backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ไลโอทริกซ์ (Liotrix)

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์ · ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 10/08/2020

ไลโอทริกซ์ (Liotrix)

ไลโอทริกซ์ (Liotrix) ใช้เพื่อรักษาภาวะขาดไทรอยด์ ยานี้ใช้ทดแทนหรือเพิ่มสารบางชนิด อย่างฮอร์โมนไทรอยด์ เมื่อเกิดภาวะไทรอยด์ต่ำ ยานี้ยังใช้เพื่อรักษาความผิดปกติอื่น ๆ ของต่อมไทรอยด์ เช่น โรคคอพอกบางชนิด หรือโรคมะเร็งไทรอยด์ เป็นต้น

ข้อบ่งใช้

ยา ไลโอทริกซ์ ใช้สำหรับ

ยา ไลโอทริกซ์ (Liotrix) ใช้เพื่อรักษาภาวะขาดไทรอยด์ ยานี้ใช้ทดแทนหรือเพิ่มสารบางชนิด อย่างฮอร์โมนไทรอยด์ (Thyroid Hormone) ที่โดยปกติแล้วจะผลิตจากต่อมไทรอยด์ ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ หรือเกิดขึ้นเมื่อต่อมไทรอยด์เสียหายจากการฉายรังสี ยา หรือการผ่าตัดนำต่อมไทรอยด์ออก การมีระดับของฮอร์โมนในกระแสเลือดอย่างเพียงพอนั้น สำคัญสำหรับการรักษาการทำงานของจิตใจและร่างกายตามปกติ สำหรับเด็กแล้ว การมีระดับของฮอร์โมนไทรอยด์ที่เพียงพอนั้น สำคัญสำหรับการเจริญเติบโตของจิตใจและร่างกาย

ยานี้ยังใช้เพื่อรักษาความผิดปกติอื่น ๆ ของต่อมไทรอยด์ เช่น โรคคอพอกบางชนิด หรือโรคมะเร็งไทรอยด์

ไม่ควรใช้ยานี้เพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก นอกเสียจากภาวะนั้นจะเกิดจากระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ

วิธีการใช้ยา ไลโอทริกซ์

รับประทานยานี้ โดยปกติคือวันละครั้ง ขณะท้องว่าง 30 นาที ก่อนรับประทานอาหารเช้า หรือตามที่แพทย์กำหนด

ขนาดยาขึ้นอยู่กับสภาวะทางการแพทย์ ผลการตรวจในห้องแล็บ และการตอบสนองต่อการรักษา สำหรับเด็กนั้น ขนาดยายังขึ้นอยู่กับอายุอีกด้วย แพทย์จะให้คุณเริ่มต้นใช้ยาที่ขนาดต่ำแล้วค่อย ๆ เพิ่มขนาดยาอย่างช้า ๆ เท่าที่จำเป็น

ใช้ยานี้เป็นประจำเพื่อให้ได้ประโยชน์จากยาสูงสุด เพื่อให้ง่ายต่อการจำควรใช้ยาในเวลาเดียวกันทุกวัน

อย่าหยุดใช้ยานี้โดยไม่ปรึกษากับแพทย์ ตามปกติแล้วมักจะต้องทำการบำบัดฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนไปตลอดชีวิต

อาการของระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำมีดังต่อไปนี้คือ เหนื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อ ท้องผูก ผิวแห้ง น้ำหนักขึ้น หัวใจเต้นช้า หรืออ่อนไหวต่อความหนาว แจ้งให้แพทย์ทราบ หากอาการของคุณรุนแรงขึ้น หรือไม่หายไปหลังจากรับประทานยาผ่านไปหลายสัปดาห์

การเก็บรักษายาไลโอทริกซ์

ยาไลโอทริกซ์ควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาไลโอทริกซ์บางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัย โปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้งยาไลโอทริกซ์ลงในชักโครก หรือเทลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้องเมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยา ไลโอทริกซ์

ก่อนใช้ยาไลโอทริกซ์ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากคุณแพ้ต่อยานี้ หรือหากคุณเป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆ ยานี้อาจมีส่วนผสมที่ไม่มีฤทธิ์ในการรักษาที่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือปัญหาอื่น โปรดปรึกษาเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ไม่ควรใช้ยานี้หากคุณมีสภาวะบางอย่าง ก่อนใช้ยานี้โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้ ได้แก่ ระดับฮอร์โมนไทรอยด์เพิ่มขึ้น อย่างภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หัวใจขาดเลือดฉับพลัน อย่างภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ปัญหาเกี่ยวกับต่อมหมวกไต อย่างภาวะต่อมหมวกไตทำงานไม่เพียงพอที่ไม่ได้รับการรักษา

ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ โดยเฉพาะโรคหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือหัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ความผิดปกติของฮอร์โมนอื่นๆ เช่น ฮอร์โมนต่อมใต้สมองลดลง

หากคุณเป็นโรคเบาหวาน ยานี้อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้ ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำตามที่แพทย์กำหนด และแจ้งผลให้แพทย์ทราบ แจ้งให้แพทย์ทราบในทันที หากคุณมีอาการของระดับน้ำตาลในเลือดสูง เช่น กระหายน้ำมากขึ้น หรือปัสสาวะมากขึ้น แพทย์อาจจำเป็นต้องปรับยาสำหรับโรคเบาหวาน โปรแกรมการออกกำลังกาย หรืออาหารที่คุณรับประทาน

ก่อนการผ่าตัด แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่า คุณกำลังใช้ยานี้

ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุนั้นอาจมีปฏิกิริยาไวต่อผลต่อหัวใจที่เกิดจากระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูง

ข้อมูลในปัจจุบันนั้นแสดงให้เห็นว่า ยานี้สามารถใช้ระหว่างการตั้งครรภ์ได้ แจ้งให้แพทย์ทราบ หากคุณตั้งครรภ์หรืออาจจะตั้งครรภ์ เนื่องจากแพทย์อาจจำเป็นต้องปรับขนาดยาของคุณ

ยานี้ในปริมาณเล็กน้อยนั้น สามารถผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่ได้ โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาถึงประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้

ยาไลโอทริกซ์จัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ ประเภท A โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยาไลโอทริกซ์

อาจเกิดอาการผมร่วงบางส่วนในช่วงไม่กี่เดือนแรกของการใช้ยา ผลนี้จะเกิดขึ้นชั่วคราว ขณะที่ร่างกายกำลังปรับตัวให้เข้ากับยา หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือรุนแรงขึ้นโปรดแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรในทันที

โปรดจำไว้ว่า การที่แพทย์ให้คุณใช้ยาตัวนี้ เนื่องจากพิจารณาแล้วว่า ยามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง และคนที่ใช้ยานี้ส่วนใหญ่ไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใด ๆ

แจ้งให้แพทย์ทราบในทันที หากเกิดผลของระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูงที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้น แต่รุนแรงดังต่อไปนี้ ได้แก่ ท้องร่วง ปวดกระดูก ปวดหัว มีความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจหรืออารมณ์ (เช่น ประหม่า หรืออารมณ์แปรปรวน) สั่นเทา อ่อนไหวต่อความร้อน เหงื่อออกมากขึ้น เหนื่อยล้า

รับการรักษาในทันที หากเกิดผลข้างเคียงของระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูงที่หายาก แต่รุนแรงมากดังต่อไปนี้ ได้แก่ เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว รัว หรือผิดปกติ ชัก มีอาการบวมที่ข้อเท้าหรือเท้า

การแพ้ยาที่รุนแรงต่อยานี้ ค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาการของการแพ้รุนแรงมีดังนี้ ผดผื่น คันหรือบวม (โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลิ้น และลำคอ) วิงเวียนขั้นรุนแรง หายใจติดขัด

รายการนี้ยังไม่ใช่รายการทั้งหมดของผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น หากคุณสังเกตเห็นผลข้างเคียงนอกเหนือจากผลข้างเคียงด้านบน โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้ และอาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ได้แก่ แอนโดรเจน สเตียรอยด์ (Androgens steroids) หรืออะนาโบลิค สเตียรอยด์ (Anabolic steroids) ยาในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blockers) เช่น ยาโพรพราโนลอล (Propranolol) ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) เช่น เดกซาเมทาโซน (dexamethasone) ยากลุ่มไซโตไคน์ (cytokines) เช่น อินเตอร์เฟอรอน อัลฟ่า (Interferon-alpha) หรืออินเตอร์ลิวคิน-2 (Interleukin-2) ยาไดจอกซิน (Digoxin) ยาที่ส่งผลกระทบต่อเอ็นไมซ์ตับที่ทำหน้าที่ในการกำจัดยาไลโอทริกซ์ออกจากร่างกาย เช่น ฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital) หรือไรฟามัยซิน (Rifamycins) รวมถึงไรฟาบูติน (Rifabutin) ยาต้านชักบางชนิด อย่างเฟนิโทอิน (Phenytoin) ยาที่สามารถลดระดับของฮอร์โมนไทรอยด์ได้ เช่น อะมิโอดาโรน (Amiodarone) ยาที่มีส่วนประกอบของไอโอไดด์ (Iodide) หรือไอโอดีน(iodine) หรือลิเทียม (Lithium) ผลิตภัณฑ์ที่มีเอสโทรเจน (Estrogen) รวมถึงยาเม็ดคุมกำเนิด โกรทฮอร์โมน (Growth hormones) ยารักษาโรคซึมเศร้า เช่น มาโพรทิลีน (Maprotiline) ยาต้านซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic antidepressants) เช่น อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) หรือยาในกลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (SSRIs) เช่นเซอร์ทราลีน (Sertraline)

ยาบางชนิด อย่างคอเลสไทรามีน (Cholestyramine) คอเลสติพอล (Colestipol) ยาลดกรด (antacids) ซูคราลเฟต (Sucralfate) ไซเมทิโคน (Simethicone) ธาตุเหล็ก (Iron) โซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต (Sodium polystyrene sulfonate) แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) หรือออริสแตท (Orlistat) นั้นสามารถลดปริมาณการดูดซึมยาไลโอทริกซ์ในร่างกายได้ หากคุณใช้ยาเหล่านี้ ควรเว้นระยะเวลาให้ห่างจากยานี้อย่างน้อย 4 ชั่วโมง

ควรตรวจสอบฉลากของยาทั้งหมด (เช่น ยาแก้ไอแก้หวัดหรือยาลดความอ้วน) เนื่องจากอาจมีส่วนประกอบยาหดหลอดเลือด (Decongestants) หรือคาเฟอีนที่สามารถเพิ่มระดับการเต้นของหัวใจหรือความดันโลหิตได้ โปรดสอบถามแพทย์เกี่ยวกับวิธีการใช้ยาเหล่านี้อย่างปลอดภัย

ยาไลโอทริกซ์อาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาใดๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาไลโอทริกซ์อาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาไลโอทริกซ์อาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาไลโอทริกซ์สำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาภาวะขาดไทรอยด์

ขนาดยาเริ่มต้น

  • ยาเลโวไทรอกซีน (Levothyroxine) 25 ไมโครกรัม – ยาไลโอไทโรนีน (Liothyronine) 6.25 ไมโครกรัม รับประทานวันละครั้ง เพิ่มขนาดยาโดยเพิ่มยาเลโวไทรอกซีน 12.5 ไมโครกรัม – ยาไลโอไทโรนีน 3.1 ไมโครกรัม 1 เม็ด ทุกๆ 2 ถึง 3 สัปดาห์
  • แนะนำให้ใช้ยาขนาดเริ่มต้นที่น้อยกว่านี้สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะขาดไทรอยด์ในระยะยาว: แนะนำการใช้ยาในขนาดยาเลโวไทรอกซีน 12.5 ไมโครกรัม – ยาไลโอไทโรนีน 3.1 ไมโครกรัม รับประทานวันละครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องสงสัยว่าอาจจะมีภาวะหลอดเลือดหัวใจบกพร่อง ควรใช้ยาด้วยความระมัดระวังอย่างมาก

ขนาดยาปกติ

  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะต้องใช้ ยาเลโวไทรอกซีน 50 ไมโครกรัม – ยาไลโอไทโรนีน 12.5 ไมโครกรัม (1 เม็ด) ต่อ ยาเลโวไทรอกซีน 100 ไมโครกรัม – ยาไลโอไทโรนีน 25 ไมโครกรัม (1 เม็ด) รับประทานวันละครั้ง

คำแนะนำ

  • การไม่ตอบสนองต่อยาเลโวไทรอกซีน 150 ไมโครกรัม – ยาไลโอไทโรนีน 37.5 ไมโครกรัม (1 เม็ด) นั้นแสดงให้เห็นการรับประทานยาไม่ตรงเวลาหรือการดูดซึมผิดปกติ

การใช้งาน

  • เพื่อเป็นการรักษาทดแทนหรือเสริมในผู้ป่วยที่มีภาวะขาดไทรอยด์จากทุกสาเหตุ ยกเว้นภาวะขาดไทรอยด์ชั่วคราวที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูจากอาการต่อมไทรอยด์อักเสบกึ่งเฉียบพลัน (subacute thyroiditis)

การปรับขนาดยา

ผู้ป่วยโรคหัวใจหรือผู้ป่วยที่มีอาการปวดเค้นหัวใจ (angina pectoris) และผู้สูงอายุ

  • เริ่มต้นที่ยาขนาดต่ำ เช่น ยาเลโวไทรอกซีน 12.5 ไมโครกรัม – ยาไลโอไทโรนีน 3.1 ไมโครกรัม หรือยาเลโวไทรอกซีน 25 ไมโครกรัม – ยาไลโอไทโรนีน 6.25 ไมโครกรัม
  • สำหรับผู้ป่วยที่จะมีสภาวะต่อมไทรอยด์กลับมาเป็นปกติได้ต่อเมื่อโรคหลอดเลือดหัวใจแย่ลงเท่านั้นควรลดขนาดยาฮอร์โมนไทรอยด์ลง

คำแนะนำอื่นๆ

คำแนะนำการใช้

  • โดยปกติมักจะเริ่มต้นการรักษาที่ยาขนาดต่ำแล้วค่อย ๆ ปรับขนาดยาโดยขึ้นอยู่กับสถานะหลอดเลือดหัวใจของผู้ป่วย
  • ควรเริ่มต้นการรักษาทันทีทักทีหลังจากการวินิจฉัยและดำเนินการรักษาไปตลอดชีวิต นอกเสียจากว่าจะสงสัยว่าจะเป็นภาวะขาดไทรอยด์ชั่วคราว ซึ่งในกรณีนี้สามารถระงับการรักษาเป็นเวลา 2 ถึง 8 สัปดาห์ หลังจากผ่านไป 3 ปี เพื่อทำการประเมินสภาวะใหม่
  • อาจควรหยุดการรักษาในผู้ป่วยที่สามารถรักษาระดับของฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ (TSH) ไว้ในระดับปกติ ในช่วง 2 ถึง 8 สัปดาห์นั้น
  • ในช่วงที่รักษาระดับของฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์และไทรอกซิน (T4) มักจะส่งผลให้เกิดการรักษาที่เพียงพอ
  • ควรปรับขนาดยาฮอร์โมนไทรอยด์ใหม่อีกครั้งภายในช่วง 4 สัปดาห์แรกของการรักษา ตามด้วยการประเมินอย่างเหมาะสมทางการแพทย์และห้องแล็บ รวมถึงการวัดระดับเซรั่มไทรอกซิน อนุพันธ์ยึดเหนี่ยว (bound) อนุพันธ์อิสระ (free) และระดับของฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์

การเก็บรักษา

  • เก็บไว้ที่ 2 องศาเซลเซียส ถึง 8 องศาเซลเซียส (36 ฟาเรนไฮต์ ถึง 46 ฟาเรนไฮต์)
  • เก็บไว้ในภาชนะที่แน่นและทนต่อแสง

ทั่วไป

  • ควรใช้ฮอร์โมนด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยที่ต้องสงสัยอย่างมากว่าจะมีภาวะต่อมไทรอยด์อยู่เหนือการควบคุม (Thyroid gland autonomy) เนื่องจากเห็นว่าผลของฮอร์โมนภายนอกนั้นจะไปเพิ่มกับแหล่งฮอร์โมนภายใน

การเฝ้าระวัง

  • หัวใจและหลอดเลือด: ควรวัดระดับของโปรทรอมบิน ไทม์ (Prothrombin time) บ่อย ๆ หากมีการใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดแบบรับประทาน
  • ต่อมไร้ท่อ: ควรตรวจสมรรถภาพของต่อมไทรอยด์เป็นระยะ เฝ้าระวังระดับของน้ำตาลกลูโคสในผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือโรคเบาจืด

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย

  • รับการรักษาในทันที หากมีสัญญาณหรืออาการของฮอร์โมนไทรอยด์เป็นพิษในช่วงระหว่างการรักษา เช่น เจ็บหน้าอก อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ใจสั่น เหงื่อออกมากเกินไป แพ้ความร้อน ประหม่า หรืออาการที่ผิดปกติใดๆ

ขนาดยาไลโอทริกซ์สำหรับเด็ก

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาภาวะขาดไทรอยด์

  • 0 ถึง 6 เดือน: ยาเลโวไทรอกซีน 12.5 ไมโครกรัม – ยาไลโอไทโรนีน 3.1 ไมโครกรัม ถึง ยาเลโวไทรอกซีน 25 ไมโครกรัม – ยาไลโอไทโรนีน 6.25 ไมโครกรัม รับประทานวันละครั้ง
  • 6 ถึง 12 เดือน: ยาเลโวไทรอกซีน 25 ไมโครกรัม – ยาไลโอไทโรนีน 6.25 ไมโครกรัม ถึง ยาเลโวไทรอกซีน 37.5 ไมโครกรัม – ยาไลโอไทโรนีน 9.35 ไมโครกรัม รับประทานวันละครั้ง
  • 1 ถึง 5 ปี: ยาเลโวไทรอกซีน 37.5 ไมโครกรัม – ยาไลโอไทโรนีน 9.35 ไมโครกรัม ถึง ยาเลโวไทรอกซีน 50 ไมโครกรัม – ยาไลโอไทโรนีน 12.5 ไมโครกรัม รับประทานวันละครั้ง
  • 6 ถึง 12 ปี: ยาเลโวไทรอกซีน 50 ไมโครกรัม – ยาไลโอไทโรนีน 12.5 ไมโครกรัม ถึง ยาเลโวไทรอกซีน 75 ไมโครกรัม – ยาไลโอไทโรนีน 18.75 ไมโครกรัม รับประทานวันละครั้ง
  • อายุมากกว่า 12 ปี: ขนาดยามากกว่า ยาเลโวไทรอกซีน 75 ไมโครกรัม – ยาไลโอไทโรนีน 18.75 ไมโครกรัม รับประทานวันละครั้ง

คำแนะนำ

  • ทารกที่มีภาวะขาดไทรอยด์เรื้อรังควรเริ่มต้นการรักษาด้วยยาขนาดเต็มทันทีที่ได้รับการวินิจฉัย
  • ควรวัดสถานะของต่อมไทรอยด์เป็นประจำ รวมถึงการวัดระดับเซรั่มไทรอกซิน และ/หรือ ฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ในผู้ป่วยทุกราย โดยเฉพาะกับทารกแรกเกิด ในกรณีที่ผลของการขาดไทรอยด์นั้นเป็นอันตรายต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนา

การใช้งาน

เพื่อรักษาภาวะขาดไทรอยด์เรื้อรัง

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาเม็ดสำหรับรับประทาน

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ในทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 10/08/2020

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา