backup og meta

อดอาหาร น้ำหนักลด จริงหรือไม่

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    อดอาหาร น้ำหนักลด จริงหรือไม่

    อดอาหาร น้ำหนักลด เป็นวิธีที่หลายคนเลือกใช้เพื่อให้ตนเองมีน้ำหนักน้อยลง ทั้งที่จริงแล้ว การที่ร่างกายขาดอาหารมักทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานน้อย น้ำหนักจึงไม่ได้ลดลงตามไปด้วย นอกจากนั้น บางคนอาจเลือกอดอาหารเช้าทั้งที่เป็นมื้อที่สำคัญที่สุดของวัน แทนที่น้ำหนักจะลดสมใจ แต่อาจทำให้อ้วนกว่าเดิม

    อดอาหาร น้ำหนักลด จริงหรือไม่

    หากต้องการลดน้ำหนัก ควรเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพในปริมาณที่พอดี ลดปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับต่อวัน ควบคู่กับการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน การอดอาหารไม่ได้ช่วยให้ผอมลง เนื่องจากสาเหตุดังต่อไปนี้

    • อัตราการเผาผลาญพลังงานลดต่ำลง ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญพลังงานได้ตามปกติ
    • ร่างกายปรับเข้าสู่ภาวะอดอาหาร หรือภาวะจำศีล จึงเริ่มกักตุนพลังงานเอาไว้ในรูปแบบของไขมัน
    • ร่างกายต้องเผชิญความเครียด จนหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ตอบสนองต่อความเครียดออกมา ฮอร์โมนตัวนี้จะทำให้หิวง่าย และรับประทานอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลอรี่ น้ำตาล หรือคาร์โบไฮเดรตสูง
    • ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอ ซึ่งนอกจากจะส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกัน และการเผาผลาญพลังงานของร่างกายแล้ว ยังทำให้อ่อนเพลีย ไม่มีพลังทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่รู้สึกอยากออกกำลังกาย จึงยิ่งทำให้น้ำหนักตัวไม่ลดลง

    หากต้องการลดน้ำหนัก ไม่ควรอดอาหารมื้อเช้าเพราะอะไร

    การนอนหลับทำให้ร่างกายไม่ได้รับอาหารเป็นเวลาหลายชั่วโมง อาหารเช้าจึงเป็นอาหารมื้อที่สำคัญมาก เพราะถือเป็นการเติมพลังงานให้ร่างกาย ผู้ที่รับประทานอาหารมื้อเช้าเป็นประจำมีแนวโน้มลดน้ำหนักได้ดีกว่าผู้ที่ชอบอดอาหารมื้อเช้า อีกทั้งมื้อเช้าที่มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบยังอาจช่วยลดความอยากอาหาร

    นอกจากนั้น หากเว้นระยะระหว่างมื้ออาหารนานเท่าไหร่ อาจทำให้ยิ่งหิวมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจาก 3 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร ระดับน้ำตาลในเลือดจะเริ่มลดลง ร่างกายจะย่อยอาหารที่รับประทานเข้าไปหมดภายใน 4 ชั่วโมง และหากไม่รับประทานอาหารเข้าไปใหม่ภายใน 5 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลในเลือดยิ่งลดลงทำให้หิวมากจนรับประทานอาหารมากเกินไปและยิ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการอดอาหารเช้าและน้ำหนักตัว เผยแพร่ในวารสาร Nutrients พ.ศ. 2564 ได้ข้อสรุปว่า การอดอาหารมื้อเช้าอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และนำไปสู่ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน อย่างไรก็ตาม ควรมีการสังเกตและติดตามผลอย่างต่อเนื่องในผู้ที่อดอาหารเช้าและผู้ที่รับประทานอาหารเช้า โดยอาจศึกษาเกี่ยวกับการขนาดและสัดส่วนของร่างกาย เช่น การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ความยาวรอบอก รอบแขน และรอบศีรษะนอกเหนือไปจากการวัดจากค่าดัชนีมวลกาย

    วิธีอื่นที่ช่วยให้น้ำหนักลดแทนการอดอาหาร

    หากต้องการให้น้ำหนักลด แทนการควบคุมอาหาร อาจเลือกปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • รับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ ในปริมาณที่พอดี โดยอย่าลืมคำนึงถึงปริมาณแคลอรี่ที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน
    • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วน
    • ไม่ทิ้งระยะอาหารแต่ละมื้อนานเกิน 5 ชั่วโมง เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และร่างกายหิวจัดจนรับประทานอาหารมากเกินไป
    • รับประทานเมื่อหิว หยุดทันทีเมื่ออิ่ม และไม่ควรนั่งแช่ที่โต๊ะอาหารหลังรับประทานอาหารเสร็จ
    • หากหิวก่อนถึงเวลาอาหารมื้อหลัก อาจรองท้องด้วยผลไม้สด หรือของกินเล่นเพื่อสุขภาพ เช่น ถั่วลิสงไม่คั่วเกลือ อัลมอนด์
    • อย่าใช้อาหารเป็นตัวช่วยแก้เครียด ให้เลือกทำกิจกรรมผ่อนคลายอื่น ๆ ที่ดีต่อสุขภาพแทน เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ นวดผ่อนคลาย

    หากต้องการให้น้ำหนักลด ควรรับประทานอาหารให้พอดี ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ไม่ควรอดอาหาร เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้น้ำหนักลดลง แต่อาจยิ่งก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา เช่น อ่อนเพลีย เป็นลม สมองช้า ท้องผูก ผิวแห้ง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา