backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ไฝ (Moles) คืออะไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ปราโมทย์ วงศ์คำ · แก้ไขล่าสุด 29/03/2023

ไฝ (Moles) คืออะไร

ไฝ คือ กลุ่มเซลล์เม็ดสีที่ก่อตัวขึ้นบริเวณผิวหนัง มักจะมีสีน้ำตาลหรือดำ อาจปรากฏเห็นเป็นจุดเดียวหรืออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เมื่อผ่านไปหลายปี ไฝมักใหญ่ขึ้นและอาจมีการเปลี่ยนแปลงของสีอย่างช้า ๆ บางครั้ง อาจมีเส้นผมโผล่ขึ้นจากไฝ ส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตราย แต่ในบางรายอาจเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งเมลาโนได้ แต่พบได้น้อยมาก

คำจำกัดความ

ไฝ คืออะไร

ไฝ เป็นผิวหนังที่มีการเติบโตขึ้นจากการรวมกลุ่มกันของเม็ดสีเมลานินใต้ชั้นผิวหนังที่มากกว่าปกติ ทำให้เกิดเป็นจุดสีน้ำตาลหรือดำเห็นบนผิวหนัง มีลักษณะนูน เป็นตุ่ม ไฝอาจใหญ่ขึ้นได้และอาจมีการเปลี่ยนสี ปกติแล้ว ไฝไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผิวหนัง แต่ในบางรายอาจเกิดความผิดปกติจนกลายเป็นมะเร็งบางชนิดได้

ไฝพบได้บ่อยแค่ไหน

ไฝเป็นภาวะของผิวหนังที่พบได้ทั่วไป ไฝส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงวัยเด็กจนถึงช่วงวัย 25 ปี เป็นเรื่องปกติที่จะมีจำนวนไฝอยู่ระหว่าง 10 ถึง 40 ตำแหน่งทั่วร่างกายในวัยผู้ใหญ่

อาการ

อาการของการมีไฝ

ไฝมักจะเป็นจุดสีน้ำตาลหรือดำ และสามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องของ สี รูปร่างและขนาด:

  • สีและผิวสัมผัส ไฝอาจมีสีน้ำตาล สีแทน สีดำ สีแดง สีน้ำเงินหรือสีชมพู ผิวสัมผัสอาจมีความนุ่ม มีรอยย่น แบนราบ หรือนูนขึ้น อาจมีขนงอกออกมาจากไฝ
  • รูปแบบของไฝมีความหลากหลาย ตั้งแต่ทรงรีจนไปถึงทรงกลม
  • ไฝมักจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 1/4 นิ้ว (ประมาณ 6 มิลลิเมตร) และสำหรับไฝที่ปรากฏขึ้นเมื่อตอนเกิด อาจมีขนาดใหญ่มากและปกคลุมใบหน้าร่างกายหรือแขนและขาเป็นบริเวณกว้าง กรณีดังกล่าวพบว่าเกิดน้อยครั้ง

ไฝสามารถเกิดตรงบริเวณไหนของร่างกายก็ได้ ได้แก่ หนังศีรษะ รักแร้ ใต้เล็บและระหว่างนิ้วมือและนิ้วเท้า คนส่วนใหญ่จะมีไฝ 10 ถึง 45 แห่ง และเมื่ออายุ 40 ปี ขนาดของไฝอาจมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อผ่านไปเป็นเวลานาน การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนในช่วงวัยรุ่นและช่วงตั้งครรภ์ อาจทำให้ไฝมีสีเข้มขึ้น ขนาดใหญ่ขึ้นและมีจำนวนมากขึ้น

ไฝที่ผิดปกติอาจบ่งชี้ถึงมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา

การสังเกตตามแนวทางต่อไปนี้ อาจจะช่วยให้ระบุได้ว่าไฝหรือจุดบนผิวหนังเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาหรือไม่

  • A ย่อมาจาก Asymmetrical shape (ขนาดไม่สมดุล) ลักษณะของไฝซีกหนึ่ง ไม่เหมือนกับอีกซีกหนึ่ง
  • B ย่อมาจาก Border สังเกตไฝที่ผิดปกติ มีรอยบากหรือมีรอยหยัก
  • C ย่อมาจาก Color สังเกตการเติบโตที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนสีของไฝ โดยที่ไฝอาจมีหลายสีหรือมีสีไม่เหมือนกัน
  • D ย่อมาจากDiameter สังเกตการเติบโตของไฝ ที่มีขนาดใหญ่กว่า 1/4 นิ้ว (ประมาณ 6 มิลลิเมตร)
  • E ย่อมาจาก Evolving สังเกตไฝที่มีการเปลี่ยนแปลงในขนาด รูปทรง สี หรือตำแหน่ง โดยเฉพาะหากส่วนหนึ่งหรือไฝทั้งหมดเปลี่ยนเป็นสีดำ

ไฝที่ก่อมะเร็งมีหลายรูปแบบ (เนื้อร้าย) ไฝบางจุดอาจแสดงลักษณะทั้งหมดตามที่กล่าวไว้ข้างต้น บางจุดอาจมีลักษณะแค่ 1 หรือ 2 อย่าง

สำหรับบางราย อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการนอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ โปรดปรึกษาคุณหมอ

ควรไปพบหมอเมื่อใด

เข้าพบหมอหากไฝส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เหล่านี้

  • สร้างความเจ็บปวด
  • ระคายเคืองหรือแสบร้อน
  • มีเลือดซึมหรือเลือดออก
  • แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนลักษณะตามแนวทาง A-E  อย่างใดอย่างหนึ่ง
  • ไฝกลับมาอีกครั้งหลังจากเคยเอาออกมาก่อนแล้ว
  • มีไฝใหม่เกิดขึ้น และอยู่ในวัย 30 ปีขึ้นไป

หากมีความกังวลเกี่ยวกับไฝ เข้าพบหมอหรือสอบถามหมอที่เชี่ยวชาญทางอาการผิวหนัง

สาเหตุ

สาเหตุของการเกิดไฝ

ไฝเกิดจากการที่เซลล์ในร่างกายเติบโตขึ้นเป็นกลุ่ม แทนที่จะกระจายออกไปยังผิวหนังตามร่างกาย เซลล์เหล่านี้เรียกว่า เมลาโนไซต์ (Melanocytes) และเซลล์เหล่านี้จะสร้างเม็ดสีที่จะทำให้ผิวหนังมีสีธรรมชาติ ไฝอาจมีสีเข้มขึ้น หลังสัมผัสกับแสงแดด ระหว่างอยู่ในช่วงวัยรุ่น และระหว่างการตั้งครรภ์

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของการมีไฝ

สำหรับความเสี่ยงของการมีไฝนั้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ โปรดปรึกษาคุณหมอ

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยเกี่ยวกับไฝ

โดยปกติ ไฝไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากรู้สึกกังวลใจ อาจเข้าพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการวินิจฉัย คุณหมอมักตรวจด้วยตาเปล่าก่อน และซักถามประวัติ พฤติกรรมต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งการตรวจสภาพผิวหนังตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า

หากคุณหมอสงสัยว่าไฝอาจก่อมะเร็ง คุณหมอจะผ่าเอาเนื้อเยื่อตัวอย่าง (การตัดชิ้นเนื้อ) และนำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์

การรักษาไฝ

ส่วนใหญ่แล้วไฝไม่จำเป็นต้องรักษา แต่หากหมอวินิจฉัยว่าไฝที่เกิดขึ้นมีความน่าสงสัย หมอจะทำการนำตัวอย่างเนื้อเยื่อไฝไปตรวจเพื่อดูว่าไฝมีภาวะของการก่อมะเร็งหรือไม่

การผ่าตัดไฝออก

หากไฝมีแนวโน้มที่จะก่อมะเร็ง คุณหมอจะทำการผ่าตัดเพื่อกำจัดไฝออก หากมีไฝตรงบริเวณเครา อาจต้อให้หมอทำการผ่าตัดออก เพราะการโกนหนวดซ้ำ ในบริเวณนั้นอาจทำให้เกิดการระคายเคือง ควรกำจัดไฝที่เสี่ยงต่อการเกิดบาดแผลและแรงเสียดสี ที่อยู่ตามส่วนอื่น ๆ ของร่างกายออก

การผ่าตัดนำไฝออก จะใช้เวลาแค่ช่วงสั้นๆ วิธีนี้อาจทิ้งรอยแผลเป็นไว้ ทางเลือกของการผ่าตัดเอาไฝออก ได้แก่

  • การผ่าตัดก้อนไฝออก คุณหมอจะทำให้ผิวหนังรอบ ๆ ไฝเกิดอาการชา และผ่าตัดเอาไฝและผิวหนังโดยรอบออกด้วยมีดผ่าตัดหรืออุปกรณ์เจาะหัวแหลม (sharp punch device) จากนั้น หมอจะทำการปิดแผลด้วยการเย็บ
  • การผ่าตัดเปลี่ยนขนาด วิธีนี้ คุณหมอจะทำให้ผิวหนังรอบ ๆ ไฝเกิดอาการชาและใช้มีดผ่าตัดขนาดเล็กเพื่อผ่ารอบไฝและใต้ไฝออก วิธีนี้มักจะใช้สำหรับไฝที่มีขนาดเล็กและไม่ต้องเย็บแผล

หากสังเกตเห็นว่า ไฝขยายใหญ่ขึ้น ควรไปพบคุณหมอทันที

การดูแลด้วยเครื่องสำอาง

หากมีความกังวลใจเกี่ยวกับไฝ โดยเฉพาะไฝบนใบหน้าอาจส่งผลให้ขาดความมั่นใจ วิธีเหล่านี้อาจช่วยได้

  • ใช้เครื่องสำอางปกปิดไฝ อาจจำเป็นต้องทดสอบหลายผลิตภัณฑ์ก่อนที่จะพบผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสภาพผิวและลักษณะของไฝที่ต้องการปกปิด
  • การถอนขนที่ไฝออก หากมีขนงอกออกมาจากไฝ อาจลองตัดขนให้สั้นลง ไม่ควรดึงออกเพราะอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดมากกว่าปกติ ควรปรึกษากับแพทย์ผิวหนังเกี่ยวกับการกำจัดขนและไฝออกอย่างถาวร

เมื่อใดก็ตามที่ไฝสร้างอาการระคายเคืองหรือเกิดบาดแผล ควรทำความสะอาดบริเวณนั้นให้เรียบร้อย และเข้าพบกับคุณหมอหากอาการไม่ดีขึ้น

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองแบบใดที่ช่วยรับมือกับไฝ

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองต่อไปนี้อาจช่วยให้สามารถรับมือกับไฝได้

  • หลีกเลี่ยงแสงแดด จะเป็นเรื่องดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงการสัมผัสต่อแสงแดดมากเกินไป หากต้องอยู่กลางแจ้ง พยายามอยู่ให้ห่างจากแสงแดดในช่วง 10 โมงเช้า จนถึง 4 โมงเย็น เพราะเป็นช่วงที่รังสี UV มีความเข้มข้นสูงสุด
  • ใช้ครีมกันแดดตลอดทั้งปี ทาครีมกันแดดเป็นเวลา 30 นาที ก่อนออกข้างนอกแม้ในวันที่ฟ้าครึ้ม ใช้ครีมกันแดดประเภท broad-spectrum ที่มีค่า SPF อย่างน้อย 30 ทาครีมกันแดดอย่างระมัดระวัง และทาซ้ำในทุก ๆ 2 ชั่วโมง หรือบ่อยกว่านั้น หากว่ายน้ำหรือเหงื่อออก ควรใช้ครีมกันแดดประเภท broad-spectrum และครีมกันแดดที่กันน้ำได้ และควรมีค่า SPF อย่างน้อย 50
  • ปกคลุมร่างกายด้วยแว่นกันแดด หมวกปีกกว้าง เสื้อแขนยาว และเสื้อผ้าปกคลุมอื่นๆ ที่ช่วยให้หลีกเลี่ยงความเสียหายจากรังสี UV ได้ อาจลองสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าทอชนิดพิเศษที่ช่วยปกป้องรังสี UV
  • หลีกเลี่ยงการนอนเตียงอบผิวสี เตียงอบผิวสีจะปล่อยรังสี UV และเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งผิวหนัง

หากมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับสภาพผิวหนังและประวัติสุขภาพ

 

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ปราโมทย์ วงศ์คำ · แก้ไขล่าสุด 29/03/2023

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา