  • การใช้เซลล์ภูมิคุ้มกันที่ผ่านการดัดแปลงทางพันธุกรรมให้มีการแสดงออกโปรตีนตัวรับแบบผสม (Chimeric Antigen Receptor หรือ CAR)

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

นอกเหนือจากการรักษาแล้ว การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันอาจช่วยให้สามารถรับมือกับ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ดีขึ้น

  • ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง อาการ เช่น ชนิด ระยะ การพยากรณ์โรค วิธีรักษา ให้ละเอียดขึ้น ด้วยการขอคำแนะนำจากแพทย์ หรือเรียนรู้ข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เมื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมากขึ้นแล้ว จะได้ตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีรักษาได้ง่ายขึ้น
  • พูดคุยกับเพื่อนและคนในครอบครัวเป็นประจำ เพื่อที่จะได้ไม่รู้สึกอึดอัด หรือเครียดมากเกินไป เพราะกำลังใจถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในการรับมือกับมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ บางครั้งอาจรู้สึกเป็นกังวลมากจนเพื่อนและคนในครอบครัวก็ไม่อาจทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้ ในกรณีนี้ การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือคุณหมอประจำตัว ถือเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/06/2023

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา