backup og meta

ชาอู่หลง ประโยชน์สุขภาพ และข้อควรรู้ในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 25/11/2021

    ชาอู่หลง ประโยชน์สุขภาพ และข้อควรรู้ในการบริโภค

    ชาอู่หลง เป็นชาจีนที่มีการบริโภคมาอย่างยาวนาน การบริโภคชาอู่หลงอาจให้ประโยชน์สุขภาพหลายด้าน เช่น ส่งเสริมสุขภาพหัวใจ อย่างไรก็ดี ควรบริโภคชาอู่หลงอย่างพอเหมาะ และมีปัจจัยบางประการที่อาจต้องระวัง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ

    ทำความรู้จัก ชาอู่หลง

    การดื่มชาและการชงชาเป็นวัฒนธรรมที่พบได้ในหลายภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะทวีอเอเชีย แม้ว่าชาแต่ละชนิดจะได้มาจากพืชชนิดเดียวกัน แต่กรรมวิธีในการเก็บเกี่ยว การแปรรูป ทำให้ชาแต่ละชนิดมีความพิเศษที่แตกต่างกัน

    อย่างชาอู่หลง (Oolong Tea) เป็นชาที่ผ่านกระบวนการหมักเพียงบางส่วน เริ่มจากการนำใบชาที่เก็บเกี่ยวได้ไปผึ่งแดดนาน 20-40 นาที จากนั้นจึงนำไปตากในร่ม พร้อมทั้งเขย่าให้ใบชาช้ำ ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่าการหมักเพียงบางส่วน

    คุณค่าทางโภชนาการของ ชาอู่หลง

    ชาอู่หลง 1 ถ้วย (ใบชาประมาณ 2 กรัม ต้มในน้ำประมาณ 8 ออนซ์ หรือ 240 มิลลิลิตร) ให้พลังงาน 2.4 กิโลแคลอรี่ และให้วิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหาร ดังต่อไปนี้

    • คาร์โบไฮเดรต 0.36 กรัม
    • ฟลูออไรด์ 5–24% ของปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน
    • แมงกานีส 26% ของปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน
    • โพแทสเซียม 1% ของปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน
    • โซเดียม 1% ของปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน
    • แมกนีเซียม 1% ของปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน
    • ไนอาซิน 1% ของปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน
    • คาเฟอีน 36 มิลลิกรัม

    นอกจากสารอาหารเหล่านี้ ชาอู่หลงยังมีสารที่เรียกว่าโพลีฟีนอล (Polyphenols) เช่น ทีฟลาวิน(Theaflavin) ทีรูบิจิน (Thearubigins) สาร EGCG (Epigallocatechin gallate) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยปกป้องร่างกายจากการเสื่อมของเซลล์เนื่องจากอนุมูลอิสระ จึงช่วยชะลอการเกิดโรคและริ้วรอยได้

    ประโยชน์ของชาอู่หลง ที่คนรักสุขภาพต้องลอง

    ชาอู่หลงอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ ดังนี้

    อาจช่วยเสริมสุขภาพหัวใจ

    งานศึกษาวิจัยหลายชิ้น เช่น งานศึกษาวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of the American Heart Association เมื่อปี 2018 ระบุว่า การดื่มชาอู่หลงเป็นประจำมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และความดันโลหิต ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ด้วย หรืองานศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of Epidemiology & Community Health เมื่อปี 2010 ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ใหญ่ชาวญี่ปุ่นกว่า 76,000 คน พบว่า ผู้ชายที่ดื่มชาอู่หลงอย่างน้อยวันละ 240 มิลลิกรัมมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจลดลง 61%

    อาจช่วยในการลดน้ำหนัก

    จากการศึกษาในหนูทดลองที่ได้รับอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง พบว่า หนูที่ได้รับสารสกัดจากชาอู่หลงมีปริมาณไขมันในช่องท้องน้อยกว่าหนูที่ไม่ได้รับสารสกัดจากชาอู่หลง นอกจากนี้ งานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งในผู้ใหญ่ชาวจีนที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน พบว่า ผู้ที่บริโภคชาอู่หลง 300 มิลลิลิตร วันละ 4 ครั้ง หลังจากผ่านไป 6 สัปดาห์ ผู้เข้าร่วมมากกว่าครึ่งน้ำหนักลดลงมากกว่า 1 กิโลกรัม

    อย่างไรก็ตาม งานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องกันระหว่างชาอู่หลงและการควบคุมน้ำหนักในคนอาจมีน้อยเกินไป และอาจต้องได้รับการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป

    อาจช่วยป้องกันมะเร็ง

    นักวิจัยเชื่อว่า สารต้านอนุมูลอิสระในชาอู่หลงอาจช่วยป้องกันการกลายพันธุ์ของเซลล์ที่นำไปสู่โรคมะเร็งได้ โดยงานศึกษาชิ้นหนึ่ง ที่มีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้หญิงชาวจีน พบว่า การดื่มชาเขียว ชาดำหรือชาอู่หลง มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ยังมีงานวิจัยที่ไม่เพียงพอที่จะบอกว่าการดื่มชาช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้

    ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง

    ส่วนประกอบหลายชนิดในชาอู่หลงมีส่วนช่วยรักษาการทำงานของสมอง และป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ จากการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสารของ International Life Sciences Institute (ILSI) เมื่อปี 2014 ระบุว่า สารธีอะนีน (Theanine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในชา อาจช่วยเพิ่มการทำงานของสมองและคลายความวิตกกังวลได้

    ช่วยส่งเสริมความแข็งแรงของกระดูกและฟัน

    ชาอู่หลงอุดมไปด้วยฟลูออไรด์ซึ่งสามารถช่วยให้เคลือบฟันให้แข็งแรงได้ นอกจากนี้ สารต้านอนุมูลอิสระที่พบได้ในชาอู่หลงยังมีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกระดูกและฟันด้วย

    จากการศึกษาชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร JAMA Internal Medicine เมื่อปี 2002 แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ดื่มชาดำ ชาเขียวหรือชาอู่หลงเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มเกิน 10 ปี มีความหนาแน่นของกระดูกโดยรวมเพิ่มขึ้น 2% ซึ่งความหนาแน่นของกระดูกที่เพิ่มขึ้นนี้อาจลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะกระดูกหักได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการตรวจสอบความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างชาอู่หลงและการหักของกระดูก จึงอาจต้องมีการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้เพิ่มเติมต่อไป

    ข้อควรรู้ก่อนบริโภคชาอู่หลง

    ชาอู่หลงมีคาเฟอีน หากบริโภคมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการวิตกกังวล ปวดหัว นอนไม่หลับ หัวใจเต้นผิดปกติ และอาจทำให้เกิดปัญหาความดันโลหิตสูงในบางคนได้ด้วย

    และถีงแม้สารโพลีฟีนอลในชาอู่หลงจะมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ แต่หากบริโภคมากเกินไป สารนี้อาจทำหน้าที่เป็นโปรออกซิแดนท์ (Pro-oxidants) ซึ่งกระตุ้นให้เกิดภาวะเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน  คืออนุมูลอิสระเข้าไปทำลายเซลล์ และส่งผลเสียต่อสุขภาพ

    นอกจากนี้ สารฟลาโวนอยด์ที่พบได้ในชา ยังสามารถจับกับธาตุเหล็กที่พบในอาหารจากพืช และส่งผลให้ระบบย่อยอาหารดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง 15%-67% ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาธาตุเหล็กต่ำ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มชาพร้อมการรับประทานอาหาร และควรเลือกบริโภคอาหารที่มีวิตามินซีสูงเพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 25/11/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา