backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic Sinusitis)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 15/06/2021

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic Sinusitis)

โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง หมายถึงอาการติดเชื้อและอักเสบของไซนัสติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไป จนทำให้ไซนัสอุดตัน และเกิดการสะสมของน้ำมูกภายในโพรงจมูก

คำจำกัดความ

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง คืออะไร

โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic Sinusitis) หมายถึงอาการติดเชื้อและอักเสบของไซนัสติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไป เรียกอีกชื่อก็คือโพรงอากาศข้างจมูกอักเสบเรื้อรัง (Chronic Rhinosinusitis) ไซนัสที่อักเสบและบวมขึ้นนี้อาจกลายมาเป็น ริดสีดวงจมูก ที่ปิดกั้นโพรงจมูก ทำให้เกิดการสะสมของน้ำมูก และทำให้หายใจไม่ออกได้

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง พบได้บ่อยได้แค่ไหน

โรคไซนัสอักเสบเรื้อรังสามารถเกิดได้กับผู้ป่วยทุกช่วงอายุ จัดการได้โดยการลดปัจจัยความเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของ โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง

จะต้องมีอย่างน้อยสองจากสี่สัญญาณ และอาการหลักของโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง เพื่อยืนยันการติดเชื้อที่จมูกสำหรับการวินิจฉัยโรค ซึ่งมีดังนี้

  • มีน้ำมูกที่ข้นและเปลี่ยนสีไหลออกมาจากจมูก หรือระบายไหลลงไปในด้านหลังคอ เรียกว่าอาการเสมหะไหลลงคอ (postnasal drip)
  • จมูกอุดตันหรือคัดจมูก ทำให้หายใจผ่านจมูกได้ลำบาก
  • มีอาการปวด กดเจ็บ และบวมบริเวณดวงตา แก้ม จมูก หรือหน้าผาก
  • ดมกลิ่นและรับรสได้น้อยลงในผู้ใหญ่ หรือมีอาการไอในเด็ก

อาการอื่น ๆ อาจจะมีดังนี้คือ

  • ปวดหู
  • ปวดกรามบน
  • ปวดฟัน
  • มีอาการไอที่หนักขึ้นในตอนกลางคืน
  • เจ็บคอ
  • มีกลิ่นปาก
  • เหนื่อยล้าหรือหงุดหงิด
  • คลื่นไส้

โรคไซนัสอักเสบเรื้อรังและไซนัสอักเสบเฉียบพลัน มีสัญญาณและอาการที่คล้ายกัน แต่ไซนัสอักเสบเฉียบพลันเป็นการติดเชื้อที่ไซนัสชั่วคราว และมักเกี่ยวข้องกับโรคหวัด สัญญาณและอาการของโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังจะอยู่นานกว่า และมักทำให้อ่อนล้ามากกว่า ไข้ไม่ใช่สัญญาณทั่วไปของโรคโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง แต่คุณอาจจะมีไข้ได้ หากคุณเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง

อาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใด ๆ โปรดปรึกษาหมอของคุณ

ควรไปพบหมอเมื่อไร

คุณควรไปหาแพทย์หากมีอาการดังต่อไปนี้

  • หากมีอาการของ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง หลายครั้งแล้ว แต่รักษาไม่หายเสียที
  • คุณมีอาการไซนัสอักเสบนานกว่าเจ็ดวัน
  • อาการของคุณไม่ดีขึ้นหลังจากที่คุณไปหาแพทย์

คุณควรไปหาแพทย์ทันที หากมีอาการดังต่อไปนี้ ซึ่งบ่งชี้ถึงการติดเชื้อที่รุนแรง ได้แก่

  • มีไข้สูง
  • บวมหรือมีรอยแดงบริเวณดวงตา
  • ปวดหัวอย่างหนัก
  • สับสน
  • มองเห็นภาพซ้อน หรือการมองเห็นของตาอีกข้างเปลี่ยนไป
  • มีอาการคอแข็ง

สาเหตุ

สาเหตุของโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ริดสีดวงที่จมูก มาปิดกั้นโพรงจมูกหรือไซนัส
  • ผนังกั้นช่องจมูกคด
  • อาการแทรกซ้อนของโรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) โรคกรดไหลย้อน โรคเอชไอวี และโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันอื่น ๆ สามารถส่งผลให้เกิดการอุดตันที่จมูกได้
  • โรคติดเชื้อระบบหายใจ เช่น โรคหวัด สามารถทำให้เยื่อบุไซนัสเกิดการอักเสบและบวมขึ้น จนมาปิดกั้นโพรงจมูก แล้วทำให้เกิด โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง ได้
  • โรคภูมิแพ้ เช่น ไข้ละอองฟาง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเพิ่มเสี่ยงในการเกิดโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง

มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการสำหรับการเกิด โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง ได้แก่

  • ความผิดปกติของโพรงจมูก เช่น ผนังปิดกั้นจมูกคด หรือริดสีดวงจมูก
  • โรคหอบหืด ที่มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง
  • การรู้สึกไวต่อแอสไพรินอาจทำให้เกิดโรคที่ระบบทางเดินหายใจ
  • ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เอชไอวี/เอดส์ หรือโรคซิสติก ไฟโบรซิส
  • ไข้ละอองฟางหรือโรคภูมิแพ้อื่น ๆ ที่ส่งผลต่อไซนัส
  • การสัมผัสกับมลภาวะเป็นประจำ เช่น ควันบุหรี่

การวินิจฉัยโรคและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์ทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง

แพทย์สามารถวินิจฉัย โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง ได้จากการตรวจดังต่อไปนี้

  • การใช้กล้องส่องตรวจในโพรงจมูก (Nasal Endoscopy) เพื่อให้แพทย์ได้เห็นด้านในของไซนัส เรียกอีกอย่างว่าการส่องตรวจจมูก (Rhinoscopy)
  • การทำซีทีสแกนหรือเอ็มอาร์ไอ เพื่อแสดงรายละเอียดของไซนัสและบริเวณจมูกได้ ทำให้สามารถระบุตำแหน่งการติดเชื้อ หรือการอุดตันภายในโพรงจมูกได้
  • การทดสอบโรคภูมิแพ้ หากแพทย์สงสัยว่าโรคนี้อาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ แพทย์อาจจะแนะนำให้ทำการทดสอบการแพ้ทางผิวหนังร่วมด้วย

การรักษาโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง

เป้าหมายของการรักษาโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง คือ

  • ลดการติดเชื้อที่ไซนัส
  • ระบายช่องโพรงจมูก
  • กำจัดสาเหตุที่แท้จริงของโรค
  • ลดการปะทุของไซนัสอักเสบ

การรักษาเพื่อบรรเทาอาการมีดังนี้

  • ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ (Saline nasal irrigation) โดยใช้ยาพ่นจมูกหรือลารละลาย เพื่อลดการอุดตันและล้างเอาสิ่งที่ทำให้ระคายเคืองและแพ้ออกไป
  • ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์ (Nasal corticosteroids) ยาพ่นจมูกนี้จะช่วยป้องกันและรักษาอาการติดเชื้อ หากยาพ่นมีประสิทธิภาพไม่พอ แพทย์อาจจะแนะนำให้ล้างจมูก ด้วยสารละลายน้ำเกลือผสมกับยาบูเดโซไนด์ อย่างพูมิคอร์ท เรสพิวส์ (Pulmicort Respules) หรือใช้สารละลายพ่นจมูก
  • การรักษาเพื่อขจัดภูมิไวต่อแอสไพริน (Aspirin Desensitization) สำหรับผู้ที่มีอาการไซนัสอักเสบเนื่องจากมีปฏิกิริยาต่อแอสไพริน
  • ยาแก้แพ้ สำหรับผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบที่เกี่ยวข้องกับโรคภูมิแพ้
  • หากผู้ป่วยเกิดอาการดื้อยา อาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดไซนัสและโพรงจมูก เพื่อกำจัดเอาริดสีดวง หรือสิ่งที่อุดตันอยู่ในโพรงจมูกออกไป

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือกับโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณรับมือกับอาการของ โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง ได้

  • ดื่มน้ำ เช่น น้ำเปล่า น้ำผลไม้ ที่จะช่วยเจือจางการหลั่งของน้ำมูกและเสมหะ และส่งเสริมการระบายของช่องจมูก หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจทำให้เกิดการคายน้ำได้ การดื่มแอลกฮอล์ยังทำให้อาการบวมที่เกี่ยวข้องกับไซนัสและจมูกแย่ลงอีกด้วย
  • ทำให้โพรงจมูกชุ่มชื้น ด้วยการอบไอน้ำ หรือใช้เครื่องทำความชื้น
  • ประคบร้อนที่ใบหน้า ใช้ผ้าที่อุ่นและหมาด วางไว้ที่บริเวณจมูก แก้ม และดวงตาเพื่อกำจัดอาการปวดใบหน้า
  • ล้างจมูก โดยใช้อุปกรณ์สำหรับล้างจมูกที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ทำการสวนล้างจมูกเพื่อช่วยกำจัดน้ำมูกที่อาจอุดตันอยู่ในไซนัสออกไป
  • นอนโดยยกระดับหัวขึ้น จะช่วยให้ระบายน้ำมูกออกและลดการคัดจมูก

หากคุณมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อทำความเข้าใจให้ดีขึ้นถึงทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 15/06/2021

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา