backup og meta

รู้หรือไม่ อากาศร้อน อันตรายต่อร่างกายมากกว่าที่เราคิด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 19/08/2020

    รู้หรือไม่ อากาศร้อน อันตรายต่อร่างกายมากกว่าที่เราคิด

    อากาศร้อนกับประเทศไทยนั้นดูเหมือนจะเป็นของคู่กันไปเสียแล้ว เนื่องจากประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร จึงทำให้มีอากาศร้อนอยู่เกือบตลอดทั้งปี จนทำให้หลายคนเกิดความเคยชิน และมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ไม่มีอันตรายอะไร แต่ในความจริงแล้ว อากาศร้อน อาจมาพร้อมกับปัญหาสุขภาพต่าง ๆ มากมายอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง แต่ปัญหาเหล่านี้มีอะไรบ้าง และสามารถป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร Hello คุณหมอ จะพาคุณไปหาคำตอบได้จากบทความนี้

    อากาศร้อน ภัยอันตรายที่หลายคนมองข้าม

    ตามปกติแล้ว ร่างกายของเราจะสามารถรักษาอุณหภูมิให้อยู่ที่ประมาณ 36 – 37.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับปกติที่ร่างกายสามารถทนได้ แต่หากอยู่กลางแจ้งที่มีแดดร้อนเป็นเวลานาน อาจทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงมากเกินไป ทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ยากลำบากขึ้น และเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

    จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือน มีนาคมถึงพฤษภาคม ตั้งแต่ปีพ.ศ 2558-2562 จะมีรายงานผู้เสียชีวิตเนื่องจากอากาศร้อนเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยที่ประมาณ 38 ราย โดยเฉพาะในเดือนเมษายนที่มักจะมีอากาศร้อนมากที่สุด โดยอันตรายจากอากาศร้อนที่พบได้บ่อย มีดังนี้

    โรคลมแดด หรือฮีทสโตรก (Heat Stroke)

    โรคลมแดดเป็นภาวะที่อันตรายที่สุดที่เกิดขึ้นจากอากาศร้อน โรคลมแดดนี้จะเกิดขึ้นเมื่อระบบควบคุมอุณหภูมิของร่างกายหยุดทำงาน ทำให้ร่างกายไม่สามารถลดอุณหภูมิลงได้ จนระบบและอวัยวะภายในร่างกายเกิดความผิดปกติ โรคลมแดดนี้สามารถสร้างความเสียหายต่อสมองและอวัยวะภายใน หรือทำให้เสียชีวิตได้หากไม่สามารถลดอุณหภูมิของร่างกายได้อย่างทันท่วงที

    อาการของโรคลมแดดอาจมีดังต่อไปนี้

  • ปวดหัว
  • คลื่นไส้
  • กระหายน้ำอย่างรุนแรง
  • ง่วงนอน
  • ผิวแห้ง แตก และแดง
  • สับสน
  • หน้ามืด
  • ชัก
  • ตัวร้อน
  • หมดสติ
  • เพลียแดด (Heat exhaustion)

    อาการเพลียแดด เป็นอีกหนึ่งอาการป่วยที่เกิดขึ้นจากอากาศร้อน โดยเฉพาะกับสภาพอากาศร้อนที่มีความชื้นสูง และการออกกำลังกายอย่างหนักกลางแจ้ง มักเกิดขึ้นพร้อมกับภาวะขาดน้ำ (Dehydration) หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจนำไปสู่โรคลมแดดได้

    อาการภาวะเพลียแดดอาจมีดังต่อไปนี้

    • ปวดหัว
    • หน้ามืด วิงเวียน
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเป็นตะคริว
    • ผิวลอก
    • ตัวร้อน

    หากคุณสังเกตพบว่าตัวเองอาจจะมีอาการเพลียแดด ให้รีบหาที่หลบร้อน และดื่มน้ำให้มาก เพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป นอกจากนี้ยังควรหาผ้าเย็น หรือผ้าชุบน้ำมาเช็ดตามร่างกายเพื่อช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายลง

    ตะคริวแดด (Heat cramps)

    ตะคริวแดดคืออาการปวดกล้ามเนื้อเนื่องจากการออกแรงมากเกินไปในช่วงสภาพอากาศร้อน เช่น การออกกำลังกายกลางแจ้ง อาการตะคริวแดดนี้จะเป็นสัญญาณแรกของปัญหาที่เกิดขึ้นจากอาการร้อน และมักจะเกิดขึ้นจากการที่ร่างกายสูญเสียน้ำและแร่ธาตุ อาการตะคริวแดดนั้นมักจะมีอาการปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงในระยะเวลาสั้น แล้วหายไปได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษา แต่หากคุณไม่ลดอุณหภูมิของร่างกายลง แล้วดื่มน้ำให้เพียงพอ ก็อาจนำไปสู่อาการเพลียแดด หรือโรคลมแดดได้

    ผิวไหม้และมะเร็งผิวหนัง

    หากเราตากแดดร้อนจัดเป็นเวลานานๆ อาจทำให้ผิวเกิดอาการแดง แสบร้อน และระคายเคือง หรือที่เราเรียกกันว่าผิวไหม้แดดได้ โดยเฉพาะกับผู้ที่มีผิวขาว หรือผู้ที่ไม่ได้ทาครีมกันแดดเพื่อป้องกันจากแสงแดด และหากชั้นผิวของเราเกิดความเสียหายเนื่องจากแสงแดดเป็นเวลานาน อาจทำให้เซลล์ผิวเสื่อมสภาพ แล้วนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้

    ใครบ้างที่ควรระวังอากาศร้อนเป็นพิเศษ

    แม้ว่าปัญหาสุขภาพที่มาพร้อมกับอากาศร้อนนั้นจะสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่คนบางกลุ่มก็อาจจะมีความเสี่ยงในการได้รับอันตรายจากอากาศร้อนจัดมากกว่าคนกลุ่มอื่น เช่น

    • ผู้สูงอายุ
    • เด็กเล็ก และเด็กทารก
    • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต
    • ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง
    • ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เช่น คนงานก่อสร้าง
    • ผู้ที่มีไข้สูง
    • ผู้ที่ตั้งครรภ์

    คนเหล่านี้มักจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาจากอากาศร้อนมากกว่าคนกลุ่มอื่น เนื่องจากพวกเขาอาจจะมีอุณภูมิร่างกายที่สูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หรืออาจจะต้องเจอกับแสงแดดและอากาศร้อนมากกว่าปกติ ดังนั้น คนเหล่านี้จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อต้องอยู่ในพื้นที่มีอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน

    เทคนิคการป้องกันอันตรายจากอากาศร้อน

    ดื่มน้ำ พยายามจิบน้ำบ่อย ๆ เวลาที่ต้องอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อน พยายามดื่มน้ำเปล่า หรือน้ำผลไม้เย็น ๆ ที่ทำให้รู้สึกสดชื่น หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา และกาแฟเนื่องจากอาจจะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้

    ทาครีมกันแดด ก่อนจะออกจากบ้าน อย่าลืมทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูง ทุกครั้ง เพื่อช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด

    เลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสม หากต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรเลือกสวมเสื้อผ้าที่สามารถป้องกันผิวจากแสงแดดได้ เช่น เสื้อแขนยาว หรือหมวก นอกจากนี้ยังควรเลือกเสื้อผ้าที่เบาสบาย ไม่หนา หรือรัดแน่น และควรหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าสีดำ เพราะจะดูดแสงและทำให้รู้สึกร้อนมากขึ้น

    หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะในช่วงขณะที่มีแดดร้อนจัด อาจลองเปลี่ยนเป็นออกกำลังกายในที่ร่ม หรือออกกำลังกายในเวลาเช้าตรู่หรือเวลาเย็นแทน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 19/08/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา