backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

HIV สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 14/03/2023

HIV สาเหตุ อาการ และการรักษา

HIV (Human Immunodeficiency Virus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งอาจพัฒนาไปเป็นโรคเอดส์ (AIDS) ซึ่งเป็นการติดเชื้อในระยะสุดท้าย ไวรัสชนิดนี้จะทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทำให้ร่างกายต่อสู้กับโรคและการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ยาก

คำจำกัดความ

HIV คืออะไร

HIV (Human Immunodeficiency Virus) หรือ เอชไอวี เป็นไวรัสที่เป็นสาเหตุของ โรคเอดส์ (Acquired Immune Deficiency Syndrome: AIDS) โรคเอดส์เป็นโรคในขั้นรุนแรงที่สุดที่เกิดจาก เชื้อไวรัสเอชไอวี โดยไวรัสชนิดนี้จะทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งเป็นการป้องกันโรคของร่างกาย และส่งผลให้ร่างกายต่อสู้กับโรค แบคทีเรีย ไวรัส และการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ยาก

จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี ค.ศ. 2014 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ประมาณ 1.2 ล้านคน โรคเอดส์เกิดจากไวรัสเอชไอวี โรคนี้จัดว่าเป็นโรคที่ไม่รักษาให้หายขาดได้ ต่อไปนี้ เป็นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะของโรคนี้

อาการ

อาการของการติดเชื้อ HIV

การติดเชื้อ HIV อาจใช้เวลา 2-15 ปีในการแสดงอาการ ผู้ที่ติดเชื้อ HIV อาจจะยังมีร่างกายที่แข็งแรง ทำงานตามปกติ แต่เชื้อไวรัสนี้จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ ทำให้ผู้ติดเชื้อ HIV มีโอกาสป่วยได้ง่ายกว่าปกติ และอาจนำไปสู่การติดเชื้อที่รุนแรงได้

อาการของการติดเชื้อ HIV อาจคล้ายกับการติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ เช่น

  • เป็นไข้
  • ปวดศีรษะ
  • เหนื่อยอ่อน
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • น้ำหนักลด

หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษา การติดเชื้อ HIV อาจมีอาการรุนแรงขึ้น แล้วนำไปสู่โรคเอดส์ ซึ่งเป็นการติดเชื้อ HIV ระยะสุดท้าย

สาเหตุ

สาเหตุของ HIV

เชื้อไวรัสเอชไอวีสามารถติดต่อผ่านทางการสัมผัสกับสารคัดหลั่งต่าง ๆ ตั้งแต่เลือด น้ำอสุจิ หรือของเหลวในช่องคลอดที่มีเชื้อปนเปื้อน เช่น

  • การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางทวารหนัก หรือทางปาก โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย เชื้อไวรัสเอชไอวีมักติดต่อได้มากที่สุดทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากของเหลวจากร่างกายสัมผัสกัน และเชื้อไวรัสถูกส่งต่อให้กัน โดยเฉพาะในบริเวณที่มีรอยฉีกขาดที่เนื้อเยื่อช่องคลอด หรือทวารหนัก มีบาดแผล หรือมีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เด็กผู้หญิงมักมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี เนื่องจากเนื้อเยื่อช่องคลอดบอบบาง และไวต่อการติดเชื้อมากกว่าเนื้อเยื่อช่องคลอดของผู้ใหญ่
  • การใช้เข็มฉีดยา หรืออุปกรณ์ฉีดยาอื่น ๆ ร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี
  • การใช้เครื่องมือสักและเจาะร่างกาย รวมถึงหมึกสำหรับสัก ที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ และทำความสะอาดอย่างถูกต้อง และมีการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี
  • การติดต่อจากมารดา มารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีอาจสามารถส่งต่อไปยังทารกได้ขณะคลอดและให้นมบุตร
  • การสัมผัสกับเลือด น้ำอสุจิ หรือสารคัดหลั่งจากช่องคลอด ที่ติดเชื้อไวรัส HIV

HIV จะไม่แพร่กระจายจากการสัมผัสทางกายทั่ว ๆ ไป เช่น

  • การสัมผัส
  • การจับมือ
  • การกอดหรือจูบ
  • การไอหรือจาม
  • การให้เลือด
  • การใช้สระว่ายน้ำหรือโถส้วมร่วมกัน
  • การใช้ผ้าปูที่นอนร่วมกัน
  • การใช้ภาชนะหรือรับประทานอาหารร่วมกัน
  • สัตว์ ยุง หรือแมลง

ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนของ HIV

การติดเชื้อ HIV อาจทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จึงอาจส่งผลให้ร่างกายติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น

  • วัณโรค (TB) วัณโรคเป็นอาการติดเชื้อที่สัมพันธ์กับโรคเอดส์ซึ่งมักพบได้มากที่สุด และเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตของผู้ที่เป็นโรคเอดส์
  • ไวรัสเริม แพร่กระจายอยู่ในของเหลวภายในร่างกาย เช่น น้ำลาย เลือด ปัสสาวะ น้ำอสุจิ และน้ำนม ระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงช่วยต้านเชื้อไวรัสนี้ได้ แต่เชื้อโรคก็ยังคงแฝงอยู่ในร่างกาย หากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เชื้อไวรัสจะก่อตัวขึ้นอีก ซึ่งจะมีผลต่อดวงตา ทางเดินอาหาร ปอด และอวัยวะอื่น ๆ
  • โรคหนองในเทียม (Candidiasis) เป็นภาวะติดเชื้อที่สัมพันธ์กับ เชื้อไวรัสเอชไอวี ที่พบได้ทั่วไป ทำให้เกิดอาการอักเสบและรอยด่างหนาสีขาวที่ผนังเยื่อเมือกที่ปาก ลิ้น หลอดอาหาร หรือช่องคลอด
  • ภาวะเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อรา (Cryptococcal meningitis) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) เป็นอาการติดเชื้อที่แผ่นเยื่อและของเหลวโดยรอบสมองและไขสันหลัง (meninges) ภาวะเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อรา เป็นภาวะติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง ที่สัมพันธ์กับไวรัสเอชไอวีซึ่งพบได้ทั่วไป มีสาเหตุมาจากเชื้อราที่พบในดิน
  • การติดเชื้อซึ่งเกิดจากปรสิตที่อาศัยอยู่ในลำไส้ที่พบได้ทั่วไปในสัตว์ โรคอุจจาระร่วงคริปโตสปอริดิโอซีส (cryptosporidiosis) เกิดขึ้นเมื่อรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน เชื้อปรสิตเจริญเติบโตในลำไส้และท่อน้ำดี ก่อให้เกิดอาการท้องร่วงรุนแรงและเรื้อรังในผู้ป่วยโรคเอดส์

นอกเหนือจากภาวะติดเชื้อ ยังมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งและโรคเกี่ยวกับระบบประสาท รวมทั้งเกี่ยวกับไต ในผู้ป่วยโรคเอดส์

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของ HIV

ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อ HIV

  • การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
  • การใช้เข็มฉีดยาหรือเข็มสักร่วมกับผู้อื่น
  • การมีคนรักติดเชื้อ HIV

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยการติดเชื้อ HIV

คุณหมอสามารถวินิจฉัยการติดเชื้อ HIV ได้ ด้วยการตรวจเลือดเพื่อหาแอนติบอดี้ ซึ่งความแม่นยำในการตรวจหาเชื้อ HIV ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาในการรับเชื้อไวรัสเอชไอวีครั้งล่าสุด โดยควรตรวจประมาณ 3 เดือนหลังจากวันที่คาดว่าจะได้รับเชื้อ

  • ตรวจเลือดเพื่อหาแอนติเจนหรือแอนติบอดี้ โดยการเจาะเลือดจากเส้นเลือดที่แขนและส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบ ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ควรตรวจประมาณ 3 เดือนหลังจากวันที่คาดว่าจะได้รับเชื้อ
  • การตรวจคัดกรองเอชไอวีแบบรวดเร็ว โดยเจาะเลือดจากนิ้วมือ หรือตรวจน้ำลายเพื่อหาแอนติบอดี้ สามารถทำได้ตั้งแต่ 3-12 สัปดาห์หลังจากวันที่คาดว่าได้รับเชื้อ HIV
  • การตรวจสารพันธุกรรม (Nucleic acid tests หรือ NATs) เป็นการตรวจเพื่อหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส HIV ภายในเลือด เหมาะสำหรับผู้ที่คาดว่าจะได้รับเชื้อมาไม่นาน

หากผลตรวจเป็นบวก หมายความว่าติดเชื้อไวรัส HIV อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีผลการตรวจเป็นลบ หากทำการตรวจภายในระยะเวลาน้อยกว่า 3 เดือนหลังจากวันที่คาดว่าจะได้รับเชื้อ ควรตรวจซ้ำอีกครั้ง

การรักษาการติดเชื้อ HIV

ยังไม่มีการรักษาหรือวัคซีนสำหรับไวรัสเอชไอวี แต่มียาบางตัวที่ช่วยชะลอการเกิดโรค ให้ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด

ยาที่อาจช่วยชะลอความรุนแรงของการติดเชื้อไวรัส HIV อาจมีดังนี้

  • Non-nucleoside reverse transcriptase inhibitors (NNRTIs) เช่น เอฟฟาไวเร็นซ์ (efavirenz) ริวพิไวรีน (rilpivirine) ใช้เพื่อยับยั้งโปรตีนที่ไวรัส HIV ต้องการใช้เพื่อเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส
  • Nucleoside or nucleotide reverse transcriptase inhibitors (NRTIs) เช่น อะบาคาเวียร์ (abacavir) ทีโนโฟเวียร์ (tenofovir) ใช้เพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส HIV
  • Protease inhibitors (PIs) เช่น อะทาซานาเวียร์ (atazanavir) ดารูนาเวียร์ (Darunavir) ใช้เพื่อยับยั้งโปรตีนอีกชนิดที่ HIV ต้องการใช้เพื่อขยายพันธุ์
  • Integrase inhibitors ใช้เพื่อยับยั้งโปรตีนที่มีชื่อว่า integrase ที่เชื้อ HIV ใช้สำหรับการแทรกสารพันธุกรรมลงในเซลล์อื่นในร่างกาย
  • สารยับยั้งเชื้อ HIV ไม่ให้เข้าสู่ CD4 T cells เช่น เอ็นฟูเวอร์ไทด์ (enfuvirtide) มาราไวรอค (maraviroc)
  • การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่อาจช่วยจัดการกับ HIV

    หากทราบว่าติดเชื้อไวรัส HIV ควรปฏิบัติดังนี้

    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
    • พักผ่อนและออกกำลังกายอย่างเพียงพอ
    • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเสพติด รวมทั้งสุราและบุหรี่
    • เรียนรู้วิธีจัดการความเครียดอย่างมีประสิทธิภาพ
    • ไม่ใช้เข็มหรืออุปกรณ์ยาอื่น ๆ ร่วมกัน
    • ใช้ถุงยางอนามัยสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางปาก หรือทางทวารหนัก
    • แจ้งให้แพทย์และทันตแพทย์ทราบล่วงหน้าว่าเป็นผู้ติดเชื้อ HIV

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 14/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา