backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ไอโซไนอาซิด (Isoniazid)

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ · ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ไอโซไนอาซิด (Isoniazid)

ข้อบ่งใช้ ไอโซไนอาซิด

ไอโซไนอาซิด ใช้สำหรับ

ยา ไอโซไนอาซิด (Isoniazid) ใช้ร่วมกับยาอื่นเพื่อรักษาการติดเชื้อวัณโรคที่กำลังมีอาการอยู่ (active tuberculosis infections) นอกจากนี้ ยังใช้เป็นยาชนิดเดียวเพื่อป้องกันการติดเชื้อวัณโรคในผู้ป่วยที่อาจจะติดเชื้อแบคทีเรียแล้ว (ผู้ที่มีผลการตรวจวัณโรคทางผิวหนังเป็นบวก) ยาไอโซไนอาซิดเป็นยาปฏิชีวนะและทำงานโดยการหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย

ยาปฏิชีวนะนี้ใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ไม่สามารถใช้กับการติดเชื้อไวรัสได้ เช่น โรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่จำเป็นหรือใช้ในทางที่ผิดอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง

วิธีการใช้ยาไอโซไนอาซิด

  • รับประทานยานี้ขณะท้องว่าง (1 ชั่วโมงก่อน หรือ 2 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร) ตามที่แพทย์กำหนด หากคุณกำลังใช้ยาในรูปแบบยาน้ำ ควรตวงยาอย่างระมัดระวังโดยใช้อุปกรณ์หรือช้อนสำหรับตวงยา อย่าใช้ช้อนธรรมดาเพราะอาจจะได้ขนาดยาที่ไม่ถูกต้อง
  • หากคุณกำลังใช้ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของอะลูมิเนียม ควรใช้ยานี้อย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนใช้ยาลดกรด
  • ขนาดยาขึ้นอยู่กับอายุ น้ำหนัก สภาวะทางการแพทย์ และการตอบสนองต่อการรักษา
  • เพื่อผลที่ดีที่สุด ควรใช้ยานี้โดยเว้นระยะเวลาให้เท่าๆ กัน หากคุณรับประทานยานี้ทุกวัน ควรใช้ยาในเวลาเดียวกันทุกวัน หากคุณใช้ยานี้ทุกสัปดาห์ ควรใช้ยานี้ในวันเดียวกันของทุกสัปดาห์และใช้ในเวลาเดียวกันของทุกวัน ควรทำเครื่องหมายเตือนเวลารับประทานยาไว้บนปฏิทิน
  • ใช้ยานี้ (และยารักษาวัณโรคอื่นๆ) อย่างต่อเนื่องจนครบกำหนดแม้ว่าอาการจะหายไปแล้ว การหยุดใช้ยาเร็วเกินไปหรือข้ามมื้อยาจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตต่อไปและอาจทำให้การติดเชื้อกำเริบและทำให้การติดเชื้อนั้นรักษาได้ยากขึ้น (ดื้อยา)
  • แพทย์อาจจะให้คุณรับประทานวิตามินบี 6 หรือยาไพริดอกซีน (pyridoxine) เพื่อช่วยป้องกันผลข้างเคียงบางอย่าง เช่นปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาทจากยาไอโซไนอาซิด ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างระมัดระวัง
  • ยาไอโซไนอาซิดอาจมีปฏิกิริยากับอาหารที่มีส่วนผสมของ ไทรามีน (tyramine) หรือฮีสตามีน (histamine) เช่น ชีส ไวน์แดง หรือปลาบางชนิด ปฏิกิริยานี้อาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ผิวแดง ปวดหัว วิงเวียน หรือหัวใจเต้นเร็วหรือรัว โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบในทันทีหากเกิดอาการเหล่านี้ แพทย์อาจจะแนะนำให้คุณรับประทานอาหารชนิดพิเศษขณะที่กำลังใช้ยานี้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
  • โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการของคุณยังมีอยู่หรือรุนแรงขึ้น

การเก็บรักษายาไอโซไนอาซิด

ยาไอโซไนอาซิดควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาไอโซไนอาซิดบางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัยโปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้งยาไอโซไนอาซิดลงในชักโครก หรือเทลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้องเมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาไอโซไนอาซิด

  • ก่อนใช้ยาไอโซไนอาซิด แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากคุณแพ้ยานี้ หรือหากคุณเป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆ ยานี้อาจมีส่วนประกอบไม่ออกฤทธิ์ที่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือปัญหาอื่น โปรดปรึกษาเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
  • ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ โดยเฉพาะ เคยมีอาการแพ้ต่อยาไอโซไนอาซิด โรคตับ การใช้แอลกอฮอล์ ติดเชื้อเอชไอวี โรคไต เหน็บชาที่แขนหรือขา อาการปลายประสาทเสื่อม (peripheral neuropathy) หรือเพิ่งผ่านการคลอดบุตรมา
  • ก่อนการผ่าตัดโปรดแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณกำลังใช้ (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่หาซื้อเอง และสมุนไพรต่างๆ)
  • แอลกอฮอล์อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคตับ ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะที่กำลังใช้ยานี้
  • ยานี้อาจทำให้วัคซีนแบคทีเรียเชื้อเป็น เช่น วัคซีนบีซีจี (BCG vaccine) ทำงานได้ไม่ดีดังเดิม ดังนั้น จึงไม่ควรสร้างภูมิคุ้มกันหรือรับวัคซีนขณะที่กำลังใช้ยานี้นอกเสียจากแพทย์จะสั่งให้คุณทำ
  • ยานี้ในรูปแบบยาน้ำอาจจะมีส่วนผสมของน้ำตาล ควรระมัดระวังในการใช้ยาหากคุณเป็นโรคเบาหวาน หรือมีสภาวะอื่นๆ ที่ทำให้คุณต้องจำกัดหรือหลีกเลี่ยงน้ำตาล โปรดสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีการใช้ยานี้อย่างปลอดภัย
  • ในช่วงขณะการตั้งครรภ์ควรใช้ยานี้เมื่อจำเป็นเท่านั้น โปรดปรึกษาความเสี่ยงและประโยชน์กับแพทย์
  • ยานี้สามารถผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่แต่ไม่น่าที่จะเป็นอันตรายกับทารก โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมุบตร

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยา

ยาไอโซไนอาซิดจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด C โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยาไอโซไนอาซิด

  • อาจเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือท้องไส้ปั่นป่วน หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือรุนแรงขึ้นโปรดแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรในทันที
  • โปรดจำไว้ว่าการที่แพทย์ให้คุณใช้ยาตัวนี้เนื่องจากคำนวณแล้วว่ายามีประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ และคนที่ใช้ยานี้ส่วนใหญ่ไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบในทันทีหากเกิดผลข้างเคียงที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้นแต่รุนแรงดังต่อไปนี้ เหน็บชาที่แขนหรือขา มีอาการปวดหรือบวมที่ข้อต่อ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบในทันทีหากเกิดผลข้างเคียงที่หายากแต่รุนแรงมากดังต่อไปนี้ กระหายน้ำมากขึ้นหรือปัสสาวะมากขึ้นการมองเห็นเปลี่ยนแปลง มีรอยช้ำหรือเลือดออกง่าย มีความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจหรืออารมณ์ (เช่นสับสน โรคจิต) มีอาการชัก
  • การแพ้ยาที่รุนแรงต่อยานี้ ค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาการของการแพ้รุนแรงมีดังนี้ เป็นไข้ไม่หาย มีอาการบวมที่ต่อมน้ำเหลืองใหม่หรือรุนแรงขึ้น ผดผื่น คันหรือบวม (โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลิ้น และลำคอ) วิงเวียนขั้นรุนแรง หายใจติดขัด
  • ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้อาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

  • ยาที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ได้แก่ ยาอะเซตามีโนเฟน (acetaminophen) ยาต้านเชื้อราเอโซลบางชนิด (azole antifungals) อย่างไอทราโคนาโซล (itraconazole) หรือคีโตโคนาโซล (ketoconazole) ยาไดซูลไฟแรม (disulfiram) ยาในกลุ่มเอ็มเอโอไอ (MAO inhibitors) อย่างไอโซโคนาซิด (isocarboxazid) ลิเนโซลิด (linezolid) เมทิลีนบลู (methylene blue) โมโคลเบไมด์ (moclobemide) ฟีเนลซีน (phenelzine) โพรคาร์บาซีน (procarbazine) ราซาจิลีน (rasagiline) ซาฟินาไมด์ (safinamide) เซเลจิลีน (selegiline) หรือทรานิลไซโพรมีน (tranylcypromine) ยาเฟนิโทอิน (phenytoin) ยาต้านซึมเศร้าในกลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (SSRI antidepressants) เช่นยาฟลูออกเซทีน (fluoxetine) หรือเซอร์ทราลีน (sertraline) ยากรดวาลโพรอิก (valproic acid)
  • ยานี้อาจส่งผลกระทบต่อผลการตรวจในห้องแล็บบางชนิด (รวมถึงการตรวจน้ำตาลกลูโคสในปัสสาวะ) และอาจทำให้ผลตรวจเป็นเท็จได้ โปรดแจ้งบุคลากรในห้องแล็บและแพทย์ของคุณทุกคนให้ทราบว่าคุณกำลังใช้ยานี้

ยาไอโซไนอาซิดอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาใดๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาไอโซไนอาซิดอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาไอโซไนอาซิดอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาไอโซไนอาซิดสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาวัณโรค – มีอาการ

สำหรับการติดเชื้อที่กำลังมีอาการ

  • 5 มก./กก. (จนถึง 300 มก.) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือรับประทานวันละครั้ง หรือ 15 มก./กก. (จนถึง 900 มก.) 2 ถึง 3ครั้งต่อสัปดาห์ การรักษามักจะดำเนินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ดือน หรือ 3 เดือนหลังผลการเพาะเชื้อเป็นลบ (culture conversion) เมื่อใช้ร่วมกับยาไรแฟมพิน (rifampin) และยาไพราซินาไมด์ (pyrazinamide)

สำหรับการติดเชื้อแฝง

  • 10-20 มก./กก./วัน รับประทานวันละครั้ง ไม่ควรเกิน 300 มก./วัน
  • หากใช้แค่ยาไอโซไนอาซิดและยาไพราซิไมด์ ควรใช้ยาไอโซไนอาซิดอย่างต่อเนื่องนาน 9 เดือน หากใช้กับผู้ป่วยที่มีเชื้อเอชไอวี ควรดำเนินการรักษานานอย่างน้อย 9 เดือน หรือ 6 เดือนหลังจากผลการเพาะเชื้อเป็นลบแล้ว ควรพิจารณาการรักษาในระยะยาวกว่านั้นสำหรับผู้ป่วยโรคปอดฝุ่นทราย (silicotuberculosis) วัณโรคกระดูก (bone tuberculosis) และวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง (meningeal tuberculosis)

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อป้องกันวัณโรค

  • 300 มก. รับประทานวันละครั้ง หรือ 900 มก. รับประทานสัปดาห์จะ 2 ถึง 3 ครั้ง ควรใช้ยาไอโซไนอาซิดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือนเพื่อป้องกันการเกิดวัณโรคแบบมีอาการสำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยแทรกซ้อน
  • สำหรับผู้ป่วยที่มีปัจจัยแทรกซ้อนเช่น ติดเชื้อเอชไอวี โรคเบาหวาน มะเร็งระบบโลหิต (hematologic malignancy) หรือมีแผลเป็นจากการเอกซเรย์หน้าอก ควรดำเนินการรักษาป้องกันเป็นเวลา 12 เดือน

การติดเชื้อมัยโคแบคทีเรีย แคนซาซิล (Mycobacterium kansasii)

  • 600 ถึง 900 มก. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือรับประทานวันละครั้ง

การปรับขนาดยาสำหรับไต

  • ค่าครีอะตินีนเคลียรานซ์ (CrCl) น้อยกว่า 10 มล./นาที ลดขนาดยาลงมา 50%

การปรับขนาดยาสำหรับตับ

  • หากผลการทดสอบสมรรถภาพตับนั้นเกินกว่า 3 ถึง 5 เท่าของค่าพื้นฐานของขีดจำกัดบน หยุดใช้ยาไอโซไนอาซิดและเฝ้าระวังจนกว่าผลการทดสอบสมรรถภาพตับจะกลับสู่พื้นฐาน อาการของความเป็นพิษต่อตับนั้นมีทั้งอะนอเร็กเซีย (anorexia) คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะสีคล้ำ ดีซ่าน ผดผื่น มีอาการชาบ่อยครั้งที่มือและเท้า มีอาการเหนื่อยล้าบ่อยครั้ง อ่อนแรง หรือเป็นไข้นานกว่า 3 วันและมีอาการกดเจ็บที่ช่องท้องด้านบนขวา
  • อาจเริ่มใช้ยาไอโซไนอาซิดอีกครั้งหากผลการทดสอบสมรรถภาพตับกลับมาสู่พื้นฐานและอาการของความเป็นพิษหายไป

การปรับขนาดยา

  • ควรลดขนาดยาสำหรับผู้ป่วยโรคตับระดับรุนแรง

กระบวนการไดอะไลซิส (Dialysis)

  • สามารถกำจัดยาไอโซไนอาซิด (50% ถึง 100%) ได้โดยการฟอกเลือดโดยเครื่องไตเทียม (hemodialysis)

คำแนะนำอื่นๆ

  • ยาไพริดอกซีน 50 มก. รับประทานวันละครั้ง อาจให้ร่วมกับยาไอโซไนอาซิดเพื่อป้องกันการเกิดภาวะปลายประสาทอักเสบ (peripheral neuropathy)

ขนาดยาไอโซไนอาซิดสำหรับเด็ก

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาวัณโรค – มีอาการ

รับประทานยาหรือฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ

  • ทารก เด็กที่น้ำหนัก 40 กก. หรือน้อยกว่า และวัยรุ่นอายุ 14 ปีหรือน้อยกว่าและน้ำหนักน้อยกว่า 40 กก.

สำหรับการติดเชื้อที่กำลังมีอาการ

  • คำแนะนำจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ (CDC) สหรัฐฯ คือ 10 ถึง 15 มก./กก./วัน วันละครั้ง (ขนาดยาสูงสุดคือ 300 มก./วัน) หรือ 20 ถึง 30 มก./กก./ครั้ง (ขนาดยาสูงสุดคือ 900 มก./วัน) สัปดาห์ละ 2 ครั้งเป็นส่วนหนึ่งของสูตรการรักษาด้วยยาหลายชนิด

สำหรับการติดเชื้อแฝง

  • 10 ถึง 20 มก./กก./วัน วันละครั้ง (ขนาดยาสูงสุดคือ 300 มก./วัน) หรือ 20 ถึง 40 มก./กก./ครั้ง (ขนาดยาสูงสุดคือ 900 มก./วัน) สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ระยะเวลาการรักษาคือ 9 เดือน

การป้องกันวัณโรคแบบปฐมภูมิในผู้ป่วยที่มีเชื้อเอชไอวี

  • 10 ถึง 15 มก./กก./วัน วันละครั้ง (ขนาดยาสูงสุดคือ 300 มก./วัน) หรือ 20 ถึง 30 มก./กก./ครั้ง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง (ขนาดยาสูงสุดคือ 900 มก./วัน) ระยะเวลาการรักษาคือ 9 เดือน

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาวัณโรค – โรคแฝง

รับประทานยาหรือฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ

  • ทารก เด็กที่น้ำหนัก 40 กก. หรือน้อยกว่า และวัยรุ่นอายุ 14 ปีหรือน้อยกว่าและน้ำหนักน้อยกว่า 40 กก.

สำหรับการติดเชื้อที่กำลังมีอาการ

  • คำแนะนำจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐฯ คือ 10 ถึง 15 มก./กก./วัน วันละครั้ง (ขนาดยาสูงสุดคือ 300 มก./วัน) หรือ 20 ถึง 30 มก./กก./ครั้ง (ขนาดยาสูงสุดคือ 900 มก./วัน) สัปดาห์ละ 2 ครั้งเป็นส่วนหนึ่งของสูตรการรักษาด้วยยาหลายชนิด

สำหรับการติดเชื้อแฝง

  • 10 ถึง 20 มก./กก./วัน วันละครั้ง (ขนาดยาสูงสุดคือ 300 มก./วัน) หรือ 20 ถึง 40 มก./กก./ครั้ง (ขนาดยาสูงสุดคือ 900 มก./วัน) สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ระยะเวลาการรักษาคือ 9 เดือน

การป้องกันวัณโรคแบบปฐมภูมิในผู้ป่วยที่มีเชื้อเอชไอวี

  • 10 ถึง 15 มก./กก./วัน วันละครั้ง (ขนาดยาสูงสุดคือ 300 มก./วัน) หรือ 20 ถึง 30 มก./กก./ครั้ง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง (ขนาดยาสูงสุดคือ 900 มก./วัน) ระยะเวลาการรักษาคือ 9 เดือน

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาสารละลายสำหรับฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
  • ยาเม็ดสำหรับรับประทาน
  • ยาน้ำเชื่อมสำหรับรับประทาน

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ในทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา