backup og meta

4 ข้อเตือนใจ เมื่อต้องฝึกลูกรับประทานอาหาร

เขียนโดย อาจารย์วรัญญา เตชะสุขถาวร · โภชนาการเพื่อสุขภาพ · คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    4 ข้อเตือนใจ เมื่อต้องฝึกลูกรับประทานอาหาร

    การ ฝึกลูกรับประทานอาหาร เมื่อลูกเข้าสู่วัยตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านคงเกิดความกังวลเกี่ยวกับสารอาหารที่เจ้าตัวน้อยได้รับว่ามีความเหมาะสม และถูกต้องตามหลักโภชนาการมากน้อยเพียงใด ยิ่งถ้าวันไหนคุณลูกงอแง ปฎิเสธอาหาร ก็ยิ่งเพิ่มความหนักใจเข้าไปอีก บทความนี้เรามีขั้นตอนง่ายๆ ของเทคนิคการป้อนอาหารให้ลูกน้อย มาฝากกันค่ะ

    เทคนิคการ ฝึกลูกรับประทานอาหาร อย่างได้ผล มีอะไรบ้าง

    1. ใส่ใจเลือกวัตถุดิบ

    เด็กจะได้สารอาหารครบถ้วนหรือไม่นั้น การเลือกวัตถุดิบถือว่าเป็นหัวใจสำคัญเลยนะคะ ในแต่ละวันเด็กๆ ควรได้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรเลือกซื้อวัตถุดิบให้หลากหลาย ควรประกอบไปด้วยอาหารจำพวกข้าวและแป้ง โปรตีนจากเนื้อสัตว์และไข่ รวมทั้งผักผลไม้หลากสี เพื่อให้ได้วิตามินและเกลือแร่ครบถ้วน และอย่าลืมคำนึงถึงวัตถุดิบอาหารปลอดภัย เช่น ผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษ การล้างทำความสะอาด รวมทั้งการเตรียมวัตถุดิบอย่างพิถีพิถันด้วย ตัวอย่างวัตถุดิบที่ใช้สำหรับเด็กวัย 6 เดือน ที่กำลังฝึกรับประทานอาหาร ได้แก่ ข้าวกล้อง ไข่แดง เนื้อปลาน้ำจืด กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก น้ำส้มคั้น มะม่วงสุกจัด  แอปเปิ้ล ฟักทอง อะโวคาโด เป็นต้น

    2. เลือกลักษณะอาหารที่เหมาะสม

    ในแต่ละช่วงวัยของเด็กนั้นจะมีพัฒนาการที่ต่างกัน การเลือกลักษณะอาหารที่เหมาะสมจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กเล็กได้ โดยอาหารที่ข้นเกินไปอาจทำให้ลูกสำลักได้ ให้คุณพ่อคุณแม่ลองเติมน้ำซุปเคี่ยวผัก ปลา หรือน้ำซุปจากโครงไก่ หรือการเคี่ยวจากเนื้อสัตว์อื่นๆ ตามชอบ เพื่อให้ได้ลักษณะอาหารตามที่ต้องการ การใช้น้ำซุปแทนน้ำเปล่า เป็นการเพิ่มคุณประโยชน์ และความอร่อยให้กับอาหารแบบธรรมชาติ จึงไม่จำเป็นต้องปรุงรสชาติเพิ่ม

    3. หมั่นรักษาความสะอาด หรือสร้างสุขนิสัย สุขอนามัยให้กับเด็ก

    ในช่วงอายุ 6 เดือนขึ้นไป เจ้าตัวน้อยจะมีพัฒนาการด้านร่างกายเพิ่มมากขึ้น เด็กในวัยนี้จะเริ่มหยิบจับสิ่งของด้วยมือและเอาเข้าปาก เริ่มคลาน เกาะ และหัดเดิน หากมือของเด็กมีการปนเปื้อนสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรค แล้วไปหยิบจับอาหารเข้าปาก อาจทำให้เด็กมีอาการไม่สบาย ติดเชื้อ รวมถึงท้องเสียอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เด็กรับประทานอาหารได้น้อยเบื่ออาหาร งอแง และน้ำหนักลดลง เพื่อลดความเสี่ยงของปัญหานี้ ควรหมั่นทำความสะอาดของเล่นและอุปกรณ์ที่เด็กต้องสัมผัส และอย่าลืมทำความสะอาดมือของลูกน้อยให้บ่อยขึ้น

    4. ติดตามการเจริญเติบโตของเด็ก

    โดยหมั่นชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงอยู่เสมอ หากเด็กมีน้ำหนักตัวน้อย หรือน้ำหนักขึ้นน้อยกว่าปกติ อาจสงสัยได้ว่า ได้รับพลังงานจากอาหารไม่เพียงพอ กินน้อยเกินไป แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เพิ่มปริมาณอาหาร หรือเพิ่มมื้ออาหารว่างที่มีประโยชน์ 1-2 มื้อในแต่ละวัน ในทางกลับกัน หากน้ำหนักตัวเพิ่มอย่างรวดเร็ว อาจเป็นไปได้ว่ากินเยอะเกินไป ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักกำหนดอาหาร ในการปรับปริมาณอาหารอย่างละเอียดต่อไป

    หากทำตามเทคนิคหลักๆ 4 ข้อนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่า เจ้าตัวน้อยจะได้รับสารอาหารที่เพียงพอ เหมาะสม และปลอดภัย เพื่อให้เขาเติบโต แข็งแรง สมวัยต่อไปค่ะ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    เขียนโดย

    อาจารย์วรัญญา เตชะสุขถาวร

    โภชนาการเพื่อสุขภาพ · คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


    แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา