backup og meta

กระชาย สมุนไพรไทยที่ให้สรรพคุณแก่ร่างกาย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/09/2022

    กระชาย สมุนไพรไทยที่ให้สรรพคุณแก่ร่างกาย

    กระชาย เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยาค่อนข้างสูง ให้รสชาติเผ็ดร้อน ส่วนต่าง ๆ ของกระชายสามารถนำมาประกอบอาหารได้เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะส่วนที่เป็นรากหรือเหง้า ซึ่งมีสารอาหารสำคัญเป็นกลุ่มของแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น โซเดียม โพแทสเซียม ธาตุเหล็ก วิตามินซี โดยประโยชน์ของกระชายต่อสุขภาพมีหลายประการ เช่น อาจมีส่วนช่วยให้เซลล์และระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายแข็งแรง ช่วยต้านการอักเสบจากอนุมูลอิสระ ป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยบ่อย ช่วยให้สามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้นเมื่อมีอาการเจ็บป่วย

    สารอาหารในกระชายมีอะไรบ้าง

    กระชาย (Fingerroot) จัดเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา ให้สารอาหารสำคัญเป็นกลุ่มของแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย ได้แก่

  • โซเดียม
  • โพแทสเซียม
  • ธาตุเหล็ก
  • วิตามินซี 
  • สารอาหารที่โดดเด่นอีกชนิดหนึ่ง คือ กลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เช่น ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) สารพิโนสโตรบิน (Pinostrobin)

    คุณประโยชน์ต่อสุขภาพจาก กระชาย

    กระชายเป็นพืชสมุนไพรที่อยู่คู่ครัวไทยมาช้านาน มีสรรพคุณทางยาและคุณประโยชน์หลายประการ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

    ป้องกันเชื้อแบคทีเรีย

    แบคทีเรียมีส่วนสำคัญในการก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ โดยเฉพาะแบคทีเรียในกลุ่มของ บาซิลลัส ซีเรียส (Bacillus Cereus) ลิสทิเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria Monocytogenes) และสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus)

    ป้องกันเชื้อเอชไพโลไร

    เชื้อเอชไพโลไร หรือ เฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร (Helicobacter Pylori หรือ H. pylori) เป็นกลุ่มเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ แบคทีเรียชนิดนี้ก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร แผลในกระเพาะอาหาร อาหารไม่ย่อย มะเร็งกระเพาะอาหาร หรือมะเร็งลำไส้ เป็นต้น

    การรับประทานกระชายบ่อย ๆ อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรียเอชไพโลไร เพราะอุดมไปด้วยฟลาโวนอยด์ที่มีสรรพคุณช่วยยับยั้งการติดเชื้อ และต้านการอักเสบของอนุมูลอิสระ แบคทีเรีย หรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ

    ดีต่อสุขภาพช่องปาก

    ปัญหาฟันผุ นอกจากจะเกิดจากการแปรงฟันไม่สะอาด หรือเพราะการรับประทานอาหารไม่มีประโยชน์ ก็อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียในช่องปากด้วย โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ สเตร็พโตคอคคัส มิวแทนส์ (Streptococcus Mutans) และแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ที่หากมีปริมาณมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

    ด้วยสรรพคุณของกระชายที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น การเคี้ยวกระชาย ใช้ยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของกระชาย อาจช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาฟันผุได้

    ลดความเสี่ยงของแผลในกระเพาะอาหาร

    แผลในกระเพาะอาหารอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร การติดเชื้อในกระเพาะอาหาร การไม่ค่อยเคี้ยวอาหาร เป็นต้น

    กระชายเต็มไปด้วยสารพิโนสโตรบิน (Pinostrobin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มของฟลาโวนอยด์ ที่มีสรรพคุณต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ การรับประทานกระชายเป็นประจำ อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของแผลในกระเพาะอาหารได้ 

    นอกจากนี้ กระชายยังมีสรรพคุณอีกหลายประการ เช่น อาจช่วยให้เซลล์และระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายแข็งแรง ช่วยต้านการอักเสบจากอนุมูลอิสระ ป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยบ่อย สามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้นเมื่อมีอาการเจ็บป่วย รวมทั้งอาจช่วยรักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของกระชายและพืชวงศ์ขิง เผยแพร่ในวารสาร Pharmacognosy Reviews พ.ศ. 2560 รายงานว่า กระชายมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น อัลคาลอยด์ (Alkaloid) ฟลาโวนอยด์ สารประกอบฟีนอลิก (Phenolics) น้ำมันหอมระเหย ซึ่งล้วนแต่มีคุณสมบัติออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ เสริมให้ร่างกายแข็งแรง ป้องกันภูมิแพ้ ป้องกันโรคมะเร็ง และช่วยสมานแผล

    ข้อควรระวังในการบริโภค กระชาย

    โดยทั่วไปแล้วการบริโภคกระชายถือว่าปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานแต่พอดี เและมีข้อควรระวังบางประการ ดังนี้

    • ผู้ที่มีอาการแพ้กระชาย ถึงแม้จะพบได้น้อย แต่ควรระมัดระวังการรับประทานกระชาย เพื่อป้องกันอาการแพ้กำเริบ
    • สำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ควรระมัดระวังการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกระชาย เพราะอาจก่อให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะหรือคลื่นไส้ได้
    • การรับประทานกระชายในปริมาณมาก อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิด อาการท้องร่วง ท้องเสีย อาการเสียดท้อง มวนท้อง หรืออาจเสี่ยงทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา