backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ซินทรอยด์® (Synthroid®)

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ · ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ซินทรอยด์® (Synthroid®)

ข้อบ่งใช้

ซินทรอยด์® (ยาลีโวไทร็อกซีน โซเดียม) ใช้สำหรับ

ซินทรอยด์® (Synthroid®) เป็นยาไทรอยด์ (thyroid medicine) ที่ช่วยทดแทนฮอร์โมนที่ตามปกติจะผลิตขึ้นโดยต่อมไทรอยด์ เพื่อทำให้พลังงานในร่ายกายและกระบวนการเผาผลาญเป็นปกติ ยาลีโวไทร็อกซีน โซเดียม จะใช้เมื่อต่อมไทรอยด์ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนออกมาได้เพียงพอ

ซินทรอยด์® ใช้เพื่อรักษาภาวะขาดไทรอยด์ (hypothyroidism) ทั้งยังใช้เพื่อรักษาและป้องกันโรคคอพอก (goiter) หรือต่อมไทรอยด์โต ซึ่งอาจเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมน การฉายรังสีบำบัด (radiation treatment) การผ่าตัดหรือโรคมะเร็ง

วิธีใช้ซินทรอยด์® (ยาลีโวไทร็อกซีน โซเดียม)

ใช้ซินทรอยด์® ตามที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด ควรทำตามวิธีการใช้ยาทั้งหมดบนฉลากยา บางครั้งแพทย์อาจจะเปลี่ยนขนาดยาของคุณ อย่าใช้ยาในขนาดที่มากกว่า น้อยกว่า หรือใช้ยานานกว่าที่แนะนำ

ยานี้จะทำงานได้ดีที่สุดหากรับประทานขณะท้องว่าง ครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงก่อนอาหารเช้า การดูดซึมยาลีโวไทร็อกซีน โซเดียมจะเพิ่มขึ้นขณะท้องว่าง ควรทำตามคำแนะนำการใช้ยาของแพทย์ และพยายามใช้ยาในเวลาเดียวกันทุกวัน

หากเด็กใช้ยานี้ โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีเด็กมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านน้ำหนัก ขนาดของยาลีโวไทร็อกซีน โซเดียมนั้นจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของเด็ก  และความเปลี่ยนแปลงนี้อาจส่งผลกระทบต่อขนาดยาของลูกคุณได้

อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าที่ร่างกายของคุณจะเริ่มตอบสนองต่อซินทรอยด์® ควรใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องแม้ว่า คุณจะรู้สึกเป็นปกติ คุณอาจจะจำเป็นต้องใช้ยายาลีโวไทร็อกซีน โซเดียมไปตลอดชีวิต

ขณะที่กำลังใช้ซินทรอยด์® คุณอาจจะต้องรับการตรวจทางการแพทย์เป็นประจำ โปรดแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ที่รักษาคุณทราบว่าคุณกำลังใช้ยานี้

การเก็บรักษาซินทรอยด์® (ยาลีโวไทร็อกซีน โซเดียม)

ซินทรอยด์®ควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นแสงและความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเสื่อมสภาพ ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง หากมีข้อสงสัยควรอ่านคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์หรือสอบถามเภสัชกรเสมอ และโปรดเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเพื่อความปลอดภัย

ไม่ควรทิ้งซินทรอยด์® ลงในชักโครก หรือเทยาลงในท่อระบายน้ำ เว้นเสียแต่จะได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น หากยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยา ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้อง โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเภสัชกร

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ซินทรอยด์® (ยาลีโวไทร็อกซีน โซเดียม)

ก่อนใช้ซินทรอยด์® โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณมีภาวะดังต่อไปนี้

  • วางแผนตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร เนื่องจากในช่วงที่ตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น
  • กำลังใช้ยาอื่นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง สมุนไพร เป็นต้น
  • แพ้สารออกฤทธิ์หรือไม่ออกฤทธิ์ของซาแน็กซ์® หรือยาอื่นๆ
  • มีอาการป่วย มีความผิดปกติ หรือมีสภาวะทางการแพทย์อื่นๆ

เนื่องจากฮอร์โมนไทรอยด์เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายสามารถผลิตได้เอง แทบทุกคนจึงใช้ซินทรอยด์® ได้ แต่คุณอาจจะไม่สามารถใช้ยานี้ได้หากคุณมีสภาวะบางอย่าง

โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณเพิ่งได้รับการฉายรังสีบำบัดโดยใช้ไอโอดี เช่นไอ-131 ( I-131)

คาดกันว่า ยาลีโวไทร็อกซีน โซเดียมไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ หากคุณตั้งครรภ์ขณะที่กำลังใช้ซินทรอยด์® อย่าหยุดใช้ยาโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ การมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำในช่วงตั้งครรภ์นั้น อาจเป็นอันตรายต่อแม่และเด็ก ขนาดยาของคุณอาจจะแตกต่างไปในช่วงที่ตั้งครรภ์

ยาลีโวไทร็อกซีน โซเดียมสามารถผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่ แต่คาดกันว่าไม่เป็นอันตรายต่อทารก โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณกำลังให้นมบุตร ขนาดยาของคุณอาจจะแตกต่างไปในช่วงที่กำลังให้นมบุตร

หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจทำให้ร่างกายของคุณดูดซึมยาลีโวไทร็อกซีน โซเดียมได้น้อยลง เช่น นมผงถั่วเหลืองสำหรับทารก กากเมล็ดฝ้าย (cotton seed meal) วอลนัท อาหารที่มีใยอาหารสูง

อย่าใช้ยานี้กับเด็กโดยไม่ได้รับคำแนะนำทางการแพทย์

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้

ซินทรอยด์® จัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด A โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A = ไม่มีความเสี่ยง
  • B = ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C = อาจจะมีความเสี่ยง
  • D = มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X = ห้ามใช้
  • N = ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ซินทรอยด์® (ยาลีโวไทร็อกซีน โซเดียม)

ผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปมีดังนี้

  • ตะคริวที่ขา
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ปวดศีรษะ
  • รู้สึกประหม่าหรือหงุดหงิด
  • ท้องเสีย
  • ผื่นผิวหนัง
  • ผมร่วงแบบไม่รุนแรง

โปรดติดต่อแพทย์ทันที หากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้

  • หัวใจเต้นเร็วหรือผิดปกติ
  • ปวดหน้าอก รู้สึกหายใจลำบาก
  • เป็นไข้ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออก
  • รู้สึกหนาวผิดปกติ
  • อ่อนแรง
  • เหนื่อยล้า
  • นอนไม่หลับ
  • มีปัญหากับความจำ
  • รู้สึกซึมเศร้าหรือหงุดหงิด
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ผิวหรือผมแห้งเสีย
  • ผมร่วง
  • ประจำเดือนเปลี่ยนแปลง
  • อาเจียน
  • ท้องร่วง
  • ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง
  • น้ำหนักลด

รับการรักษาพยาบาลฉุกเฉินทันทีหากคุณมีสัญญาณของอาการแพ้ ได้แก่ ลมพิษ หายใจติดขัด บวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ

ผลข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้น อาจไม่ได้เกิดกับทุกคน หรือบางคนอาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากนี้ หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ซินทรอยด์® อาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น

คุณควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรด้วยว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง สมุนไพร เป็นต้น และเพื่อความปลอดภัย คุณไม่ควรเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาเองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ยาบางตัวอาจทำให้ยาลีโวไทร็อกซีน โซเดียมออกฤทธิ์น้อยลง หากรับประทานในเวลาเดียวกัน หากคุณจำเป็นต้องรับประทานยาต่อไปนี้ ให้รับประทานก่อนซินทรอยด์® 4 ชั่วโมง หรือหลังรับประทานซินทรอยด์® 4 ชั่วโมง

  • แคลเซียมคาร์บอนเนต
  • คลอเรสไทรามีน
  • คอเลสติปอล
  • เฟอรัสซัลเฟต
  • ซูครัลเฟต
  • โซเดียมโพลีสไตรีนซัลโฟเนต
  • ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียมหรือแมกนีเซียม
  • ปฏิกิริยาต่ออาหารและแอลกอฮอล์

    ซินทรอยด์® อาจมีปฏิกิริยากับอาหาร หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

    ปฏิกิริยาต่ออาการโรค

    ซินทรอยด์® อาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

    โรคที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ ได้แก่

    • ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ที่เรียกว่า ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (thyrotoxicosis)
    • โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery disease) เคยมีลิ่มเลือด
    • โรคเบาหวาน อาจต้องเปลี่ยนขนาดยาอินซูลินหรือยาสำหรับโรคเบาหวานแบบรับประทานขณะที่กำลังใช้ยาซินทรอยด์
    • ภาวะโลหิตจาง (Anemia)
    • โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) หรือความหนาแน่นของต่ำ
    • ปัญหาเกี่ยวกับต่อมหมวกไต
    • โรคภูมิแพ้อาหารหรือยาใดๆ
    • ความผิดปกติของต่อมหมวกไต (adrenal gland disorder) ที่ไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมไม่ได้
    • ภาวะหัวใจวายหรือกำลังมีอาการของโรคหัวใจวาย (ปวดหน้าอกหรือรู้สึกหนัก อาการปวดแพร่ไปถึงกรามหรือไหล่ คลื่นไส้ เหงื่อออก รู้สึกป่วยทั่วไป)

    ขนาดยา

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

    ขนาดยาของซินทรอยด์® (ยาลีโวไทร็อกซีน โซเดียม) สำหรับผู้ใหญ่

    ภาวะขาดไทรอยด์ปฐมภูมิในผู้ใหญ่และวัยรุ่น ที่มีการเจริญเติบโตและการเจริญพันธุ์สมบูรณ์

    เริ่มต้นใช้ยาในขนาดยาทดแทนทั้งหมดสำหรับผู้ป่วยที่สุขภาพดีและไม่ใช่ผู้สูงอายุที่มีภาวะขาดไทอรยด์เป็นระยะเวลาสั้นๆ (เช่น ไม่กี่เดือน)

    ค่าเฉลี่ยขนาดยาทดแทนทั้งหมดของซินทรอยด์® : ประมาณ 1.6 ไมโครกรัม ต่อกก. ต่อวัน

    ปรับขนาดยาเพิ่มขึ้นในขนาด 12.5 ถึง 25 ไมโครกรัม ทุกๆ 4 ถึง 6 สัปดาห์ จนกระทั่งต่อมไทรอยด์ของผู้ป่วยอยู่ในภาวะปกติ (euthyroid) และระดับเซรั่มฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์กลับมาเป็นปกติ

    ในบางครั้งอาจต้องใช้ขนาดยามากกว่า 200 ไมโครกรัมต่อวัน

    การตอบสนองที่ไม่เพียงพอต่อปริมาณในแต่ละวันที่มากกว่า 300 ไมโครกรัมต่อวันนั้นหาได้ยาก และอาจจะบ่งบอกถึงการปฏิบัติตามคำแนะนำได้ไม่ดี การดูดซึมผิดปกติ ปฏิกิริยาของยา หรือปัจจัยเหล่านี้ร่วมกัน

    สำหรับผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจร่วมด้วยให้เริ่มต้นในขนาด 12.5 ถึง 25 ไมโครกรัมต่อวัน เพิ่มขนาดยาทุกๆ 6 ถึง 8 สัปดาห์ เท่าที่จำเป็น จนกระทั่งต่อมไทรอยด์ของผู้ป่วยจะอยู่ในภาวะปกติและระดับเซรั่มฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์กลับมาเป็นปกติ ขนาดยาทดแทนทั้งหมดสำหรับผู้สูงอายุอาจจะน้อยกว่า 1 ไมโครกรัมต่อวัน

    สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะขาดไทรอยด์มานาน ให้เริ่มต้นที่ขนาด 12.5 ถึง 25 ไมโครกรัมต่อวัน ปรับขนาดยาเพิ่มในขนาด 12.5 ถึง 25 ไมโครกรัมทุกๆ 2 ถึง 4 สัปดาห์จนกระทั่งต่อมไทรอยด์ของผู้ป่วยจะอยู่ในภาวะปกติ และระดับเซรั่มฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์กลับมาเป็นปกติ

    ภาวะขาดไทรอยด์ทุติยภูมิหรือตติยภูมิ

    เริ่มต้นใช้ยาในขนาดยาทดแทนทั้งหมดสำหรับผู้ป่วยที่สุขภาพดีและไม่ใช่ผู้สูงอายุ

    เริ่มต้นใช้ยาในขนาดที่ต่ำกว่าสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดแฝง หรือผู้ป่วยที่มีภาวะขาดไทรอยด์มานานตามที่อธิบายไว้ด้านบน

    ระดับเซรั่มฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์นั้นไม่ใช่ตัววัดที่น่าเชื่อถือสำหรับขนาดยานี้ที่เพียงพอในผู้ป่วยที่มีภาวะขาดไทรอยด์ทุติยภูมิหรือตติยภูมิ และไม่ควรใช้เพื่อเฝ้าสังเกตการรักษา

    ใช้ระดับเซรั่มฟรี ที4 (serum free-T4 level) เพื่อเฝ้าสังเกตความเพียงพอของการรักษาในผู้ป่วยกลุ่มนี้

    ปรับขนาดยาตามคำแนะนำข้างต้น จนกระทั่งต่อมไทรอยด์ของผู้ป่วยจะอยู่ในภาวะปกติและระดับเซรั่มฟรี ที4 กลับมาสู่ครึ่งบนของช่วงปกติ

    ตั้งครรภ์

    • ภาวะขาดไทรอยด์ที่มีอยู่แล้ว

    ขนาดยาซินทรอยด์ที่ต้องการอาจจะเพิ่มขึ้นเมื่อตั้งครรภ์

    ควรตรวจวัดระดับของเซรั่มฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์และฮอร์โมนฟรี ที4 ให้เร็วที่สุดเมื่อยืนยันแล้วว่าตั้งครรภ์ และอย่างน้อยที่สุด ในช่วงแต่ละไตรมาสของการตั้งครรภ์

    สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะขาดไทรอยด์ปฐมภูมิ ให้รักษาระดับของเซรั่มฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ในช่วงอ้างอิงเฉพาะของไตรมาส

    สำหรับผู้ป่วยที่ระดับเซรั่มฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์สูงกว่าช่วงอ้างอิงเฉพาะของไตรมาส ให้เพิ่มขนาดยาซินทรอยด์ไป 12.5 ถึง 25 ไมโครกรัม/วัน และวัดระดับเซรั่มฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ทุกๆ 4 สัปดาห์ จนได้รับขนาดยาซินทรอยด์ที่คงที่ และระดับของเซรั่มฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ช่วงอ้างอิงเฉพาะของไตรมาสอยู่ในช่วงปกติ

    ลดขนาดยากลับมาสู่ขนาดยาก่อนตั้งครรภ์ทันทีหลังคลอดบุตร และวัดระดับของเซรั่มฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ 4 ถึง 8 สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่าขนาดยานั้นเหมาะสม

    • ภาวะขาดไทรอยด์ที่เพิ่งเกิดขึ้น

    ทำให้การทำงานของต่อมไทรอยด์กลับมาเป็นปกติให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

    สำหรับผู้ป่วยที่มีสัญญาณและอาการของภาวะขาดไทรอยด์ในระดับปานกลางถึงรุนแรง ให้เริ่มใช้ยานี้ในขนาดยาทดแทนทั้งหมด (1.6 ไมโครกรัม ต่อกก. ต่อวัน)

    สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะขาดไทรอยด์ระดับเบา (ฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์น้อยกว่า 10หน่วยสากลต่อลิตร) ให้เริ่มที่ขนาด 1.0 ไมโครกรัม ต่อกก. ต่อวัน

    ประเมินระดับของเซรั่มฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ทุกๆ 4 สัปดาห์และปรับขนาดยาจนกระทั่งระดับของเซรั่มฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ช่วงอ้างอิงเฉพาะของไตรมาสอยู่ในช่วงปกติ

    การกดฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ (TSH Suppression) ในโรคมะเร็งไทรอยด์ที่มีการพัฒนาตัวเองได้ดี (Well-differentiated Thyroid Cancer)

    ตามปกติแล้ว ฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์จะถูกกดให้ต่ำกว่า 0.1 หน่วยสากลต่อลิตร และมักจะต้องใช้ยานี้ในขนาดที่มากกว่า 2 ไมโครกรัม ต่อกก. ต่อวัน

    แต่ในผู้ป่วยที่มีเนื้องอกที่มีความเสี่ยงสูง เป้าหมายในการกดฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์นั้นอาจจะต่ำกว่านั้น

    ขนาดยาของซินทรอยด์® (ยาลีโวไทร็อกซีน โซเดียม) สำหรับเด็ก

    ภาวะขาดไทรอยด์แต่กำเนิดหรือเป็นในภายหลัง

    ขนาดยาซินทรอยด์ต่อวันที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะขาดไทรอยด์นั้นขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวและความเปลี่ยนแปลงกับอายุ

    เริ่มต้นใช้ยาเต็มขนาดยาต่อวันสำหรับผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่

    เริ่มต้นใช้ยาในขนาดที่ต่ำกว่าสำหรับเด็กทารกแรกเกิด (0-3 เดือน) ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจล้มเหลวและเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการอยู่ไม่สุข

    รูปแบบของยา

    ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

    • ยาเม็ด ลีโวไทร็อกซีน โซเดียม (levothyroxine sodium) 300 ไมโครกรัม

    กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

    หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

    กรณีลืมใช้ยา

    หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ในทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

    ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา