backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ไซตาโลแพรม (Citalopram)

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์ · ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ข้อบ่งใช้

ยา ไซตาโลแพรม ใช้สำหรับ

ยา ไซตาโลแพรม (Citalopram) มักใช้เพื่อรักษาโรคซึมเศร้า (depression) ยานี้อาจช่วยเพิ่มระดับของพลังงานและความรู้สึกสุขสบาย ไซตาโลแพรม เป็นยาที่ใช้ในการต้านซึมเศร้าในกลุ่ม SSRI (selective serotonin reuptake inhibitor) ทำงานโดยการช่วยฟื้นฟูสมดุลของสารตามธรรมชาติอย่างเซโรโทนิน (serotonin) ภายในสมอง

ยานี้ยังอาจใช้เพื่อรักษาสภาวะทางจิตใจอื่นๆ อย่างโรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive disorder) โรคแพนิค (panic disorder) นอกจากนี้ยังใช้รักษาอาการร้อนวูบวาบ (hot flashes) ที่เกิดขึ้นในช่วงวัยหมดประจำเดือน (Menopause)

วิธีการใช้ยาไซตาโลแพรม

รับประทานยาไซตาโลแพรมตามที่แพทย์กำหนด ควรทำตามแนวทางการใช้ยาบนฉลากยา ในบางครั้งแพทย์อาจเปลี่ยนขนาดยาของคุณ อย่าใช้ยานี้ในขนาดที่มากกว่า น้อยกว่า หรือนานกว่าที่แนะนำ

ตรวจขนาดของยาน้ำ โดยใช้กระบอกยาหรืออุปกรณ์สำหรับตวงยาหรือถ้วยตวงยา หากคุณไม่มีอุปกรณ์สำหรับตวงยา ให้สอบถามจากเภสัชกร

อาจต้องใช้เวลานานกว่า 4 สัปดาห์ กว่าที่อาการจะดีขึ้น ควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามที่กำหนด และแจ้งให้แพทย์ทราบ หากอาการของคุณไม่ดีขึ้น

อย่าหยุดใช้ยาไซตาโลแพรมอย่างกะทันหัน ไม่อย่างนั้นจะมีอาการถอนยาที่ไม่พึงประสงค์ สอบถามวิธีการหยุดใช้ยาอย่างปลอดภัยจากแพทย์

การเก็บรักษายาไซตาโลแพรม

ยาไซตาโลแพรมควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาไซตาโลแพรมบางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัยโปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้งยาไซตาโลแพรมลงในชักโครก หรือเทยาลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้องเมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาไซตาโลแพรม

ก่อนใช้ยานี้แจ้งให้แพทย์ทราบหาก

  • คุณกำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร เนื่องจากในช่วงที่คุณกำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น
  • หากคุณกำลังใช้ยาอื่นอยู่ รวมทั้งยาที่หาซื้อได้เอง เช่น สมุนไพรหรือยาทางเลือกอื่นๆ
  • หากคุณแพ้สารออกฤทธิ์หรือไม่ออกฤทธิ์ ของยาไซตาโลแพรมหรือยาอื่นๆ
  • หากคุณมีอาการป่วย มีความผิดปกติ หรือมีสภาวะทางการแพทย์อื่นๆ

อย่าใช้ยาไซตาโลแพรม หากคุณใช้ยาต้านซึมเศร้าในกลุ่ม MAO inhibitor ในช่วง 14 วันที่ผ่านมา เพราะอาจเกิดปฏิกิริยาของยาที่รุนแรงได้ ยาเหล่านี้ได้แก่ ไอโซคาร์บอกซาซิด (Isocarboxazid) ไลน์โซลิด (linezolid) ยาเมทิลีนบลูสำหรับฉีด (methylene blue) ฟีเนลซีน (phenelzine) ราซาจิลีน (rasagiline) เซเลจิลีน (selegiline) ทรานิลซัยโปรมีน (tranylcypromine) และอื่นๆ

ผู้ที่อายุน้อยบางราย อาจจะมีความคิดอยากจะฆ่าตัวตาย หลังจากที่ใช้ยาต้านซึมเศร้าช่วงแรกๆ แพทย์ควรจะตรวจสอบความคืบหน้าของอาการเป็นประจำ คนในครอบครัวและผู้ดูแลอื่นๆ ก็ควรจะตื่นตัวเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หรืออาการ

การรับประทานยาต้านซึมเศร้าเอสเอสอาร์ไอขณะตั้งครรภ์นั้น อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับปอดที่รุนแรง หรืออาการแทรกซ้อนอื่นๆ ต่อทารก แต่หากคุณหยุดใช้ยาต้านซึมเศร้า อาจทำให้อาการกำเริบได้ แจ้งให้แพทย์ทราบในทันที หากคุณตั้งครรภ์ อย่าเริ่มหรือหยุดใช้ยานี้ ขณะตั้งครรภ์ โดยไม่มีคำแนะนำจากแพทย์

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์ เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้

ยาไซตาโลแพรมจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ หมวด C โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยา

ผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปอาจมีดังนี้

  • ปัญหาเกี่ยวกับความจำหรือการรวบรวมสมาธิ
  • ปวดหัว ง่วงซึม
  • ปากแห้ง เหงื่ออกเพิ่มขึ้น
  • เหน็บชา
  • อยากอาหารมากขึ้น คลื่นไส้ ท้องร่วง มีแก็ส
  • หัวใจเต้นเร็ว รู้สึกสั่นคลอน
  • นอนไม่หลับ (insomnia) รู้สึกเหนื่อย
  • มีอาการของไข้หวัด เช่น คัดจมูก จาม เจ็บคอ
  • น้ำหนักเปลี่ยนแปลง
  • เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ 

แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณมีอาการ

  • รู้สึกเวียนศีรษะเหมือนจะหมดสติ
  • มองเห็นไม่ชัด มองเห็นได้แคบ ปวดตาหรือตาบวม หรือมองเห็นวงแหวนรอบแสง
  • มีอาการปวดหัวพร้อมกับอาการปวดหน้าอกและวิงเวียนอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็วหรือรัว
  • ปฏิกิริยาทางระบบประสาทที่รุนแรง กล้ามเนื้อแข็งเกร็งมาก ไข้สูง เหงื่อออกสับสน หัวใจเต้นเร็วหรือไม่เท่ากัน สั่นเทา รู้สึกเมหือนจะหมดสติ
  • ระดับของเซราโทนินในร่างกายสูง–ร้อนรน มองเห็นภาพหลอน เป็นไข้ หัวใจเต้นเร็ว ปฏิกิริยาตอบสนองมากเกินไป คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง สุญเสียการเคลื่อนไหวที่สอดประสาน หมดสติ
  • ระดับของโซเดียมในร่างกายต่ำ–ปวดหัว สับสน พูดไม่ชัด อ่อนแรงอย่างรุนแรง อาเจียน รู้สึกไม่มั่นคง

รับการรักษาในทันที หากคุณมีสัญญาณของอาการแพ้ ได้แก่ ลมพิษ หายใจติดขัด บวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ

แจ้งให้แพทย์ทราบ หากมีอาการใหม่หรืออาการที่แย่ลง เช่น มีความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หรือพฤติกรรม วิตกกังวล มีอาการแพนิคกำเริบ (panic attacks) มีปัญหากับการนอนหรือหากคุณรู้สึกหุนหันพลันแล่น ฉุนเฉียว ร้อนรน ไม่เป็นมิตร ก้าวร้าว กระสับกระส่าย ตื่นตัวจนเกินไป (ทางจิตใจหรือร่างกาย) ซึมเศร้ามากกว่าเดิม หรือมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้ และอาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาไซตาโลแพรมอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยา โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ยาที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้คือ

  • ไซเมทิดีน (Cimetidine)
  • ลิเทียม (Lithium)
  • เซนต์จอห์น เวิร์ต (John’s wort)
  • ทริพโตเฟน (Tryptophan) บางครั้งเรียกว่าแอลทริพโตเฟน (L-tryptophan)
  • ยาเจือจางเลือด เช่น วาฟาริน (warfarin) คูมาดิน (Coumadin) แจนโทเวน (Jantoven)
  • ยาต้านซึมเศร้าอื่นๆ
  • ยาสำหรับโรคหัวใจ
  • ยารักษาโรคทางจิตเวช
  • ยารักษาอาการปวดหัวไมเกรนทริปแทน (triptan)

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาไซตาโลแพรมอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาไซตาโลแพรมอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ ถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

โรคที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้คือ

  • โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder)
  • ปัญหาเกี่ยวกับเลือดออก
  • โรคต้อกระจก (ชนิดมุมเปิดและมุมปิด)
  • ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia)
  • ภาวะคลุ้มคลั่ง (Mania)
  • อาการชัก
  • ภาวะหัวใจเต้นช้า (Bradycardia)
  • หัวใจขาดเลือดฉับพลัน
  • หัวใจล้มเหลว
  • ปัญหาเกี่ยวกับการเต้นของหัวใจ เช่นกลุ่มอาการระยะคิวทียาวแต่กำเนิด (congenital long QT syndrome)
  • ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia)
  • ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ (Hypomagnesemia)
  • โรคไต
  • โรคตับ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาไซตาโลแพรมสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคซึมเศร้า (Depression):

ขนาดยาเริ่มต้น: 20 มก. รับประทานวันละครั้ง

ขนาดยาปกติ: 20 ถึง 40 มก./วัน อาจเพิ่มขนาดยาเริ่มต้น 20 มก. ไม่เกินสัปดาห์ละครั้งจนถึงขนาดยาสูงสุด 40 มก.ต่อวัน

ขนาดยาสำหรับผู้สูงอายุเพื่อรักษาโรคซึมเศร้า (Depression):

รับประทาน 20 มิลลิกรัม/วัน เป็นขนาดยาที่แนะนำสูงสุดสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี

ขนาดยาไซตาโลแพรมสำหรับเด็ก

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาโรคซึมเศร้า (Depression):

เด็กจนถึงอายุ 11 ปี: ขนาดยาเริ่มต้น: 10 มก. รับประทานวันละครั้ง ค่อยๆ เพิ่มขนาดยา 5 มก./วัน ทุกๆ 2 สัปดาห์ตามความจำเป็นทางการแพทย์ ช่วงขนาดยาคือ: 20 ถึง 40 มก./วัน

12 ถึง 18 ปี: ขนาดยาเริ่มต้น: 20 มก. รับประทานวันละครั้ง ค่อยๆ เพิ่มขนาดยา 10 มก./วัน ทุกๆ 2 สัปดาห์ตามความจำเป็นทางการแพทย์ ช่วงขนาดยาคือ: 20 ถึง 40 มก./วัน

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder):

เด็กจนถึงอายุ 11 ปี: ขนาดยาเริ่มต้น: 5-10 มก. รับประทานวันละครั้ง ค่อยๆ เพิ่มขนาดยา 5 มก./วัน ทุกๆ 2 สัปดาห์ตามความจำเป็นทางการแพทย์ ช่วงขนาดยาคือ: 10 ถึง 40 มก./วัน

12 ถึง 18 ปี: ขนาดยาเริ่มต้น: 10 ถึง 20 มก. รับประทานวันละครั้ง ค่อยๆ เพิ่มขนาดยา 10 มก./วัน ทุกๆ 2 สัปดาห์ตามความจำเป็นทางการแพทย์ ช่วงขนาดยาคือ: 10 ถึง 40 มก./วัน

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาเม็ด 20 มก.

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมรับประทานยา ควรรีบรับประทานทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลารับประทานยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปรับประทานยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา