backup og meta

ประโยชน์สุขภาพจาก ชาดอกชบา ชาดอกไม้ที่มีดีมากกว่าความสวย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 28/01/2024

    ประโยชน์สุขภาพจาก ชาดอกชบา ชาดอกไม้ที่มีดีมากกว่าความสวย

    ชาดอกชบาอาจจะเป็นชาที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมกันในประเทศไทยกันสักเท่าไหร่ แต่ชานี้กลับได้รับความนิยมค่อนข้างมากในหมู่ผู้ที่รักสุขภาพ เนื่องจากชาดอกชบานั้นโดดเด่นในเรื่องประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่างที่หลายคนไม่ควรมองข้าม วันนี้ Hello คุณหมอ จะมานำเสนอ ประโยชน์ของ ชาดอกชบา ชาดอกไม้ที่มีดีมากกว่าความสวย

    ทำความรู้จักกับ ชาดอกชบา

    ชาดอกชบา (Hibiscus Tea) ได้มาจากการชงดอกชบาแห้งในน้ำร้อน ทำให้ได้น้ำชาสีออกแดงเข้ม ชาดอกชบานั้นจะมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว คล้ายกับน้ำแครนเบอร์รี่หรือน้ำกระเจี๊ยบ ทำให้ดื่มแล้วรู้สึกสดชื่น ดับกระหาย นิยมรับประทานทั้งแบบชาร้อนและชาเย็น

    ดอกชบานั้นนอกจากจะชมเพื่อความสวยงาม หรือนำมาชงดื่มเป็นน้ำชาแล้ว ยังมีการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารของแถบอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเขตแอฟริกาตะวันตก นอกจากนี้ ยังมีการใช้ส่วนต่าง ๆ ของต้นชบา รวมไปจนถึงส่วนดอกไม้ เพื่อนำมาทำเป็นยาสมุนไพร ใช้เพื่อบรรเทาอาการและรักษาโรคต่าง ๆ ตั้งแต่ในสมัยโบราณอีกด้วย

    ประโยชน์สุขภาพดี ๆ จาก การดื่มชาดอกชบา

    ในอดีต ชาดอกชบา ได้ถูกใช้เป็นสมุนไพรในประเทศแถบแอฟริกา เพื่อใช้ในการช่วยลดไข้ ป้องกันโรคหัวใจ และบรรเทาการเจ็บคอได้ ส่วนในปัจจุบัน มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของการ ดื่มชาดอกชบา ว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังต่อไปนี้

    ช่วยลดความดันโลหิต

    งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารโภชนาการ (The Journal of Nutrition) เมื่อปี ค.ศ. 2010 ได้ทำการทดลอง ให้ผู้เข้ารับการทดลองกลุ่มหนึ่ง ดื่มชาดอกชบาวันละ 3 แก้ว ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งดื่มเครื่องดื่มอื่นที่ไม่ใช่ชาดอกชบา เป็นเวลาทั้งสิ้น 6 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มที่ได้ การดื่มชาดอกชบา จะมีระดับของความดันโลหิต น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก ดังนั้น จึงได้ข้อสรุปว่า การดื่มชาดอกชบา นั้น สามารถช่วยลดระดับของความดันโลหิตของผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้

    อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ

    ชาดอกชบานั้น เป็นชาที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่สามารถช่วยป้องกันการเสื่อมโทรมของเซลล์ในร่างกาย ช่วยต่อต้านการอักเสบ และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค ที่เกิดขึ้นจากสะสมของอนุมูลอิสระและความผิดปกติของเซลล์ เช่น โรคมะเร็ง

    โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้ทำการทดลองกับสัตว์ พบว่า สารสกัดที่ได้จากดอกชบา สามารถช่วยเพิ่มปริมาณของเอนไซม์ต่อต้านอนุมูลอิสระ และช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอนุมูลอิสระได้มากถึง 92% แต่อย่างไรก้ตาม ยังจำเป็นต้องมีการทดลองเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้ทราบว่า ผลของสารต้านอนุมูลอิสระที่พบในชาดอกชบานั้น ส่งผลอย่างไรกับร่างกายของมนุษย์กันแน่

    ช่วยลดคอเรสเตอรอล

    มีงานวิจัยบางชิ้นที่พบว่า การดื่มชาดอกชบา นั้น อาจสามารถช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอล หรือไขมันไม่ดี (LDL) ในเลือด และช่วยเพิ่มระดับของไขมันดี (HDL) ในเลือดได้ ทำให้สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้

    แต่อย่างไรก็ตาม งานวิจัยส่วนใหญ่นั้นจะยังมุ่งเน้นศึกษาเพียงแค่ในกลุ่มผู้ที่มีสภาวะพิเศษบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบการเผาผลาญ จึงยังจำเป็นต้องมีงานวิจัยเพิ่มเติม เพื่อจะได้ทราบเกี่ยวกับผลของการลดระดับคอเลสเตอรอลจาก การดื่มชาดอกชบา ว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนกันแน่

    ข้อควรระวังชาดอกชบา

    แม้ว่าการ ดื่มชาดอกชบา นั้น จะจัดได้ว่าเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างปลอดภัยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการรับประทานสารกัดจากชบาแต่การ ดื่มชาดอกชบานั้นก็อาจมีข้อควรระวังบางอย่าง เช่นเดียวกับการดื่มชาสมุนไพรอื่น ๆ

    ชาดอกชบานั้นสามารถส่งผลกระทบกับการทำงานของยาบางชนิดได้ เช่น ยาลดความดันโลหิต (Antihypertensive Drugs) เพราะชาดอกชบานั้นก็สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้เช่นกัน หากดื่มชา ดอกชบา ร่วมกับการใช้ยาลดความดัน อาจทำให้ระดับความดันโลหิตลดลงต่ำเกินไป จนเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำได้

    นอกจากนี้ ในดอกชบาก็ยังมีสารไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) สารประกอบธรรมชาติ ที่ทำหน้าที่คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในมนุษย์ การดื่มชาดอกชบาเป็นประจำ อาจส่งผลให้ยาคุมกำเนิดที่ใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีประสิทธิภาพลดลงได้

    ดังนั้น ก่อนที่คุณจะเลือกดื่มชาสมุนไพร หรือรับประทานอาหารเสริมใด ๆ อย่าลืมปรึกษาคุณหมอก่อนว่า คุณสามารถรับประทานสมุนไพรและอาหารเสริมนั้น ๆ ได้หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่อันตรายต่อตัวของคุณเอง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 28/01/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา