backup og meta

ปัญหาสุขภาพเท้า ที่มาพร้อมอายุที่มากขึ้น และคุณไม่ควรละเลย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 26/07/2021

    ปัญหาสุขภาพเท้า ที่มาพร้อมอายุที่มากขึ้น และคุณไม่ควรละเลย

    เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะและระบบต่าง ๆ ในร่างกายก็จะเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง เสื่อมสภาพ หรือทำงานได้ช้าลง ที่เห็นเด่นชัด เช่น ผิวหนังเหี่ยวย่น มองอะไรไม่ชัดเพราะจอประสาทตาเสื่อม และอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพตามวัยที่พบได้บ่อย ก็คือ ปัญหาสุขภาพเท้า นั่นเอง ว่าแต่ปัญหาสุขภาพเท้าที่มาพร้อมอายุที่มากขึ้นจะมีอะไรบ้าง เราไปดูกันเลย

    ปัญหาสุขภาพเท้า จากวัยที่มากขึ้น

    เท้าแห้งแตก

    เมื่ออายุมากขึ้น ระดับคอลลาเจนในชั้นผิวจะค่อย ๆ ลดลง ยิ่งหากคุณละเลย ไม่ดูแลสุขภาพเท้าให้ดี ก็จะทำให้เท้าแห้งแตก โดยเฉพาะบริเวณฝ่าเท้าและส้นเท้า แนะนำให้คุณทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับเท้าเป็นประจำทุกวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเท้าแห้งแตกรุนแรงขึ้น จนแบคทีเรียเข้าสู่เนื้อเยื่อและทำให้เกิดการติดเชื้อที่เท้า และสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากเท้าติดเชื้อก็อาจส่งผลให้เป็นโรคเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) ซึ่งถือเป็นปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้

    กระเนื้อ

    กระเนื้อ (Seborrheic Keratosis) เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยมากเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยสูงอายุ สาเหตุเกิดจากผิวหนังโดนรังสียูวีต่อเนื่องยาวนาน จนเกิดเป็นจุดราบสีน้ำตาลอ่อน ที่อาจนูนขึ้น หรือมีขุยสะเก็ด และบางครั้งอาจรวมกันเป็นปื้น ส่วนใหญ่มักพบบริเวณหลังเท้า นิ้วเท้า ข้อเท้า ไม่พบที่ฝ่าเท้า โดยปกติแล้ว ปัญหาสุขภาพเท้าอย่างกระเนื้อจะไม่สร้างความเจ็บปวดใด ๆ แต่บางครั้งก็อาจทำให้คุณมีอาการคันเพราะระคายเคืองเวลาสวมรองเท้าหรือถุงเท้าได้

    หากคุณพบว่า กระเนื้อที่เท้ามีสี รูปร่าง หรือผิวสัมผัสเปลี่ยนแปลงไป ควรรีบไปพบคุณหมอ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งผิวหนังได้ อย่างมะเร็งผิวหนังชนิดเบซาลเซลล์ (Basal cell Carcinoma หรือ BCC) เป็นต้น

    เท้าแบน

    เมื่ออายุมากขึ้น เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เรียกว่า “เส้นเอ็น’ ก็อาจยืด จนทำให้บริเวณกลางฝ่าเท้าที่โค้งขึ้นมา หรือที่เรียกว่า “อุ้งเท้า’ โค้งเว้าน้อยลง จนส่งผลให้เกิดภาวะเท้าแบน (Flat Feet) ได้ ผู้ที่ประสบ ปัญหาสุขภาพเท้า อย่างเท้าแบนมักจะรู้สึกเจ็บบริเวณฝ่าเท้า อาการเจ็บจะยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อคุณทำกิจกรรมที่ใช้เท้าเยอะ ๆ และมักมีอาการบวมที่บริเวณข้อเท้าและอุ้งเท้า ปวดสะโพก ปวดหัวเข่า และปวดหลังส่วนล่างร่วมด้วย

    นอกจากนี้ ภาวะเท้าแบนยังอาจทำให้มุมของเท้าเปลี่ยนแปลง จนนำไปสู่ภาวะเท้าคว่ำ หรือโรคเท้าล้ม ที่ทำให้คุณทรงตัวได้ยากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะข้อเท้าแพลง หรือเท้าพลิกได้

    เล็บเท้าเปลี่ยนแปลง

    ยิ่งอายุเพิ่มขึ้น เล็บเท้าก็จะยิ่งหนาและเปราะหักง่าย จนคุณตัดเล็บและดูแลเล็บได้ลำบากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะร่างกายหลั่งฮอร์โมนได้ช้าลง เล็บจึงเจริญเติบโตช้า อีกทั้งยังเปลี่ยนสี เปราะแตกง่าย พื้นผิวของเล็บขรุขระไม่สม่ำเสมอ

    นอกจากนี้ ภาวะขาดไทรอยด์ การไหลเวียนของเลือดที่ไม่เพียงพอเนื่องจากโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน โรคเชื้อราที่เล็บ ก็สามารถทำให้เล็บเท้าหนาขึ้นได้เช่นกัน

    นิ้วเท้าหงิกงอผิดปกติ

    ภาวะนิ้วเท้าหงิกงอผิดปกติ (Hammer Toe) คือ ภาวะที่ข้อต่อของเท้าหงิกงอจนผิดรูป ส่วนใหญ่เกิดจากการสวมรองเท้าที่คับเกินไป หรือสวมรองเท้าส้นสูงที่บีบรัดหน้าเท้าหรือบริเวณนิ้วเท้าติดต่อกันเป็นเวลานาน เมื่อมีภาวะนิ้วเท้าหงิกงอผิดปกติ ก็มักทำให้เกิดปัญหาหนังหนาแข็ง เป็นตาปลา มีอาการข้อติด มีอาการบวม เจ็บ หรือปวดได้

    วิธีการยืดเหยียดอาจช่วยให้ข้อต่อเท้าเคลื่อนที่ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถทำให้นิ้วเท้ากลับไปมีลักษณะเป็นปกติได้ ภาวะนิ้วเท้าที่หงิกงอผิดปกติจะต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัดเพื่อปรับข้อต่อเท้าเท่านั้น เช่น การผ่าตัดเชื่อมข้อเท้า (Arthrodesis) การผ่าตัดตกแต่งข้อเท้า (Arthroplasty) นอกจากนี้ การสวมใส่แผ่นประคองนิ้วเท้า เฝือกสวมนิ้วเท้า และรองเท้าที่ขนาดพอดีกับเท้า ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดหรือความไม่สบายเท้าจากภาวะนิ้วเท้าหงิกงอผิดปกติได้เช่นกัน

    เท้าบวม

    ปัญหาสุขภาพเท้า อย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยเมื่ออายุมากขึ้นก็คือ “อาการบวมน้ำ (Edema)’ เนื่องจากเลือดไหลเวียนได้ไม่ดี จึงทำให้มีของเหลวสะสมอยู่ในบริเวณแขนขาส่วนล่าง โดยเฉพาะเท้าและข้อเท้า หรือที่มักเรียกกันว่า “อาการเท้าบวม’ นั่นเอง

    โดยผู้สูงอายุที่มีอาการบวมน้ำมักมีภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive Heart Failure) โรคไต โรคตับร่วมด้วย และหากใครที่เป็นโรคเบาหวาน ก็สามารถส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือด จนเกิดอาการบวมน้ำ ได้เช่นกัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 26/07/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา