backup og meta

5 เรื่องของความดันโลหิตสูง ที่คุณคิดว่ารู้ แต่จริงๆ เข้าใจผิดทั้งเพ!


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 01/08/2021

    5 เรื่องของความดันโลหิตสูง ที่คุณคิดว่ารู้ แต่จริงๆ เข้าใจผิดทั้งเพ!

    เรื่องของความดันโลหิตสูง เป็นเรื่องที่หลายคนเข้าใจผิด และคิดว่าต้องมีอาการป่วยไข้บางอย่าง ถึงจะรู้ได้ว่าตัวเองมีความดันโลหิตสูง ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะหลายคนความดันโลหิตสูง แต่ไม่ได้ปรากฏอาการอะไร และยังดูเหมือนว่าเป็นคนที่มีสุขภาพดีอีกด้วย

    นอกจากนี้ ความดันโลหิตสูงมักไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ และไม่สามารถตรวจพบได้เป็นเวลาหลายปี แต่หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา ความดันโลหิตสูงอาจก่อให้เกิดปัญหารุนแรง เช่น โรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจได้ บทความนี้ Hello คุณหมอ จึงชวนมาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับภาวะดังกล่าว โดยต่อไปนี้เป็นความเข้าใจผิด 5 ประการ เกี่ยวกับความดันโลหิตสูง

    ความเข้าใจผิดที่ 1: ความดันโลหิตสูงไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่

    เมื่อไม่มีอาการ คุณอาจรู้สึกว่าไม่มีความผิดปกติเกี่ยวกับสุขภาพของคุณ นี่เป็นเหตุผลที่ความดันโลหิตสูงเป็นที่รู้จักว่าเป็น “ฆาตกรเงียบ” ความดันโลหิตสูงอาจก่อให้เกิดความเสียหายที่หลอดเลือด ไต หัวใจ และอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายของคุณ

    โดยปกติแล้ว หัวใจของคุณเต้นในอัตราปกติ เพื่อสูบฉีดโลหิตผ่านหลอดเลือด ซึ่งจะลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารต่างๆ ไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ในขณะที่เลือดดันตัวผ่านผนังหลอดเลือด หลอดเลือดอาจขยายตัวหรือหดตัวตามความจำเป็น เพื่อให้การไหลของเลือดเป็นไปด้วยดี เมื่อคุณมีความดันโลหิตสูง แรงดันที่ดันเลือดผ่านทางหลอดเลือดจะมีค่าสูงเกินไป

    ความดันโลหิตสูงอาจไม่ดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่ แต่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เห็นพ้องว่า เป็นเรื่องใหญ่ที่ควรให้ความสนใจ และเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องตรวจความดันโลหิตสูงในระยะเริ่มแรก เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงต่อไป

    ความเข้าใจผิดที่ 2: ความดันโลหิตสูงไม่สามารถป้องกันได้

    คุณอาจมีสมาชิกในครอบครัวที่มีความดันโลหิตสูง หรืออยู่ในช่วงอายุที่ทำให้คุณมีความเสี่ยงมากขึ้น หากคุณมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการสำหรับความดันโลหิตสูง คุณอาจคิดว่าคุณไม่สามารถป้องกันตนเองได้จากความดันโลหิตสูง แต่คุณควรคิดใหม่ได้แล้ว

    ถึงแม้ว่าคุณมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ แต่คุณก็ยังสามารถป้องกันความดันโลหิตสูงได้ ต่อไปนี้เป็นข้อปฏิบัติบางประการที่คุณสามารถทำได้

    • รักษาน้ำหนักร่างกายให้พอดี  เมื่อคุณรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรักษาน้ำหนักร่างกายให้พอดีจะไม่เป็นเรื่องยาก
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์  สิ่งนี้รวมถึงการรับประทานอาหารในปริมาณที่ร่างกายต้องการ และเลือกอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารต่างๆ และมีไขมัน น้ำตาล และเกลือในปริมาณที่ต่ำเท่านั้น
    • จำกัดการบริโภคเกลือ โซเดียมส่วนใหญ่ที่พบในอาหารมักอยู่ในรูปของเกลือ อาจเป็นเกลือที่ใส่ในอาหารหรือเกลือที่พบในอาหารแปรรูป เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการปรุงอาหารที่บ้านซึ่งคุณสามารถควบคุมปริมาณเกลือในอาหารของคุณได้
    • จำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  จำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่คุณดื่ม
    • ห้ามสูบบุหรี่  ห้ามสูบบุหรี่ และลดการสัมผัสกับการสูบบุหรี่มือสองด้วย
    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  คุณควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีในแต่ละวัน อย่างน้อยห้าวันต่อสัปดาห์ การออกกำลังกายบรรเทาความตึงเครียดและช่วยควบคุมน้ำหนักของคุณ
    • จัดการกับความเครียด ร่างกายของคุณมีการตอบสนองต่อความเครียดได้โดยการสร้างสารเคมีที่ทำให้หัวใจของคุณเต้นเร็วขึ้น และหลอดเลือดตึง ซึ่งทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการจัดการความเครียด เป็นวิธีที่ง่ายๆ ที่คุณสามารถป้องกันความดันโลหิตสูงได้

    ความเข้าใจผิดที่ 3: ความดันโลหิตถือว่าเป็นปกติเมื่อตัวเลขหนึ่งมีค่าปกติ

    คุณอาจสังเกตว่า เมื่อแพทย์วัดค่าความดันโลหิต ค่าความดันโลหิตจะประกอบด้วยตัวเลขสองตัวเลข ได้แก่ ตัวเลขตัวบนและตัวเลขตัวล่าง ตัวเลขเหล่านี้อาจทำให้สับสน ตัวเลขตัวบนซึ่งเป็นตัวเลขที่มีค่าสูงกว่า เรียกว่า ค่าความดันโลหิตซิสโตลิก (systolic blood pressure) ตัวเลขนี้แสดงค่าแรงดันโลหิตที่ไหลผ่านหลอดเลือดในทุกครั้งที่หัวใจมีการเต้น ต่อไปนี้เป็นความหมายของค่าความดันโลหิตซิสโตลิก

    • 119 หรือต่ำกว่า เป็นค่าความดันโลหิตซิสโตลิกในระดับปกติ
    • 120-139 จัดเป็นค่าความดันโลหิตก่อนเป็นความดันโลหิตสูง
    • 140 และสูงกว่า เป็นค่าความดันโลหิตสูง

    ตัวเลขตัวล่างซึ่งเป็นตัวเลขที่มีค่าต่ำกว่า เรียกว่า ค่าความดันโลหิตไดแอสโตลิก (diastolic blood pressure) ตัวเลขนี้แสดงค่าแรงดันโลหิตที่ไหลผ่านหลอดเลือด ในขณะที่หัวใจกำลังหยุดพักในช่วงรอยต่อของจังหวะการเต้นของหัวใจ ต่อไปนี้เป็นความหมายของค่าความดันโลหิตไดแอสโตลิก

    • 79 หรือต่ำกว่า เป็นค่าความดันโลหิตไดแอสโตลิกในระดับปกติ
    • 80-89 จัดเป็นค่าความดันโลหิตก่อนเป็นความดันโลหิตสูง
    • 90 และสูงกว่า เป็นค่าความดันโลหิตสูง

    คุณอาจคิดว่า หากตัวเลขหนึ่งมีค่าปกติแล้ว ความดันโลหิตของคุณเป็นปกติ สิ่งนี้ไม่เป็นความจริง ตัวเลขทั้งสองตัวเลขมีความสำคัญอย่างเท่าเทียมกัน ให้ระลึกไว้ว่า ค่าความดันโลหิตของคุณเปลี่ยนแปลงได้ตลอดทั้งวัน

    ค่าความดันโลหิตซิสโตลิกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เมื่อคุณมีอายุมากขึ้นในขณะที่ค่าความดันโลหิตไดแอสโตลิกอาจมีค่าลดลง หากตัวเลขแต่ละตัวเลขมีค่าสูงกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง คุณจำเป็นต้องแจ้งแพทย์ทันที คุณสามารถป้องกันอาการแทรกซ้อนได้ เมื่อคุณสามารถรักษาความดันโลหิตสูงได้เร็ว

    ความเข้าใจผิดที่ 4: ความดันโลหิตสูงรักษาได้ด้วยยาเท่านั้น

    ความดันโลหิตสูงไม่ได้รักษาได้ด้วยยาเท่านั้น คุณเพียงเปลี่ยนแปลงอาหารและไลฟ์สไตล์ เพื่อลดความดันโลหิต นอกจากนี้ยังมีทางเลือกในการรักษาที่แตกต่างกันสำหรับความดันโลหิตสูง โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ทางเลือกเหล่านี้ร่วมกัน เพื่อจัดการกับอาการของคุณ ซึ่งอาจมีทางเลือกในการรักษาดังต่อไปนี้

    แผนมื้ออาหารแบบ DASH

    แผนมื้ออาหารแบบ Dietary Approaches to Stop Hypertension หรือ DASH ประกอบด้วยการรับประทานไขมันในปริมาณน้อยลง และการรับประทานผลไม้สด ผัก และอาหารที่เป็นธัญพืชไม่ขัดสีในปริมาณมากขึ้น

    แผนมื้ออาหารแบบ DASH ยังเป็นทางเลือกในการจำกัดการใช้เกลือ โดยไม่คำนึงถึงรสชาติอาหาร คุณยังควรจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ในมื้ออาหารของคุณ ปริมาณแอลกอฮอล์ที่มากเกินไปอาจเพิ่มความดันโลหิตได้

    ควบคุมน้ำหนัก

    ตามที่คุณทราบ การมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน อาจเพิ่มความเสี่ยงสำหรับความดันโลหิตสูง คุณควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการใช้แผนมื้ออาหารแบบ DASH เพื่อช่วยให้คุณลดน้ำหนักได้ ให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อให้ทราบว่าน้ำหนักเป้าหมายสำหรับความสูงของคุณเป็นเท่าไร

    ไม่สูบบุหรี่ 

    การสูบบุหรี่อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ การสูบบุหรี่ยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรง ต่อหัวใจและหลอดเลือดของคุณ หากคุณสูบบุหรี่ ให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีในการเลิกบุหรี่โดยสิ้นเชิง ซึ่งจะไม่ได้ช่วยลดความดันโลหิตได้เท่านั้น แต่ยังช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นอีกด้วย

    การใช้ยา

    แพทย์อาจจำเป็นต้องสั่งยา เพื่อควบคุมภาวะความดันโลหิตสูงของคุณ บ่อยครั้งที่การใช้ยาหนึ่งชนิด อาจไม่เพียงพอในการลดความดันโลหิตของคุณได้ คุณอาจจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน เพื่อจัดการกับความดันโลหิตของคุณ

    แพทย์จะเฝ้าระวังอาการของคุณอย่างใกล้ชิดเพื่อหาการใช้ยาร่วมที่เหมาะสมที่ได้ผลโดยมีอาการข้างเคียงน้อยที่สุด ยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง ได้แก่

    • ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ายาขับน้ำ (water pill) ใช้เพื่อลดของเหลวส่วนเกินในร่างกายของคุณ ด้วยการช่วยให้ร่างกายกำจัดโซเดียมส่วนเกิน นอกจากนี้ยังสามารถกำจัดสารพิษต่างๆ ในร่างกายได้
    • ยากลุ่ม ACE inhibitors ยากลุ่ม alpha-blockers และยากลุ่ม calcium channel blockers ออกฤทธิ์โดยการเปิดหลอดเลือดของคุณ และลดการทำงานของหัวใจของคุณ
    • ยากลุ่ม Beta-blockers ออกฤทธิ์โดยการชะลอการเต้นของหัวใจ เพื่อลดความตึงเครียดที่หัวใจของคุณ ไปพร้อมกับป้องกันหลอดเลือดไม่ให้ตีบตัน

    ความเข้าใจผิดที่ 5: เรื่องของความดันโลหิตสูง การรักษาคงไม่ได้ผล

    การรักษาความดันโลหิตในวิธีแรกของคุณอาจไม่ได้ผลเสมอไป คุณควรคาดหวังว่า แพทย์จะเปลี่ยนวิธีการรักษาสองสามครั้ง ก่อนที่จะหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมและได้ผลสูงสุด ซึ่งวิธีเหล่านี้อาจช่วยให้คุณได้รับประโยชน์จากการรักษามากที่สุด

    • ให้ตรวจวัดค่าความดันโลหิตให้บ่อยที่สุด ตามที่แพทย์แนะนำ
    • ให้ปฏิบัติตามแผนการรักษาตามที่แพทย์สั่ง ให้แจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากคุณมีอาการแทรกซ้อนใดๆ หรือมีปัญหาในการรักษา
    • ให้มั่นใจว่าไปพบหมออย่างสม่ำเสมอ ให้นำบันทึกค่าความดันโลหิตของคุณและบันทึกใดๆ ที่มีเกี่ยวกับการรักษาไปด้วย สิ่งนี้จะทำให้การไปพบหมอ เพื่อทำการรักษาได้ผลมากขึ้น และคุณจะมีเวลามากขึ้น เพื่อสอบถามข้อสงสัย
    • ทำความความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยา โดยการสอบถามจากแพทย์หรือเภสัชกร สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาที่แพทย์สั่งแต่ละชนิด หากทราบว่ายาออกฤทธิ์ได้อย่างไร และผลข้างเคียงใดที่ต้องเฝ้าระวัง คุณจะทราบว่าเมื่อไรที่ควรปรึกษาแพทย์ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น และไปตรวจติดตามอาการกับแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

    การเรียนรู้เกี่ยวกับความเข้าใจที่ผิด เกี่ยวกับภาวะความดันโลหิตสูง สามารถช่วยให้คุณได้ทราบความจริงเกี่ยวกับความดันโลหิตสูงได้ครบถ้วนยิ่งขึ้น การทำความเข้าใจให้มากขึ้นเกี่ยวกับความดันโลหิตสูง คุณจะสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น ในเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพ และการวางแผนเพื่อจัดการกับภาวะดังกล่าวได้ รวมถึงยังมีความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด


    เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 01/08/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา