backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

โพแทสเซียมไอโอไดด์ (Potassium iodide)

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ · ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ข้อบ่งใช้ โพแทสเซียมไอโอไดด์

โพแทสเซียมไอโอไดด์ (Potassium iodide) ใช้สำหรับ

โพแทสเซียมไอโอไดด์ (Potassium iodide) เป็นยาที่ใช้เพื่อละลายและขับเสมหะในทางเดินหายใจ ช่วยให้คุณไอเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้นและหายใจได้สะดวกขึ้น หากคุณมีปัญหาเกี่ยวกับปอดในระยะยาว เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอักเสบเรื้อรัง หรือโรคถุงลมโป่งพอง ยานี้เป็นยาขับเสมหะ

ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์นั้นยังใช้ร่วมกับยาต้านไทรอยด์ เพื่อเตรียมต่อมไทรอยด์สำหรับการผ่าตัด เพื่อรักษาภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน และเพื่อป้องกันต่อมไทรอยด์จากการได้รับรังสีแบบฉุกเฉิน ยานี้ทำงานโดยการลดขนาดของต่อมไทรอยด์ และลดปริมาณการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์

สำหรับการฉายรังสีแบบฉุกเฉิน ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์จะปิดกั้นเพียงแค่ไม่ให้ไทรอยด์ดูดซึมสารไอโอดีนกัมมันตรังสี (radioactive iodine) ป้องกันไม่ให้ไทรอยด์เสียหาย และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งไทรอยด์

วิธีการใช้ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์

รับประทานยานี้พร้อมกับน้ำเต็มแก้ว (8 ออนซ์หรือ 240 มล.) ตามที่แพทย์กำหนด เพื่อหลีกเลี่ยงอาการท้องไส้ปั่นป่วน ควรรับประทานยานี้หลังจาก หรือพร้อมกับมื้ออาหาร ดื่มน้ำพร้อมกับยาให้มาก ยกเว้นแต่แพทย์จะสั่งอย่างอื่น หากคุณใช้ยาแบบเม็ดไม่ควรล้มตัวลงนอนในช่วง 10 นาทีหลังจากรับประทานยา หากคุณใช้ยาแบบหยดหรือยาน้ำ ควรใช้ที่หยดยาที่มาพร้อมกับขวด หรือใช้เครื่องมือหรือช้อนสำหรับตวงยา เพื่อตวงขนาดยาที่ถูกต้อง สามารถผสมยาน้ำกับน้ำเปล่า นม หรือน้ำผลไม้ก่อนรับประทานยา อย่าใช้ยานี้ หากยาเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล

ขนาดยาขึ้นอยู่กับสภาวะทางการแพทย์ และการตอบสนองต่อการรักษา สำหรับเด็กนั้น ขนาดยายังขึ้นอยู่กับอายุอีกด้วย อย่าเพิ่มขนาดยา รับประทานบ่อยกว่า หรือรับประทานนานกว่าที่กำหนด เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง

สำหรับการฉายรังสีแบบฉุกเฉิน ควรใช้ยานี้ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและความปลอดภัยสั่งให้คุณใช้เท่านั้น เริ่มต้นการรักษาให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้เพื่อผลการป้องกันที่ดีที่สุด รับประทานยานี้เป็นประจำ โดยปกติคือทุกๆ 24 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและความปลอดภัยจะเป็นผู้กำหนดระยะเวลาในการรักษาโดยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ (เช่น หากคุณมีการได้รับรังสีอย่างต่อเนื่อง หากคุณตั้งครรภ์ ให้นมบุตร หรือมีบุตรแรกคลอด)

หากได้รับคำสั่ง ควรใช้ยานี้เป็นประจำเพื่อให้ได้ประโยชน์จากยาสูงสุด เพื่อให้ง่ายต่อการจำ ควรรับประทานยาในเวลาเดียววันทุกวัน

แจ้งให้แพทย์ทราบ หากอาการของคุณไม่หายไปหรือแย่ลง

การเก็บรักษายาโพแทสเซียมไอโอไดด์

ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์ควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์บางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัย โปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้งยาโพแทสเซียมไอโอไดด์ ลงในชักโครก หรือเทลงในท่อระบายน้ำเว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้องเมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์

ก่อนใช้ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ หากคุณแพ้ต่อยานี้ แพ้ต่อไอโอดีน หรือหากคุณเป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆ ยานี้อาจมีสารไม่ออกฤทธิ์ที่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือปัญหาอื่น โปรดปรึกษาเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ไม่ควรใช้ยานี้หากคุณมีสภาวะบางอย่าง ก่อนใช้ยานี้โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรหากคุณมีอาการดังต่อไปนี้ ได้แก่ โรคหลอดลมอักเสบกำเริบหรือรุนแรงขึ้น (หากคุณใช้ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์เพื่อลดเสมหะภายในปอด) สภาวะผิวหนังบางอย่าง เช่น ผิวหนังอักเสบจากเริม โรคหลอดเลือดบางอย่าง เช่น โรคหลอดเลือดอักเสบเนื่องจากขาดส่วนประกอบในเลือด โรคที่เกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ที่มาพร้อมกับโรคหัวใจ

ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ โดยเฉพาะความผิดปกติของไทรอยด์บางชนิด เช่น โรคคอพอกแบบหลายก้อน (multinodular goiter) โรคคอพอกตาโปน โรคไทรอยด์อักเสบจากระบบภูมิคุ้มกันตัวเอง โรคต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (ยกเว้นว่าคุณจะได้รับกำหนดให้ใช้ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์เพื่อรักษาโรคนี้โดยเฉพาะ) วัณโรค ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง โรคไต โรคแอดดิสัน (Addison’s disease) ความผิดปกติของกล้ามเนื้อบางอย่าง เช่น โรคมัยโอโทเนีย คอนเจนิตา (myotonia congenita)

ควรระมัดระวังเมื่อใช้ยานี้กับทารกแรกเกิดที่อายุน้อยกว่า 1 เดือน ควรหลีกเลี่ยงการรักษามากกว่า 1 วัน เนื่องจากการใช้ยาซ้ำ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการปิดกั้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ และอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของสมองของเด็กทารก หากจำเป็นต้องรักษานานเกินกว่า 1 วัน โปรดปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงและประโยชน์ ทารกที่ได้รับการรักษา ควรได้รับการตรวจสมรรถภาพของต่อมไทรอยด์

ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ ควรใช้ยานี้เมื่อจำเป็นเท่านั้น ควรหลีกเลี่ยงการรักษานานเกินกว่า 1 วัน เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาซ้ำที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการปิดกั้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ และอาจเป็นอันตรายได้ หากจำเป็นต้องรักษานานเกินกว่า 1 วัน โปรดปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงและประโยชน์

ควรระมัดระวังหากใช้ยานี้ในผู้หญิงที่กำลังให้นมบุตร ยานี้สามารถผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่ได้ ควรหลีกเลี่ยงการรักษานานเกินกว่า 1 วัน หากคุณกำลังให้นมบุตร เนื่องจากการใช้ยาซ้ำ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการปิดกั้นการทำงานของไทรอยด์ในทารก ผลนี้อาจเป็นอันตราย โดยเฉพาะสำหรับทารกแรกเกิดที่อายุน้อยกว่า 1 เดือน หากจำเป็นต้องรักษานานเกินกว่า 1 วัน โปรดปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงและประโยชน์ และสอบถามว่าคุณควรจะหยุดให้นมบุตรหรือไม่

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้

ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์จัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด D โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์

อาจเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง มีรสชาติของโลหะภายในปาก เป็นไข้ ปวดหัว หรือสิว หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือรุนแรงขึ้น โปรดแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรในทันที

หากแพทย์สั่งให้คุณใช้ยานี้ โปรดจำไว้ว่า การที่แพทย์ให้คุณใช้ยาตัวนี้ เนื่องจากคำนวณแล้วว่า ยามีประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ และคนที่ใช้ยานี้ส่วนใหญ่ไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆ

แจ้งให้แพทย์ทราบในทันที หากเกิดผลข้างเคียงที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้นแต่รุนแรงดังต่อไปนี้ ได้แก่ แสบร้อนที่ปากหรือลำคอ ปวดฟันหรือเหงือก มีอาการบวมภายในปาก น้ำลายเพิ่มขึ้น ดวงตาระคายเคืองหรือเปลือกตาบวม ปวดหัวอย่างรุนแรง มีอาการบวมที่ลำคอส่วนหน้าหรือคอพอก (goiter) มีสัญญาณการทำงานต่อมไทรอยด์ที่ลดลง (เช่น น้ำหนักเพิ่มขึ้น ไม่สามารถทนความเย็นได้ หัวใจเต้นช้าหรือผิดปกติ ท้องผูก เหนื่อยล้าผิดปกติ) สับสน มีอาการเหน็บ ชา ปวด และอ่อนแรงที่มือหรือเท้า

รับการรักษาในทันทีหากเกิดผลข้างเคียงที่หายากแต่รุนแรงมากดังต่อไปนี้ ได้แก่ ปวดหน้าอก อุจจาระสีดำ อาเจียนเหมือนกากกาแฟ ท้องร่วงเหลว

การแพ้ยาที่รุนแรงต่อยานี้ ค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาการของการแพ้รุนแรงมีดังนี้คือ ผดผื่น คันหรือบวม (โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลิ้น และลำคอ) วิงเวียนขั้นรุนแรง หายใจติดขัด เป็นไข้และมีอาการปวดข้อต่อ

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้ และอาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้ ทั้งยาตามใบสั่งยา ยาที่หาซื้อเอง และสมุนไพรต่างๆ โดยเฉพาะยาในกลุ่มเออีซี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitors) เช่น แคปโตพริล (captopril) หรือลิซิโนพริล (lisinopril) แองจิโอเทนซินทูรีเซฟเตอร์บล็อกเกอร์ (angiotensin receptor blockers) เช่น ยาในกลุ่มเออาร์บี (ARBs) อย่างลอซาร์แทน (losartan) หรือวาลซาร์แทน (valsartan) ยาขับน้ำบางชนิด เช่น โปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติก (potassium-sparing diuretics) อย่างอะมิโลไรด์ (amiloride) สไปโรโนแลกโทน (spironolactone) หรือไตรแอมเทอรีน (triamterene) ดรอสไพรีโนน (drospirenone) อีพลีรีโนน (eplerenone) ลิเทียม (lithium) ผลิตภัณฑ์ที่มีโพแทสเซียม เช่น อาหารเสริมอย่างโพแทสเซียมคลอไรด์ (potassium chloride)

ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์อาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาใดๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์อาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์อาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาโพแทสเซียมไอโอไดด์สำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่ออาการไอ

300 ถึง 650 มก. รับประทานวันละ 3 ถึง 4 ครั้ง

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน

สารละลายสำหรับรับประทาน: 250 มก. รับประทานวันละ 3 ครั้ง ให้ภายใน 10 ถึง 14 วันก่อนการผ่าตัดต่อมไทรอยด์

อาจให้เป็น 0.25 มล. ของสารละลายยาโพแทสเซียมไอโอไดด์ (สูตรยาเอสเอสเคไอ [SSKI]) 1 กรัม/มล. หรือให้เป็น 4 มล. ของสารละลาย 325 มก./5 มล. อีกทางเลือกหนึ่งคือหยดยาโพแทสเซียมไอโอไดด์ 10% 2 ถึง 6 หยด/สารละลายไอโอดีน 5% รับประทานวันละ 3 ครั้งพร้อมกับอาหาร

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคสปอโรทริโคสิสที่ผิวหนัง (Cutaneous Sporotrichosis)

250 ถึง 500 มก. รับประทานวันละ 3 ค่อยๆ เพิ่มขนาดยาไปจนถึงสูงสุดที่ 2 ถึง 2.5 กรัม วันละ 3 ครั้ง ใช้ยาอย่างต่อเนื่องในขนาดยาสูงสุดเท่าที่ทนได้จนกระทั่งแผลที่ผิวหนังหายไป โดยปกติคือ 6 ถึง 12 สัปดาห์

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อการฉายรังสีฉุกเฉิน

ผู้หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรที่ได้รับรังสีมากกว่าหรือเท่ากับ 5 เซนติเกรย์ (cGy): รับประทาน 130 มก. ต่อวัน

อายุมากกว่า 18 ปีและน้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 ปี โดยมีการได้รับรังสีมากกว่าหรือเท่ากับ 10 เซนติเกรย์: รับประทาน 130 มก. ต่อวัน

อายุมากกว่า 40 ปีโดยมีการได้รับรังสีมากกว่าหรือเท่ากับ 500 เซนติเกรย์: รับประทาน 130 มก. ต่อวัน

การปรับขนาดยาสำหรับไต

ควรใช้ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์ด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีภาวะไตบกพร่อง เนื่องจากการกรองอิเล็กโทรไลต์ (electrolytes) ของไตที่บกพร่อง อาจเกิดการเพิ่มขึ้นของเซรั่มโพแทสเซียมในผู้ป่วยที่มีภาวะไตบกพร่อง

คำแนะนำอื่นๆ

ให้ยาหลังมื้ออาหารพร้อมกับอาหาร นม หรือละลายในน้ำเปล่า น้ำผลไม้ หรือน้ำซุปปริมาณมาก

ขนาดยาโพแทสเซียมไอโอไดด์สำหรับเด็ก

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่ออาการไอ

60 ถึง 250 มก. รับประทานวันละ 4 ถึง 6 ครั้ง ขนาดยาสูงสุดคือ 500 มก.

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน

สารละลายสำหรับรับประทาน: 250 มก. รับประทานวันละ 3 ครั้ง ให้ภายใน 10 ถึง 14 วันก่อนการผ่าตัดต่อมไทรอยด์

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาโรคสปอโรทริโคสิสที่ผิวหนัง (Cutaneous Sporotrichosis)

250 ถึง 500 มก. รับประทานวันละ 3 ค่อยๆ เพิ่มขนาดยาไปจนถึงสูงสุดที่ 1.5 ถึง 2 กรัม วันละ 3 ครั้ง ใช้ยาอย่างต่อเนื่องในขนาดยาสูงสุดเท่าที่ทนได้จนกระทั่งแผลที่ผิวหนังหายไป โดยปกติคือ 6 ถึง 12 สัปดาห์

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อการฉายรังสีฉุกเฉิน

  • อายุน้อยกว่า 1 เดือน โดยมีการรับรังสีมากกว่าหรือเท่ากับ 5 เซนติเกรย์: รับประทาน 16 มก. ต่อวัน
  • อายุมากกว่า 1 เดือนและน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 ปี โดยมีการได้รับรังสีมากกว่าหรือเท่ากับ 5 เซนติเกรย์: รับประทาน 32 มก. ต่อวัน
  • อายุมากกว่า 3 ปีและน้อยกว่าหรือเท่ากับ 18 ปี (น้ำหนักน้อยกว่า 70 กก.) โดยมีการได้รับรังสีมากกว่าหรือเท่ากับ 5 เซนติเกรย์: รับประทาน 65 มก. ต่อวัน
  • อายุมากกว่า 13 ปี น้ำหนักมากกว่าหรือเท่ากับ 70 กก. โดยมีการได้รับรังสีมากกว่าหรือเท่ากับ 5 เซนติเกรย์: รับประทาน 130 มก. ต่อวัน

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • สารละลายสำหรับรับประทาน
  • ยาน้ำสำหรับรับประทาน
  • ยาผงสำหรับผสม
  • ยาเม็ดสำหรับรับประทาน

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ในทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา