backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

อะมิโอดาโรน (Amiodarone)

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ · ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ข้อบ่งใช้

ยาอะมิโอดาโรนใช้สำหรับ

ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone) ใช้รักษาอาการหัวใจเต้นผิดปกติที่รุนแรง (อาจถึงแก่ชีวิต) ในบางประเภท เช่น ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้ว /ภาวะหัวใจเต้นเร็วแบบเรื้อรัง (persistent ventricular fibrillation/tachycardia) ยานี้ใช้สำหรับรักษาจังหวะการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ และรักษาการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติและคงที่ ยาอะมิโอดาโรนเป็นที่รู้จักว่าเป็นยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ (anti-arrhythmic drug) ยานี้ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งสัญญาณไฟฟ้าบางประการในหัวใจ ที่เป็นสาเหตุของการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ

วิธีใช้ยาอะมิโอดาโรน

ให้ใช้ยาอะมิโอดาโรนโดยการรับประทาน โดยปกติคือหนึ่งหรือสองครั้งต่อวันหรือตามที่แพทย์สั่ง คุณอาจรับประทานยานี้พร้อมหรือไม่พร้อมกับอาหารก็ได้ แต่จำเป็นต้องเลือกวิธีใช้ยาหนึ่งวิธีและให้ใช้ยานี้ด้วยวิธีเดิมทุกครั้งที่ใช้ยา

ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้เกรปฟรุต หรือดื่มน้ำผลไม้เกรปฟรุตในขณะที่ใช้ยานี้ หากแพทย์ไม่ได้สั่งเป็นอย่างอื่น ผลไม้เกรปฟรุตสามารถเพิ่มปริมาณยานี้ในกระแสเลือดของคุณได้ ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ขยาดยาขึ้นอยู่กับสภายร่างกายและการตอบสนองต่อการรักษา แพทย์อาจสั่งให้คุณเริ่มใช้ยานี้ในขนาดยาที่สูง และค่อยๆ ลดขนาดยาลง ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามหยุดใช้ยานี้หรือเปลี่ยนขนาดยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน

ให้แจ้งแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง

การเก็บรักษายาอะมิโอดาโรน

การเก็บรักษายาอะมิโอดาโรนที่ดีที่สุดควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องให้ห่างจากแสงโดยตรงและความชื้น เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพของยา ไม่ควรเก็บยาอะมิโอดาโรนไว้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาอะมิโอดาโรนมีหลากหลายยี่ห้อซึ่งมีวิธีการเก็บรักษาที่แตกต่างกัน เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องตรวจสอบวิธีการเก็บรักษาที่ระบุไว้ในบรรจุภัณฑ์ หรือสอบถามจากเภสัชกร เพื่อความปลอดภัย คุณควรเก็บยาทั้งหมดให้ห่างจากเด็กหรือสัตว์เลี้ยง

คุณไม่ควรเทยาอะมิโอดาโรนทิ้งลงในโถส้วม หรือในท่อระบายน้ำ เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น สิ่งสำคัญคือต้องกำจัดยาอย่างเหมาะสมเมื่อหมดอายุหรือไม่ใช้งานแล้ว ให้ปรึกษาเภสัชกรสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการกำจัดผลิตภัณฑ์อย่างปลอดภัย

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาอะมิโอดาโรน

ก่อนใช้ยาอะมิโอดาโรน

  • ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรหากคุณแพ้ยาอะมิโอดาโรนหรือยาอื่น ๆ
  • ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกร เกี่ยวกับยาที่แพทย์สั่ง และที่ซื้อมาใช้เอง วิตามิน และอาหารเสริม ที่คุณใช้อยู่หรือวางแผนจะใช้ ให้มั่นใจว่ารวมถึงยาดังต่อไปนี้ คือ ยารักษาภาวะซึมเศร้า (antidepressants) เช่น ยาทราดาโซน (trazodone) ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants) เช่น ยาวาร์ฟาริน (warfarin) อย่างคูมาดิน (coumadin) ยาลดคลอเรสเตอรอลบางชนิด เช่น ยาอะทอร์วาสเตติน (atorvastatin) อย่างลิพิเตอร์ (lipitor) ยาคลอเรสไทรามีน (cholestyramine) อย่างเควสทราน (questran) ยาโลวาสเตติน (lovastatin) อย่างเมวาคอร์ (mevacor) และยาซิมวาสเตติน (simvastatin) อย่างโซคอร์ (zocor) ยาไซเมทิดีน (cimetidine) อย่างทากาเมท (tagamet) ยาโคลพิโดเกรล (clopidogrel) อย่างพลาวิกซ์ (plavix) ยาไซโคลสปอรีน (cyclosporine) อย่างนีโอรัล (neoral) แซนด์อิมมูน (sandimmune) ยาเดร็กซ์โทรเมทอร์แฟน (dextromethorphan) ยาที่เป็นส่วนผสมของยาแก้ไอหลายประเภท ยาเฟนทานิล (fentanyl) อย่างแอคติค (actiq) ดูราเจสิค (duragesic) ยาต้านไวรัสเอชไอวี เช่น ยาอินดิเนเวียร์ (indinavir) อย่างคริซิแวน (crixivan) และยาไรโทเนเวียร์ (ritonavir) อย่างนอร์เวียร์ (norvir) ยาลอราทาดีน (loratadine) อย่างอะลาเวิร์ท (alavert) แคลริติน (claritin) ยารักษาเบาหวานหรืออาการชัก ยาเมโทเทรกเซท (methotrexate) อย่างรูมาเทร็กซ์ (rheumatrex) ยารักษาอาการปวดที่ทำให้ง่วงซึม และยาไรแฟมพิน (rifampin) อย่างไรฟาดิน (rifadin) ไรแมคเทน (rimactane) อาจมียาชนิดอื่นๆ อีกมากที่มีปฏิกิริยากับยาอะมิโอดาโรน ดังนั้น ให้มั่นใจว่าได้แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่ใช้อยู่ ถึงแม้ไม่ได้ระบุในรายการยาข้างต้นนี้ แพทย์อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนขนาดยา หรือติดตามอาการของคุณอย่างระมัดระวังสำหรับผลข้างเคียง
  • ให้แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้อยู่ โดยเฉพาะเซนต์จอห์นเวิร์ต
  • ให้แจ้งแพทย์หากคุณมีหรือเคยมีอาการหรือปัญหาใดๆ เกี่ยวกับความดันเลือด
  • ให้แจ้งแพทย์หากคุณตั้งครรภ์ มีแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ให้ปรึกษาแพทย์ หากคุณวางแผนจะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ในช่วงเดือนแรกๆ ภายหลังการรักษา เนื่องจากยาอะมิโอดาโรนอาจตกค้างอยู่ในร่างกายเป็นเวลานาน หลังจากเลิกใช้ยา หากคุณตั้งครรภ์ในระหว่างใช้ยาอะมิโอดาโรน ให้แจ้งให้แพทย์ทราบ
  • ให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยง และประโยชน์ในการใช้ยานี้ หากคุณมีอายุ 65 ปีหรือมากกว่า โดยปกติแล้วผู้สูงอายุไม่ควรใช้ยาอะมิโอดาโรน เนื่องจากไม่ปลอดภัยและไม่ได้ผลการรักษาได้เท่ากับยาอื่นๆ ที่สามารถใช้รักษาโรคเดียวกันได้
  • หากคุณกำลังเข้ารับการผ่าตัด รวมถึงการผ่าตัดเกี่ยวกับฟันหรือการผ่าตัดดวงตาด้วยเลเซอร์ ให้แจ้งแพทย์หรือทันตแพทย์ว่า คุณกำลังใช้ยาอะมิโอดาโรน
  • วางแผนหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด หรือหลอดไฟอุลตราไวโอเลต และสวมใส่เสื้อผ้า แว่นกันแดด และครีมกันแดด ยาอะมิโอดาโรนอาจทำให้ผิวหนังของคุณไวต่อแสงแดด ผิวหนังที่สัมผัสแสงแดดอาจเปลี่ยนเป็นสีเทาปนน้ำเงิน และอาจไม่กลับสู่ภาวะปกติหลังจากหยุดใช้ยานี้
  • คุณควรตระหนักว่า ยาอะมิโอดาโรนสามารถก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น ซึ่งรวมถึงอาการตาบอดถาวร ให้มั่นใจว่าเข้ารับการตรวจตาอย่างสม่ำเสมอ และให้แจ้งแพทย์หากดวงตามีความไวต่อแสง หรือหากมองเห็นแสงจ้า หรือเห็นภาพไม่ชัดหรือปัญหาใดๆ เกี่ยวกับสายตา
  • คุณควรตระหนักว่า ยาอะมิโอดาโรนอาจตกค้างอยู่ในร่างกายเป็นเวลาหลายเดือนหลังจากใช้ยา คุณอาจมีผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องจากการใช้ยาอะมิโอดาโรนได้ในช่วงเวลานี้ ให้มั่นใจว่าได้แจ้งให้ผู้ดูแลสุขภาพที่รักษาหรือสั่งยาให้คุณในช่วงเวลานี้ ว่าคุณเพิ่งหยุดใช้ยาอะมิโอดาโรนเมื่อเร็วๆ นี้

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเพียงพอเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยาอะมิโอดาโรน ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาความเสี่ยงของการใช้ยานี้ ยาอะมิโอดาโรนจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ประเภท C โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ โดย FDA มีดังนี้

  • A=ไม่มีความเสี่ยง
  • B=ไม่มีความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C=อาจจะมีความเสี่ยง
  • D=มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X=ห้ามใช้
  • N=ไม่มีข้อมูลเพียงพอ

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยาอะมิโอดาโรน

ให้เข้ารับการรักษาหากคุณมีอาการแพ้ยาใดๆ ดังต่อไปนี้ ได้แก่ ลมพิษ หายใจลำบาก มีอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และคอ

ให้แจ้งแพทย์ทันที หากคุณมีผลข้างเคียงที่รุนแรงใดๆ เหล่านี้ ถึงแม้ว่าเกิดขึ้นเป็นเวลาหลายเดือน หลังจากหยุดใช้ยาอะมิโอดาโรน

  • รูปแบบการเต้นของหัวใจเปลี่ยนไปหรือแย่ลง
  • การเต้นของหัวใจเร็ว ช้า หรือรุนแรงขึ้น
  • รู้สึกเหมือนจะหมดสติ
  • มีเสียงหายใจหวีด ไอ เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ไอเป็นเลือด
  • การมองเห็นไม่ชัดเจน สูญเสียการมองเห็น ปวดศีรษะหรือปวดเบ้าตา ในบางครั้งมีอาการอาเจียนร่วมด้วย
  • รู้สึกหายใจติดขัดถึงแม้ออกกำลังกายแบบเบา มีอาการบวม น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • น้ำหนักลด ผมบาง รู้สึกร้อนหรือหนาวเกินไป มีเหงื่อออกมากขึ้น ประจำเดือนผิดปกติ มีอาการบวมที่คอ (คอพอก)
  • มีอาการชา มีรอยไหม้ มีอาการปวด หรือรู้สึกปวดเสียงที่มือหรือเท้า
  • คลื่นไส้ ปวดท้อง มีไข้ต่ำ ไม่มีความอยากอาหาร ปัสสาวะมีสีคล้ำ อุจจาระสีคล้ำ มีภาวะดีซ่าน (ผิวหรือตาเหลือง)
  • ผลข้างเคียงที่รุนแรงน้อยลง ได้แก่

    • รู้สึกเวียนศีรษะหรือเหนื่อย
    • คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องผูก ไม่มีความอยากอาหาร
    • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน (นอนไม่หลับ)
    • อ่อนเพลีย ร่างกายทำงานไม่ประสานกัน
    • มีความร้อน อาการปวดเสียว หรือรอยแดงใต้ผิวหนัง

    อาการข้างเคียงเหล่านี้พบไม่ได้ในผู้ใช้ยาทุกคน และอาจมีอาการข้างเคียงที่ไม่ได้ระบุข้างต้น หากคุณมีข้องกังวลเกี่ยวกับอาการข้างเคียง ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

    ปฏิกิริยาของยา

    ปฏิกิริยากับยาอื่น

    ยาอะมิโอดาโรนอาจเกิดปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นที่คุณใช้อยู่ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงสำหรับอาการข้างเคียงที่รุนแรงขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาของยาที่อาจเกิดขึ้น คุณควรทำรายการยาที่ใช้อยู่ทั้งหมด (ยาที่สั่งโดยแพทย์ ยาที่ไม่ได้สั่งโดยแพทย์ และยาสมุนไพร) และแจ้งแก่แพทย์หรือเภสัชกร เพื่อความปลอดภัยของคุณ ห้ามเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนแปลงการใช้ยาใดๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

    • ยาไซเมทิดีน (Cimetidine) อย่างทากาเมต (Tagamet)
    • ยาคลอพิโดเกรล (Clopidogrel) อย่างพลาวิกซ์ (Plavix))
    • ยาไซโคลสปอรีน (Cyclosporine) อย่างเกนแกรฟ (Gengraf) นีโอรัล (Neoral) แซนด์อิมมูน (Sandimmune)
    • ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) เป็นยาแก้ไอที่ซื้อได้เองจากร้านขายยา
    • ยาไดโคลฟิแนค (Diclofenac) อย่างอาร์โทรเทค (Arthrotec) คาตาแฟลม (Cataflam) โวลทาเรน (Voltaren) เฟลกเตอร์แพตช์ (Flector Patch) โซลาเรซ (Solareze)
    • ยาดีจ็อกซิน (Digoxin) อย่างดิจิทาลิส (digitalis) ลาน็อกซิน (Lanoxin) ลาน็อกซิแคปส์ (Lanoxicaps)
    • ยาโลราทาดีน (Loratadine) อย่างแคลริตินอลาเวิร์ท (Claritin Alavert)
    • ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ต
    • ยารักษาอาการซึมเศร้า
    • ยาต้ายการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาร์ฟาริน (warfarin) อย่างคูมาดิน (Coumadin)
    • ยาขับปัสสาวะ (ยาขับน้ำ)
    • อินซูลินหรือยารักษาเบาหวานสำหรับรับประทาน
    • ยาแก้ปวดที่ทำให้ง่วงซึม
    • ยารักษาไวรัสเอชไอวีหรือโรคเอดส์
    • ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาอะซิโทรไมซิน (azithromycin) อย่างซิโทรแม็กซ์ (Zithromax) ยาซิโพรฟล็อกซาซิน (ciprofloxacin) อย่างซิโพร (Cipro) ยาคลาริโทรไมซิน (clarithromycin) อย่างไบแอกซิน (Biaxin) ยาอีรีโทรไมซิน (erythromycin) อย่างอีอีเอส (E.E.S.) อีรีเพด (eryped) อีรี-แท็บ (Ery-Tab) และอีรีโทรซิน (Erythrocin) ยาเลโวฟล็อกซาซิน (levofloxacin) อย่างเลวาควิน (Levaquin) ยาไรแฟมพิน (rifampin) อย่างไรฟาดิน (Rifadin) ไรแมคเทน (Rimactane) ไรฟาเตอร์ (Rifater) ไรมาเมท (Rifamate) ยาเทลิโทรไมซิน (telithromycin) อย่างเคเทค (Ketek) และยาอื่นๆ
    • ยาฆ่าเชื้อรา เช่น ยาไอตราโคนาโซล (itraconazole) อย่างสปอราน็อกซ์ (Sporanox) หรือ ยาคีโตโคนาโซล (ketoconazole) อย่างไนโซรัล (Nizoral)
    • ยาเบต้าบล็อกเกอร์ เช่น ยาอะทีโนลอล (atenolol) อย่างเทนอร์มิน (Tenormin) ยาไบโซโพรลอล (bisoprolol) อย่างเซเบตา (Zebeta) ซีแอค (Ziac) ยาเมโทโพรลอล (metoprolol) อย่างโลเพรสเซอร์ (Lopressor) โทพรอล (Toprol) ยาโพรพรานอลอล (propranolol) อย่างอินเดรอล (Inderal) อินโนแพรน (innopran) และยาอื่นๆ
    • ยาลดคลอเรสเตอรอล เช่น ยาคลอเรสไทรามีน (cholestyramine) อย่างพรีวาไลท์ (Prevalite) เควสทราน (Questran) ยาอะทอร์วาสเตติน (atorvastatin) อย่างลิพิเตอร์ (Lipitor) ยาซิมวาสเตติน (simvastatin) อย่างโซคอร์ (Zocor) ยาโลวาสเตติน (lovastatin) อย่างเมวาคอร์ (Mevacor) ยาโพรวาสเตติน (pravastatin) อย่างพราแวคฮอล (Pravachol) หรือยาฟลูวาสเตติน (fluvastatin) อย่างเลสคอล (Lescol)
    • ยารักษาจังหวะการเต้นของหัวใจ เช่น ยาไดโซไพราไมด์ (disopyramide) อย่างนอร์เพซ (Norpace) ยาควินิดีน (quinidine) อย่างควิแนกลูต (Quinaglute) ยาควินิเดกซ์ (Quinidex) หรือยาโพรไซนาไมด์ (procainamide) อย่างโพรแคน (Procan) และโพรเนสทิล (Pronestyl)
    • ยารักษาโรคหัวใจหรือความดันเลือด เช่น ยาดิลไทอาเซม (diltiazem) อย่างคาร์ดิเซม (Cardizem) ดิลาคอร์ (Dilacor) เทียแซค (Tiazac) ยาไนเฟดิพีน (nifedipine) อย่างโพรคาร์เดีย (Procardia) อะดาแลท (Adalat) ยาเวราพามิล (verapamil) อย่างคาลัน (Calan) โคเวรา (Covera) ไอซอพติน (Isoptin) เวเรลัน (Verelan) และอื่นๆ
    • ยารักษาอาการชัก เช่น ยาคาร์บามาเซพีน (carbamazepine) อย่างคาร์บาทรอล (Carbatrol) เทเกรทอล (Tegretol) ยาฟีไนโทอิน (phenytoin) อย่างไดแลนติน (Dilantin) และอื่นๆ

    ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

    ยาอะมิโอดาโรนอาจทำปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์ได้โดยการเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ยาหรือเพิ่มความเสี่ยงสำหรับอาการข้างเคียงที่รุนแรงขึ้น โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้นของยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์ ก่อนการใช้ยา

    • น้ำผลไม้เกรปฟรุต

    ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่นๆ

    ยาอะมิโอดาโรนอาจทำปฏิกิริยากับสภาวะทางสุขภาพของคุณ ปฏิกิริยาดังกล่าวอาจทำให้สภาวะทางสุขภาพเสื่อมลง หรือเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของยา เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเสมอ เกี่ยวกับสภาวะทางสุขภาพทั้งหมดของคุณในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

    • สัญญาณไฟฟ้าหัวใจถูกขัดขวาง หรือ AV block (กลุ่มอาการจังหวะหัวใจเต้นผิดปกติ) ที่ไม่มีเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
    • หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia)
    • ภาวะช็อคจากหัวใจ (Cardiogenic shock) ภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้เพียงพอต่อความต้องการ
    • กลุ่มอาการซิคไซนัส (Sick sinus syndrome) เป็นกลุ่มอาการของจังหวะหัวใจเต้นผิดปกติ ที่ไม่มีเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ —ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้
    • ปัญหาเกี่ยวกับดวงตาหรือการมองเห็น
    • โรคหัวใจ (ตัวอย่างเช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว)
    • ปัญหาเกี่ยวกับจังหวะการเต้นของหัวใจ (ตัวอย่างเช่น QT prolongation)
    • ภาวะ Hypokalemia (โพแทสเซียมในเลือดต่ำ)
    • ภาวะ Hypomagnesemia (lแมกนีเซียมในเลือดต่ำ)
    • ภาวะ Hypotension (ความดันเลือดต่ำ)
    • โรคปอดหรือปัญหาเกี่ยวกับการหายใจอื่น ๆ (ตัวอย่างเช่น โรคเนื้อเยื่อระหว่างถุงลมปอดอักเสบ (interstitial pneumonitis))
    • ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์—ให้ใช้อย่างระมัดระวัง อาจทำให้อาการเหล่านี้แย่ลง

    ทำความเข้าใจกับขนาดยา

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้เสมอ

    ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่

    ขนาดยาปกติสำหรับผู้ใหญ่สำหรับรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmias)

    ขนาดยาเริ่มต้น: 1000 มก. โดยฉีดเข้าเส้นเลือดในช่วง 24 ชั่วโมงแรกของการรักษา โดยใช้ยาตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้

    • 150 มก. ในช่วง 10 นาทีแรก (15 มก./นาที)
    • ตามด้วย 360 มก. ในช่วง 6 ชั่วโมงถัดไป (1 มก./นาที)

    ขนาดยาพยุงอาการ: 540 มก.

    • ในช่วง 18 ชั่วโมงที่เหลือ (0.5 มก./นาที)

    ขนาดยาเริ่มต้น: ขนาดยา 800 ถึง 1600 มก./วัน โดยการรับประทาน มีความจำเป็นในเวลา 1 ถึง 3 สัปดาห์ (บางครั้งอาจนานกว่านี้) จนกว่าจะมีการตอบสนองต่อการรักษาในเบื้องต้นเกิดขึ้น

    เมื่อมีการควบคุมภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้อย่างเพียงพอ หรือหากผลข้างเคียงเกิดขึ้นชัดเจน ควรลดขนาดใช้ยาลงเหลือ 600 ถึง 800 มก./วัน เป็นเวลาหนึ่งเดือน แล้วจึงลดลงเหลือในขนาดยาพยุงอาการ ซึ่งตามปกติคือ 400 มก./วัน ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องใช้ขนาดยาถึง 600 มก./วัน อาจใช้ยาอะมิโอดาโรนในขนาดหนึ่งครั้งต่อวัน หรือในผู้ป่วยที่มีภาวะ gastrointestinal intolerance ที่รุนแรง ให้ใช้ในขนาดสองครั้งต่อวัน

    ขนาดยาสำหรับเด็ก

    ขนาดยาปกติสำหรับเด็กสำหรับรักษาภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (Supraventricular Tachycardia)

    อายุน้อยกว่า 1 เดือน

    ข้อมูลมีจำกัด: ขนาดยารับประทาน:

    • 10 ถึง 20 มก./กก./วัน โดยรับประทานในขนาดแบ่งเป็น 2 ส่วน เป็นเวลา 7 ถึง 10 วัน
    • แล้วจึงลดขนาดยาเป็น 5 ถึง 10 มก./กก./วัน หนึ่งครั้งต่อวัน และใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ถึง 7 เดือน
    • ข้อกำหนดนี้ใช้ในเด็กทารก (อายุน้อยกว่า 9 เดือน) และเด็กแรกเกิด (อายุ 1 วัน) จำนวน 50 ราย

    การใช้ยาฉีดเข้าเส้นเลือด: 5 มก./กก. ให้ยาเกินกว่า 60 นาที

    หมายเหตุ: อัตราการฉีดโดยทั่วไปไม่ควรเกิน 0.25 มก./กก./นาที หากไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ การศึกษาส่วนใหญ่ใช้เวลาฉีด 60 นาทีเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ อาจใช้ขนาดยาเริ่มต้นซ้ำเป็นขนาดยาเริ่มต้นรวมสูงสุด คือ 10 มก./กก. ห้ามใช้ขนาดยาฉีดรวมต่อวันเกินกว่า 15 มก./กก./วัน

    อายุน้อยกว่า 1 ปี

    • ขนาดยาเริ่มต้น: 600 ถึง 800 มก./1.73 ม²/วัน โดยรับประทานเป็นเวลา 4 ถึง 14 วัน ในขนาดยาแบ่งใช้ 1 ถึง 2 ส่วน/วัน
    • ขนาดยาพยุงอาการ: 200 ถึง 400 มก./1.73 ม²/วัน โดยรับประทานหนึ่งครั้งต่อวัน

    อายุมากกว่า 1 ปี

    • ขนาดยาเริ่มต้น: 10 ถึง 15 มก./กก./วัน โดยรับประทานเป็นเวลา 4 ถึง 14 วัน ในขนาดยาแบ่งใช้ 1 ถึง 2 ส่วน/วัน
    • ขนาดยาพยุงอาการ: 5 ถึง 10 มก./กก./วัน โดยรับประทานหนึ่งครั้งต่อวัน

    รูปแบบยา

    ยาอะมิโอดาโรนมีรูปแบบการใช้และปริมาณตัวยา ดังต่อไปนี้

    ยาเม็ด สำหรับรับประทาน: 200 มก.

    กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

    ในกรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ให้โทรแจ้งบริการฉุกเฉิน หรือไปยังห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลใกล้บ้านคุณ

    อาการจากการใช้ยาเกินขนาด ได้แก่

    • หัวใจเต้นช้า
    • คลื่นไส้
    • การมองเห็นไม่ชัด
    • เวียนศีรษะ
    • หมดสติ

    กรณีลืมใช้ยา

    หากลืมใช้ยาอะมิโอดาโรน ให้ใช้ยาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ดี หากใกล้เวลาใช้รอบถัดไป ให้ข้ามรอบที่ลืมใช้ไปแล้วใช้ยาในรอบถัดไปตามปกติที่กำหนดไว้ ห้ามใช้เพิ่มเป็นสองเท่า

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

    ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


    เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา