backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

มะเร็งถุงน้ำดี อาการ สาเหตุ วิธีรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 29/10/2021

มะเร็งถุงน้ำดี อาการ สาเหตุ วิธีรักษา

มะเร็งถุงน้ำดี คือ การเกิดเซลล์มะเร็งในเนื้อเยื่อถุงน้ำดี ซึ่งเป็นอวัยวะรูปร่างเหมือนลูกแพร์ มีตำแหน่งอยู่ใต้ตับในช่องท้องส่วนบน ถุงน้ำดีทำหน้าที่เก็บน้ำดี ซึ่งเป็นของเหลวที่สร้างจากตับเพื่อย่อยไขมัน การสังเกตอาการของโรค อาจช่วยให้เข้ารับการวินิจฉัยและรักษาได้ตั้งแต่ในระยะแรก ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการหายขาดได้

คำจำกัดความ

มะเร็งถุงน้ำดี คืออะไร

มะเร็งถุงน้ำดี (Gallbladder cancer) เป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่เซลล์มะเร็งเกิดขึ้นในเนื้อเยื่อถุงน้ำดี

ถุงน้ำดีเป็นอวัยวะรูปร่างเหมือนลูกแพร์ มีตำแหน่งอยู่ใต้ตับในช่องท้องส่วนบน ถุงน้ำดีทำหน้าที่เก็บน้ำดี ซึ่งเป็นของเหลวที่สร้างจากตับ เพื่อย่อยไขมัน เมื่ออาหารเข้าสู่ระบบการย่อยในกระเพาะอาหารและลำไส้ น้ำดีจะถูกปล่อยจากถุงน้ำดีผ่านท่อน้ำดี ซึ่งเชื่อมถุงน้ำดีและตับเข้ากับลำไส้เล็กส่วนต้น

การตรวจพบมะเร็งถุงน้ำดีในระยะแรกสุด เพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้ แต่มะเร็งถุงน้ำดีส่วนใหญ่ มักตรวจพบในระยะหลัง

มะเร็งถุงน้ำดีพบได้บ่อยเพียงใด

มะเร็งถุงน้ำดีเป็นโรคที่พบได้น้อย โดยผู้หญิงมีโอกาสในการเป็นมะเร็งถุงน้ำดีมากกว่าผู้ชาย อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถจัดการได้โดยลดความเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของมะเร็งถุงน้ำดี

มะเร็งถุงน้ำดีตรวจพบและวินิจฉัยในระยะแรกได้ยาก อย่างไรก็ดี อาการที่อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งถุงน้ำดี ได้แก่

  • ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณช่องท้องส่วนบน
  • ท้องอืด
  • มีอาการคัน
  • มีไข้
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลดโดยไม่ตั้งใจ
  • คลื่นไส้
  • ผิวหนังและตาขาวเป็นสีเหลือง (ดีซ่าน)

ควรไปพบหมอเมื่อใด

การวินิจฉัยและการรักษาในระยะแรก จะช่วยชะลอการพัฒนาโรคของมะเร็งถุงน้ำดี และป้องกันภาวะฉุกเฉินอื่น ดังนั้น หากพบสัญญาณบ่งชี้ของโรคมะเร็งถุงน้ำดี ควรปรึกษาคุณหมอโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันภาวะรุนแรง

สาเหตุ

สาเหตุของ มะเร็งถุงน้ำดี

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของมะเร็งถุงน้ำดี แต่ปัจจัยเหล่านี้ อาจส่งผลให้เกิดมะเร็งชนิดนี้ได้

  • การสูบบุหรี่
  • การสัมผัสกับสารเคมีบางชนิด เช่น สารหนู แร่ใยหิน
  • โรคอ้วน
  • การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น อาหารไขมันสูง อาหารปนเปื้อนสารเคมีอันตราย

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยมะเร็งถุงน้ำดี

วิธีที่นิยมใช้ในการวินิจฉัยมะเร็งถุงน้ำดี อาจมีดังนี้

  • การตรวจร่างกายและการซักประวัติ การตรวจร่างกายเป็นการตรวจดูสัญญาณสุขภาพทั่วไป รวมถึงตรวจหาสัญญาณของโรค เช่น ก้อนเนื้อ เนื้องอก
  • ทดสอบการทำงานของตับ การตรวจตัวอย่างเลือดเพื่อวัดปริมาณสารบางชนิดที่ตับปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ทำให้เห็นภาพที่มีรายละเอียดของพื้นที่ภายในร่างกายมากขึ้น เช่น หน้าอก หน้าท้อง เชิงกราน
  • การตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ใช้ในการตรวจวินิจฉัยรอยโรคของผู้ป่วย เพื่อนำมาใช้ในการรักษาและติดตามผลการรักษา

การรักษาโรคมะเร็งถุงน้ำดี

การรักษาโรคมะเร็งถุงน้ำดีขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง ชนิดของมะเร็ง สภาวะสุขภาพ และอายุของผู้ป่วย โดยวิธีรักษามะเร็งถุงน้ำดีที่นิยมใช้ เช่น

  • การผ่าตัด เป็นทางเลือกหนึ่งหากคุณเป็นมะเร็งถุงน้ำดีในระยะเริ่มแรก
  • การผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก
  • การผ่าตัดเอาถุงน้ำดีและตับบางส่วนออก มะเร็งถุงน้ำดีที่ขยายออกไปนอกถุงน้ำดีและเข้าไปในตับ
  • เคมีบำบัด การใช้ยาฆ่าเซลล์มะเร็งที่เติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถให้เคมีบำบัดผ่านทางการฉีด หรือรับประทาน
  • การรักษาด้วยรังสี การฆ่าเซลล์มะเร็งด้วยลำแสงพลังงานสูง เช่น รังสีเอกซ์และโปรตอน
  • หากเป็นมะเร็งถุงน้ำดีระยะลุกลาม การรักษาอาจทำได้ยากมาก และอาจไม่สามารถรักษามะเร็งได้ ในกรณีนี้ การรักษา คือ การจำกัดมะเร็งและดูอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีอายุยาวขึ้น

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันมะเร็งถุงน้ำดี

    มะเร็งถุงน้ำดีไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการปรับไลฟ์สไตล์ให้ส่งเสริมสุขภาพที่ดี เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ใในเกณฑ์สุขภาพดี งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 29/10/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา