backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

เพนท็อกซิฟิลลีน (Pentoxifylline)

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ · ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ข้อบ่งใช้ เพนท็อกซิฟิลลีน

เพนท็อกซิฟิลลีนใช้สำหรับ

เพนท็อกซิฟิลลีน (Pentoxifylline) ใช้เพื่อฟื้นฟูอาการของปัญหาการไหลเวียนของเลือดที่ขาหรือแขน อย่างเช่น อาการกะเผลกหรือปวดขาเป็นพักๆ (Intermittent claudication) ที่มีสาเหตุจากโรคหลอดเลือดแดงอุดตัน ยาเพนท็อกซิฟิลลีนสามารถลดอาการปวด เมื่อย หรือตะคริวที่กล้ามเนื้อเนื่องจากการออกกำลังกาย รวมถึงการเดิน ซึ่งเกิดพร้อมกับอาการกะเผลกหรือปวดขาเป็นพักๆ ได้ ยาเพนท็อกซิฟิลลีนอยู่ในกลุ่มของยารักษาความผิดปกติของกระแสเลือด (Hemorrheologic agents) ทำงานโดยการช่วยให้เลือดไหลเวียนผ่านหลอดเลือดแดงที่แคบได้ง่ายขึ้น ทำให้เพิ่มปริมาณการลำเลียงออกซิเจนโดยเลือดเมื่อกล้ามเนื้อนั้นต้องการออกซิเจนมากขึ้น เช่น ระหว่างการออกกำลังกาย ดังนั้น จึงเพิ่มระยะทางและระยะเวลาการเดินได้

วิธีการใช้ยาเพนท็อกซิฟิลลีน

รับประทานยานี้พร้อมกับอาหาร โดยปกติคือวันละ 3 ครั้ง หรือตามที่แพทย์กำหนด

อย่าบดหรือเคี้ยวยานี้ เพราะอาจทำให้ปล่อยยาทั้งหมดออกมาในคราวเดียว และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง และไม่ควรแบ่งยา นอกเสียจากจะมีเส้นแบ่งเม็ดยา และแพทย์หรือเภสัชกรสั่งให้คุณทำ กลืนยาทั้งเม็ดหรือเม็ดยาส่วนที่แบ่งไว้ลงไป โดยไม่ต้องบดหรือเคี้ยว

ขนาดยาขึ้นอยู่กับสภาวะทางการแพทย์ และการตอบสนองต่อการรักษา

ใช้ยาเป็นประจำเพื่อให้ได้ประโยชน์จากยาสูงสุด เพื่อให้ง่ายต่อการจำควรรับประทานยาในเวลาเดียวกันทุกวัน ควรใช้ยานี้อย่างต่อเนื่อง แม้คุณจะรู้สึกสบายดี อย่าหยุดใช้ยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ อาการอาจจะดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์ แต่อาจต้องใช้เวลานานถึง 8 สัปดาห์ กว่าจะได้รับประโยชน์สูงสุด

แจ้งให้แพทย์ทราบ หากอาการของคุณไม่หายไปหรือแย่ลง

การเก็บรักษายาเพนท็อกซิฟิลลีน

ยาเพนท็อกซิฟิลลีนควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาเพนท็อกซิฟิลลีนบางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัย โปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้งยาเพนท็อกซิฟิลลีนลงในชักโครก หรือเทลงในท่อระบายน้ำเว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้อง เมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาเพนท็อกซิฟิลลีน

ก่อนใช้ยาเพนท็อกซิฟิลลีน แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากคุณแพ้ต่อยานี้ หรือแพ้ต่อคาเฟอีน หรือทีโอฟิลลีน (theophylline) หรือหากคุณเป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆ ยานี้อาจมีสารไม่ออกฤทธิ์ที่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือปัญหาอื่น โปรดปรึกษาเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมองที่เพิ่งเป็นเมื่อไม่นานมานี้ อาการเลือดออกในดวงตาที่เพิ่งเป็นเมื่อไม่นานมานี้ ปัญหาเกี่ยวกับไต ปัญหาเกี่ยวกับตับ เพิ่งผ่านการผ่าตัดครั้งใหญ่มา หรือมีแผลในกระเพาะอาหาร

ยานี้อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนได้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือกัญชาอาจทำให้อาการวิงเวียนรุนแรงขึ้นได้ อย่าขับรถ ใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมที่ต้องการความตื่นตัว จนกว่าคุณจะสามารถทำได้อย่างปลอดภัย จำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปรึกษาแพทย์หากคุณใช้กัญชา

ก่อนการผ่าตัด แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้ (ทั้งยาตามใบสั่งยา ยาที่หาซื้อเอง และสมุนไพรต่างๆ)

ในช่วงขณะการตั้งครรภ์ควรใช้ยานี้เมื่อจำเป็นเท่านั้น โปรดปรึกษาความเสี่ยงและประโยชน์กับแพทย์

ยานี้สามารถส่งผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่ได้ โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้

ยาเพนท็อกซิฟิลลีนจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด C โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยาเพนท็อกซิฟิลลีน

อาจเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีแก๊ส เรอ และวิงเวียนได้ หากอาการเหล่านี้ไม่หายไป หรือรุนแรงขึ้นโปรดแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรในทันที

โปรดจำไว้ว่า การที่แพทย์ให้คุณใช้ยาตัวนี้ เนื่องจากคำนวณแล้วว่า ยามีประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ และคนที่ใช้ยานี้ส่วนใหญ่ไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆ

แจ้งให้แพทย์ทราบในทันที หากเกิดผลข้างเคียงที่หายากแต่รุนแรงมากดังต่อไปนี้ หัวใจเต้นเร็วหรือหัวใจเต้นผิดปกติ มีรอยช้ำหรือเลือดออกง่าย

รับการรักษาในทันที หากเกิดผลข้างเคียงที่หายาก แต่รุนแรงมากดังต่อไปนี้คือ เจ็บหน้าอก

การแพ้ยาที่รุนแรงต่อยานี้ ค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาการของการแพ้รุนแรงมีดังนี้ ผดผื่น คันหรือบวม (โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลิ้น และลำคอ) วิงเวียนขั้นรุนแรง หายใจติดขัด

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้ และอาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ได้แก่ ยาอื่นที่สามารถทำให้เกิดอาการเลือดไหลหรือรอยช้ำ รวมถึงยาต้านลิ่มเลือด (antiplatelet drugs) เช่น โคลพิโดเกรล (clopidogrel) ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) คีโตโรแลค (ketorolac) หรือนาพรอกเซน (naproxen) ยาเจือจางเลือด เช่น วาฟาริน (warfarin) หรือดาบิดาแทรน (dabigatran)

ยาแอสไพรินสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการเลือดออก เมื่อใช้ร่วมกับยานี้ได้ แต่หากแพทย์สั่งให้คุณใช้ยาแอสไพรินขนาดต่ำ เพื่อป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดฉับพลัน หรือโรคหลอดเลือดสมอง (ขนาดยาตามปกติคือ 81-325 มก. ต่อวัน) คุณควรใช้ยานั้นต่อไป นอกเสียจากแพทย์จะสั่งอย่างอื่น

ยาเพนท็อกซิฟิลลีนอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาใดๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาเพนท็อกซิฟิลลีนอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาเพนท็อกซิฟิลลีนอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาเพนท็อกซิฟิลลีนสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาอาการกะเผลกหรือปวดขาเป็นพักๆ (Intermittent Claudication)

  • 400 มก. รับประทานวันละ 3 ครั้ง หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นแนะนำให้ลดขนาดยาลงมาที่ 400 มก. วันละสองครั้ง

การปรับขนาดยาสำหรับไต

  • ค่าครีอะตินีนเคลียรานซ์ (Creatine Clearance) 10 ถึง 50 มล./นาที: 400 มก. รับประทานวันละสองครั้ง หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นแนะนำให้ลดขนาดยาลงมาที่ 400 มก. วันละครั้ง
  • ค่าครีอะตินีนเคลียรานซ์น้อยกว่า 10 มล./นาที: 400 มก. รับประทานวันละครั้ง อาจจำเป็นต้องลดขนาดยาเพิ่มขึ้น เช่น 200 มก. ต่อวัน แต่ยาในปัจจุบัน (ยาออกฤทธิ์นานหรือออกฤทธิ์แบบควบคุม ไม่เรียงลำดับ) อาจต้องปรับมาเป็น 400 มก. ทุกวันเว้นวัน

หมายเหตุ: ยาเพนท็อกซิฟิลลีนนั้นไม่สามารถขับออกโดยไม่เปลี่ยนแปลงทางปัสสาวะได้ แต่กระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพของยา (pharmacologically active metabolite) อาจเกิดการสะสมในผู้ป่วยที่มีไตบกพร่อง และเพิ่มฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและความเป็นพิษ

การปรับขนาดยาสำหรับตับ

400 มก. รับประทานวันละสองครั้ง หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นแนะนำให้ลดขนาดยาลงมาที่ 400 มก. วันละครั้ง

การปรับขนาดยา

ในผู้ป่วยที่มีทั้งภาวะไตและตับวาย ควรลดขนาดยาลงมาที่ 400 มก. วันละครั้ง

ข้อควรระวัง

ผู้ที่มีไตบกพร่อง และ/หรือ ตับบกพร่อง ควรเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์อย่างใกล้ชิด

การฟอกไต (Dialysis)

ข้อมูลที่จำกัดแสดงให้เห็นว่า ยาเพนท็อกซิฟิลลีนสามารถกำจัดได้พอสมควร ขณะทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis) ดังนั้น จึงควรให้ยาหลังจากทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

คำแนะนำอื่นๆ

ยาเพนท็อกซิฟิลลีนนั้นควรรับประทานพร้อมกับอาหาร เพื่อลดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร ควรใช้ยาเพนท็อกซิฟิลลีนเป็นเวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์ เพื่อดูประสิทธิภาพของยา

ขนาดยาเพนท็อกซิฟิลลีนสำหรับเด็ก

ยังไม่มีการพิสูจน์ความความปลอดภัย และประสิทธิภาพของขนาดยานี้สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเด็ก ยานี้อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจกับความปลอดภัยของยาก่อนการใช้ยา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อกับแพทย์หรือเภสัชกร

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาเม็ดสำหรับรับประทานแบบออกฤทธิ์นาน
  • ยาผงสำหรับผสม

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ในทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา