backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ

1

ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

เจมไฟโบรซิล (Gemfibrozil)

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์ · ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

เจมไฟโบรซิล (Gemfibrozil)

ข้อบ่งใช้

ยาเจมไฟโบรซิลใช้สำหรับ

ยาเจมไฟโบรซิล (Gemfibrozil) ใช้ร่วมกับการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม เพื่อลดระดับของไขมันหรือไตรกลีเซอไรด์ (triglycerides) และเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ภายในเลือด และยังอาจช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) ได้ด้วย

ยาเจมไฟโบรซิลอยู่ในกลุ่มของยาที่เรียกว่าไฟเบรต (fibrates) ทำงานโดยการลดการผลิตไขมันของตับ การลดระดับของไตรกลีเซอไรด์ ในผู้ที่มีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมาก สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคตับอ่อนอักเสบ (pancreatitis) แต่ยาเจมไฟโบรซิลอาจไม่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดอาการหัวใจขาดเลือดฉับพลัน หรือโรคหลอดเลือดสมองได้ โปรดปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงและประโยชน์ของการใช้ยาเจมไฟโบรซิล

นอกจากการรับประทานอาหารที่เหมาะสม เช่น อาการที่มีคอเลสเตอรอลหรือไขมันต่ำ การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์อื่นๆ ยังอาจช่วยให้ยานี้ทำงานได้ดีขึ้น เช่น การออกกำลังกาย ดื่มสุราให้น้อยลง ลดหรือควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี และหยุดสูบบุหรี่

วิธีใช้ยาเจมไฟโบรซิล

รับประทานยาเจมไฟโบรซิลตามที่แพทย์กำหนด โดยปกติคือวันละ 2 ครั้ง (30 นาทีก่อนรับประทานมื้อเช้าและมื้อเย็น)

ขนาดยาขึ้นอยู่กับสภาวะทางการแพทย์และการตอบสนองต่อการรักษา

หากคุณใช้ยาอื่นเพื่อลดระดับคอเรสเตอรอล เช่น ยาในกลุ่มไบล์แอซิดซีเควสแตรนต์ (bile acid sequestrants) เช่น คอเลสไทรามีน (cholestyramine) คอเลสทิพอล (colestipol) ควรรับประทานยาเจมไฟโบรซิลอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนยาในกลุ่มไบล์แอซิดซีเควสแตรนต์ หรือ 4-6 ชั่วโมงยาในกลุ่มไบล์แอซิดซีเควสแตรนต์ ยาเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่อยาเจมไฟโบรซิล และทำให้ไม่สามารถดูดซึมยาได้อย่างเต็มที่

รับประทานยาเจมไฟโบรซิลเป็นประจำ เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากยาสูงสุด ควรรับประทานยาในเวลาเดียวกันทุกวัน และใช้ยาอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะรู้สึกเป็นปกติดี คนส่วนใหญ่ที่มีระดับคอเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรด์สูงจะไม่รู้สึกป่วย

ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์ เกี่ยวกับการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหาร อาจต้องใช้เวลานานกว่า 3 เดือน ก่อนที่จะได้รับประโยชน์จากยาอย่างเต็มที่

การเก็บรักษายาเจมไฟโบรซิล

ยาเจมไฟโบรซิลควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นแสงและความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเสื่อมสภาพ ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาเจมไฟโบรซิลบางยี่ห้ออาจมีวิธีเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรอ่านคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์หรือสอบถามเภสัชกรเสมอ และโปรดเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเพื่อความปลอดภัย

ไม่ควรทิ้งยาเจมไฟโบรซิลลงในชักโครก หรือเทยาลงในท่อระบายน้ำ เว้นเสียแต่จะได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น หากยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยา ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้อง โดยสามารถสอบถามข้อมูลวิธีกำจัดยาที่ถูกต้องได้จากเภสัชกร

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาเจมไฟโบรซิล

ก่อนใช้ยาเจมไฟโบรซิล ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณแพ้ยาเจมไฟโบรซิลหรือยาอื่นๆ

แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณกำลังใช้ยาซิมวาสแตติน (simvastatin) เช่น

  • โซคอร์ (Zocor)
  • ยารีพาไกลไนด์ (repaglinide) อย่างพรานดิน (Prandin) ในพรานดิเมต (in Prandimet)

แพทย์อาจไม่ให้คุณใช้ยาเจมไฟโบรซิล ขณะที่กำลังใช้ยาเหล่านี้ชนิดใด ชนิดหนึ่งหรือทั้งสองชนิด

แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณกำลังใช้ยา หรือวางแผนใช้ยา ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่หาซื้อเอง วิตามิน อาหารเสริม และสมุนไพร โดยเฉพาะ

  • ยาต้านลิ่มเลือด (anticoagulants) หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาฟาริน (warfarin) อย่างคูมาดิน (Coumadin)
  • ยาลดคอเลสเตอรอลหรือยาในกลุ่มสแตติน (statins) เช่น ยาอะทอร์วาสแตติน (atorvastatin) อย่างไลปิทอร์ (Lipitor) ยาฟลูวาสแตติน (fluvastatin) อย่างเลสคอล (Lescol) ยาโลวาสแตติน (lovastatin) อย่างเมวาคอร์ (Mevacor) ยาปราวาสแตติน (pravastatin) อย่างปราวาคอล (Pravachol)
  • ยาโคลชิซิน (colchicine) อย่างคอลไครส์ (Colcrys)

แพทย์อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนขนาดยาของคุณ หรือเฝ้าระวังผลข้างเคียงอย่างใกล้ชิด

แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณกำลังใช้ยาคอเลสทิพอล (colestipol) ควรใช้ยานี้ 2 ชั่วโมงก่อนหรือ 2 ชั่วโมงหลังจากใช้ยาเจมไฟโบรซิล

แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณเป็นโรคไต โรคตับ หรือโรคถุงน้ำดี แพทย์อาจไม่ให้คุณใช้ยาเจมไฟโบรซิล

แจ้งให้แพทย์ทราบ หากคุณตั้งครรภ์ มีแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร หากคุณตั้งครรภ์ขณะใช้ยาเจมไฟโบรซิล ให้ติดต่อแพทย์ทันที

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินประโยชน์และความเสี่ยงก่อนใช้ยานี้

ยาเจมไฟโบรซิลจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด C โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา มีดังนี้

  • A = ไม่มีความเสี่ยง
  • B = ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C = อาจจะมีความเสี่ยง
  • D = มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X = ห้ามใช้
  • N = ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยาเจมไฟโบรซิล

เข้ารับการรักษาในทันที หากคุณมีสัญญาณของอาการแพ้ ได้แก่ ลมพิษ หายใจติดขัด บวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ

ติดต่อแพทย์ในทันที หากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง ดังนี้

  • มีอาการปวดจี๊ดที่กระเพาะส่วนบน โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร
  • ดีซ่าน (ผิวหนังหรือดวงตาเป็นสีเหลือง)
  • มองเห็นไม่ชัด ปวดตา หรือมองแสงเป็นวงแหวน
  • มีอาการปวดหรือแสบขณะปัสสาวะ
  • มีอาการปวดกล้ามเนื้อ กดเจ็บ หรืออ่อนแรงแบบไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะหากคุณมีอาการไข้ เหนื่อยล้าผิดปกติ และปัสสาวะสีเข้มร่วมด้วย
  • ผิวซีด เกิดรอยช้ำง่าย
  • รู้สึกวิงเวียนหรือหายใจไม่อิ่ม หัวใจเต้นเร็ว รวมรวมสมาธิได้ลำบาก มีจุดสีม่วงหรือแดงใต้ผิวหนัง

ผลข้างเคียงที่รุนแรงน้อยกว่า มีดังนี้

  • ท้องไส้ปั่นป่วน
  • มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงในระดับเบา
  • ปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงซึม
  • มีอาการปวดข้อต่อหรือปวดกล้ามเนื้อ
  • หมดความสนใจในเรื่องเพศ หมดสมรรถภาพทางเพศ สำเร็จความใคร่ได้ยาก
  • มีอาการเหน็บชา
  • มีอาการของไข้หวัด เช่น คัดจมูก ตาม เจ็บคอ

ผลข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้น อาจไม่ได้เกิดกับทุกคน หรือบางคนอาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากนี้ หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาเจมไฟโบรซิลอาจเกิดอันตรกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรด้วยว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง สมุนไพร เป็นต้น และเพื่อความปลอดภัย คุณไม่ควรเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาเองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ไม่แนะนำให้ใช้ยาเจมไฟโบรซิลกับยารีพากลิไนด์ (Repaglinide) และยาซิมวาสแตติน (Simvastatin) แพทย์อาจจะตัดสินใจไม่ใช้ยาในกลุ่มนี้เพื่อรักษาคุณ หรือเปลี่ยนยาบางตัวที่คุณกำลังใช้อยู่

โดยปกติแล้ว ไม่แนะนำให้ใช้ยาเจมไฟโบรซิลกับยาดังต่อไปนี้ แต่อาจจำเป็นในบางกรณี หากคุณได้รับใบสั่งยาทั้งคู่ร่วมกัน แพทย์อาจต้องเปลี่ยนขนาดยา หรือความถี่ในการใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งคู่

  • อะทอร์วาสแตติน (Atorvastatin) เบกซาโรทีน (Bexarotene) เซอริวาสแตติน (Cerivastatin)
  • โคลชิซิน (Colchicine) ดาบราเฟนิบ (Dabrafenib)
  • เอลทรอมโบแพก (Eltrombopag) เอนซาลูตาไมด์ (Enzalutamide) อีเซทิไมบ์ (Ezetimibe)
  • ฟลูวาสแตติน (Fluvastatin) อิมมาตินิบ (Imatinib) โลวาสแตติน (Lovastatin)
  • พิทาวาสแตติน (Pitavastatin) ปราวาสแตติน (Pravastatin) โรซูวาสแตติน (Rosuvastatin)

การใช้ยาดังต่อไปนี้ร่วมกันอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้ แต่การใช้ยาทั้งสองร่วมกัน อาจเป็นการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ หากคุณได้รับใบสั่งยาทั้งคู่ร่วมกัน แพทย์อาจต้องเปลี่ยนขนาดยา หรือความถี่ในการใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งคู่

  • ไดคูมารอล (Dicumarol) ไกลเบนคลาไมด์ (Glyburide) โลเพอราไมด์ (Loperamide) โลปินาเวียร์ (Lopinavir)
  • มอนเทลูคาสท์ (Montelukast) ไพโอกลิตาโซน (Pioglitazone) โรซิกลิทาโซน (Rosiglitazone) วาร์ฟาริน (Warfarin)

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาเจมไฟโบรซิลอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาเจมไฟโบรซิลอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะ

  • โรคเบาหวาน
  • ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) – ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจทำให้ผลข้างเคียงของยารุนแรงขึ้น
  • โรคถุงน้ำดี (Gallbladder disease)
  • โรคไตรุนแรง
  • โรคตับ รวมถึงโรคตับแข็ง (cirrhosis) – ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการนี้
  • เคยมีอาการปวดกล้ามเนื้อ กดเจ็บ หรืออ่อนแรง – ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาเจมไฟโบรซิลสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) :

600 มก. รับประทานวันละ 2 ครั้ง 30 นาทีก่อนมื้อเช้าและมื้อเย็น

ขนาดยาเจมไฟโบรซิลสำหรับเด็ก

ยังไม่มีการพิสูจน์ความความปลอดภัยและประสิทธิภาพของขนาดยานี้สำหรับผู้ป่วยเด็ก ยานี้อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัยของยาก่อนการใช้ยา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อกับแพทย์หรือเภสัชกร

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาเม็ดสำหรับรับประทาน 600 มก.

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

อาการของการใช้ยาเกินขนาด มีดังนี้

  • ปวดท้อง
  • ท้องร่วง
  • ปวดข้อต่อและกล้ามเนื้อ
  • คลื่นไส้

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา