backup og meta

ตรวจเบาหวานคนท้อง เพื่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในท้อง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/10/2022

    ตรวจเบาหวานคนท้อง เพื่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในท้อง

    ตรวจเบาหวานคนท้อง เป็นการตรวจระดับน้ำตาลขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากการตั้งท้องอาจส่งผลให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านฮอร์โมน โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือด และอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งท้อง ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจเบาหวาน รวมถึงอาการและการรักษาจึงจำเป็นอย่างยิ่ง

    ตรวจเบาหวานคนท้อง มีประโยชน์อย่างไร

    ตรวจเบาหวานคนท้องอาจช่วยให้ผู้หญิงที่ต้องการตั้งท้องและผู้หญิงที่ท้องแล้วทราบถึงความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานขณะตั้งท้อง เพื่อจะได้รักษาได้อย่างเหมาะสมและไม่ส่งผลกระทบต่อแม่และทารกในท้อง โดยควรเข้ารับการตรวจสุขภาพขณะท้องตามที่คุณหมอนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ หลังจากคลอดแล้ว ควรไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินว่าเบาหวานขณะตั้งท้องหายขาดแล้วหรือไม่ หรือมีความเสี่ยงต่อเบาหวานชนิดที่ 2 หลังคลอดหรือไม่

    อย่างไรก็ตาม เบาหวานขณะตั้งท้องอาจยากที่จะป้องกันได้ในบางกรณี โดยเฉพาะหากภาวะเบาหวานขณะตั้งท้องอยู่ในระดับที่รุนแรง ดังนั้น ผู้หญิงตั้งท้องจึงควรดูแลสุขภาพของตนเองเป็นพิเศษ และควรตรวจหาความเสี่ยงสุขภาพตั้งแต่ก่อนตั้งท้อง หรือตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรก เพื่อจะได้รับมือและป้องกันเบาหวานรวมทั้งภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ขณะตั้งท้องได้อย่างทันท่วงที

    เบาหวานขณะท้อง ส่งผลกระทบต่อทารกในท้องอย่างไร

    เมื่อ ตรวจเบาหวานคนท้อง แล้วพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นขณะตั้งท้อง หมายความว่า น้ำตาลส่วนเกินนั้นสะสมอยู่ในร่างกายของทารก ทำให้มีโอกาสเสี่ยงสูงที่ทารกจะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ  ดังนี้

    • ทารกมีบาดแผลในระหว่างคลอด อันเป็นผลจากขนาดตัวที่ใหญ่
    • ทารกที่เกิดมาอาจมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าปกติ
    • ทารกมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ และระดับแร่ธาตุต่ำเมื่อคลอดออกมา
    • ทารกตัวเหลือง
    • ทารกคลอดก่อนกำหนด
    • ทารกมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจในระยะสั้น

    นอกจากนี้ หากตรวจเบาหวานคนท้องแล้วพบว่าเป็นเบาหวานขณะท้อง มีแนวโน้มว่าเมื่อทารกโตขึ้นอาจมีโอกาสจะเป็นโรคอ้วนและเบาหวาน  ดังนั้น จำเป็นต้องปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำรวมถึงการปฏิบัติตัวของคุณแม่ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะดังกล่าวได้

    ผลกระทบจากการเป็นเบาหวานขณะตั้งท้อง

    คุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งท้อง อาจมีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ รวมถึงผลกระทบด้านอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

    • มีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องได้รับการผ่าคลอด
    • ความดันโลหิตสูงขณะตั้งท้อง
    • การแท้ง
    • คลอดก่อนกำหนด

    อย่างไรก็ตาม หลังจากคลอดแล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดอาจกลับเข้าสู่ระดับปกติ แต่ถ้าหากน้ำตาลในเลือดไม่ลดลงหลังคลอด อาจนำไปสู่เบาหวานชนิดที่ 2 ได้ ดังนั้น คุณแม่ต้องลดความเสี่ยงด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคอ้วนและเบาหวาน

    คุณแม่ที่ตรวจพบเบาหวานขณะตั้งท้องมักจำเป็นต้องผ่าคลอดเพื่อความปลอดภัย แต่มีผู้หญิงจำนวนมากที่เป็นเบาหวานในระหว่างตั้งท้อง แต่คลอดตามธรรมชาติได้ ทั้งนี้ จำเป็นต้องปรึกษาคุณหมอหรือสูตินรีแพทย์ เกี่ยวกับทางเลือกในการคลอดบุตร เพื่อความปลอดภัย

    ข้อควรปฏิบัติสำหรับ คุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งท้อง

    เมื่อตรวจเบาหวานคนท้องแล้วพบว่า เป็นเบาหวานขณะตั้งท้อง ควรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและปฏิบัติตัว ดังนี้

    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

    เลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ เพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ให้จำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่รับประทาน เนื่องจากอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นได้ ให้หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม ชาไข่มุก ผลไม้กระป๋อง ซีเรียล

    • หมั่นไปพบคุณหมอตามนัดหมาย

    เมื่อตรวจเบาหวานคนท้องแล้วพบความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานขณะตั้งท้อง ควรพบคุณหมอตามนัดหมายอย่างต่อเนื่อง และควรตรวจสุขภาพของทารกตามที่คุณหมอแนะนำ อาจใช้วิธีอัลตราซาวด์หรือวิธีที่ไม่ต้องใช้แรงกด

    • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด

    การทราบค่าระดับน้ำตาลในเลือด เป็นอีกวิธีที่ช่วยควบคุมอาการของโรคเบาหวานได้ การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการดูแลสุขภาพ โดยให้ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด 2 ครั้ง/วัน เพื่อเช็คระดับน้ำตาลว่ายังคงอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือต่ำกว่า

    • ใช้ยาตามที่คุณหมอสั่งจ่ายอย่างเคร่งครัด

    สำหรับผู้หญิงบางรายระดับน้ำตาลในเลือดอาจควบคุมได้โดยอินซูลิน (Insulin) หรือยาบางประเภทเท่านั้น ดังนั้น ควรใช้ยาตามที่คุณหมอสั่งจ่าย รวมถึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอเกี่ยวกับการรับประทานอาหารอย่างเคร่งครัด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา