backup og meta

วิธีกระตุ้นการขับถ่าย เมื่อขับถ่ายคล่อง สุขภาพก็แข็งแรงขึ้นด้วย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 22/10/2020

    วิธีกระตุ้นการขับถ่าย เมื่อขับถ่ายคล่อง สุขภาพก็แข็งแรงขึ้นด้วย

    การ ขับถ่าย อุจจาระ เป็นหนึ่งในกิจวัตรที่เราทุกคนควรทำให้ได้ทุกวัน แต่บางคนก็อาจประสบปัญหาท้องผูก ขับถ่ายยาก บางครั้งอาจต้องนั่งนานเกินครึ่งชั่วโมงกว่าจะถ่ายออก ซึ่งปัญหาขับถ่ายยากนี้ นอกจากจะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจทำให้คุณเสียความมั่นใจได้แล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ด้วย วันนี้ Hello คุณหมอ เลยมี วิธีกระตุ้นการขับถ่าย มาฝาก รับรองว่าทำแล้ว คุณจะขับถ่ายได้คล่องขึ้น แถมยังช่วยให้สุขภาพดีขึ้นด้วย

    วิธีกระตุ้นการขับถ่าย ที่ทำได้เองง่าย ๆ

    ดื่มน้ำให้มาก ๆ

    การดื่มน้ำถือเป็นวิธีกระตุ้นการ ขับถ่าย ที่ทำได้ง่ายที่สุด หากคุณดื่มน้ำได้วันละ 8 แก้ว หรือให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย นอกจากจะช่วยให้ขับถ่ายดีขึ้นแล้ว ยังช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ภาวะขาดน้ำ ภาวะบวมน้ำ หากใครกลัวว่าจะดื่มน้ำเปล่าได้ไม่เพียงพอ ก็อาจเลือกกินผักหรือผลไม้ฉ่ำน้ำเสริมได้ เช่น แตงกวา ผักกาดแก้ว แคนตาลูป แตงโม มะเขือเทศ มะพร้าว ชมพู่ เสาวรส สาลี่

    งดหรือลดอาหารและเครื่องดื่มบางชนิด

    อาหารและเครื่องดื่มที่คุณบริโภคเข้าไปในแต่ละวัน สามารถส่งผลต่อระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายของคุณได้โดยตรง ให้คุณลองสังเกตและจดบันทึกไว้ว่า อาหารและเครื่องดื่มชนิดใดบ้างที่กินแล้วมีปัญหาขับถ่ายไม่สะดวก และเมื่อรู้แล้วก็ควรงดหรือลดการบริโภคอาหารเหล่านั้น ปัญหาในการ ขับถ่าย ของคุณก็จะทุเลาลง

    อาหารและเครื่องดื่มที่มักก่อให้เกิดปัญหาท้องผูก ขับถ่ายยาก เช่น

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (Caffeine) เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม
  • อาหารทอด หรืออาหารไขมันสูง
  • อาหารน้ำตาลสูง โดยเฉพาะชนิดที่เติมน้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar Alcohols) เช่น ซอร์บิทอล (Sorbitol) แมนนิทอล (Mannitol) ไซลิทอล (Xylitol)
  • อาหารเผ็ด หรืออาหารรสจัด
  • กินผัก ผลไม้ และถั่วเพิ่มขึ้น

    ผัก ผลไม้ และถั่วเป็นพืชที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์หรือกากใยอาหาร ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ใหญ่ และช่วยให้อุจจาระนิ่มขึ้น คุณจึง ขับถ่าย ได้คล่องกว่าเดิม หมดปัญหาท้องผูก โดยผัก ผลไม้ และถั่วที่เราแนะนำให้คุณกินเพื่อเพิ่มไฟเบอร์ ได้แก่

    • ผลไม้ เช่น แอปเปิ้ล สตรอว์เบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ มะละกอ ส้ม อะโวคาโด ฝรั่ง
    • ผัก เช่น บร็อคโคลี แครอท ผักโขม ปวยเล้ง
    • ถั่ว เมล็ดพืช และธัญพืช เช่น ถั่วพิสตาชิโอ อัลมอนด์ ถั่วแดง ถั่วลิสง เมล็ดฟักทอง เมล็ดดอกทานตะวัน ข้าวกล้อง ข้าวหอมนิล

    แต่ข้อควรระวังในการบริโภคไฟเบอร์ ก็คือ คุณต้องกินไฟเบอร์แต่พอดี โดยปริมาณที่แนะนำต่อวันเท่ากับ 25-30 กรัม หากร่างกายได้รับไฟเบอร์มากไป อาจส่งผลให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และท้องผูกได้

    ขยับร่างกายให้มากขึ้น

    การทำกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกาย หรือขยับร่างกายบ่อย ๆ จะช่วยให้ก้อนอุจจาระเคลื่อนผ่านลำไส้ใหญ่ได้ง่ายขึ้น ฉะนั้น หากใครมีปัญหาท้องผูกบ่อย ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากก้อนอุจจาระเคลื่อนผ่านลำไส้ใหญ่ช้าเกินไป จนอุจจาระแห้งและแข็ง ก็ควรออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน ๆ ละ 10-15 นาที ด้วยการเดิน การวิ่ง การว่ายน้ำ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่คุณชื่นชอบ แล้วคุณก็จะขับถ่ายได้ง่ายขึ้นแน่นอน

    เปลี่ยนท่านั่งขับถ่าย

    คุณรู้ไหมว่า ท่านั่งขับถ่ายก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คุณควรให้ความสำคัญ เพราะท่าบางท่า เช่น ท่านั่งที่ลำตัวและต้นขาทำมุม 90 องศา ก็อาจรบกวนการทำงานของลำไส้ใหญ่ ทำให้ก้อนอุจจาระเคลื่อนที่ได้ลำบาก คุณจึง ขับถ่าย ได้ยาก ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ท่านั่งอุจจาระที่เหมาะสมคือ ท่านั่งยองที่ลำตัวและต้นขางอทำมุม 35 องศา หรือท่าที่หัวเข่าอยู่สูงกว่าสะโพก เพราะจะช่วยให้ลำไส้ใหญ่ขับของเสียออกมาได้ง่ายขึ้น หากคุณใช้โถส้วมแบบชักโครก แนะนำให้หาเก้าอี้ตัวเล็ก ๆ หรือกล่องมาไว้วางเท้าเวลานั่งขับถ่าย จะช่วยให้คุณถ่ายอุจจาระง่ายขึ้นมาก

    อย่าเครียด

    ความเครียด ไม่เพียงแต่จะทำให้สุขภาพจิตเสีย แต่ยังทำร้ายลำไส้ใหญ่ของคุณได้ด้วย เพราะเมื่อคุณเครียด อาจทำให้ลำไส้ใหญ่หดเกร็ง จนคุณรู้สึกปวดท้อง และก้อนปัสสาวะแข็งจนขับถ่ายได้ยาก คุณควรผ่อนคลายความเครียดในแต่ละวันด้วยกิจกรรมที่คุณชื่นชอบ เช่น การอ่านหนังสือ การฟังเพลง การอาบน้ำอุ่น หรือหากทำได้ แนะนำให้ลองเล่นโยคะ ออกกำลังกาย และนั่งสมาธิเป็นประจำ ก็จะยิ่งดีต่อสุขภาพลำไส้และสุขภาพโดยรวมขึ้นไปอีก

    พยายามอย่าใช้ยาระบาย

    เวลาเจอปัญหาท้องผูก ขับถ่ายยาก หลายคนอาจเลือกแก้ปัญหาด้วยการกินยาระบาย จริงอยู่ที่ยาระบายช่วยแก้ปัญหาในการขับถ่ายได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แต่คุณรู้ไหมว่า การกินยาระบายบ่อย ๆ หรือกินมากเกินไป จะยิ่งรบกวนการทำงานของลำไส้ใหญ่ และทำให้ปัญหาท้องผูกของคุณยิ่งแย่ลงได้ ฉะนั้น เราจึงอยากแนะนำให้คุณทำตามวิธีกระตุ้นการ ขับถ่าย วิธีอื่น ๆ ที่เราแนะนำให้ หากอาการยังไม่ดีขึ้น ค่อยตัดสินใจใช้ยาระบาย แต่อย่าใช้บ่อยเกินไป หรือทางที่ดีที่สุด ควรปรึกษาแพทย์ เพราะปัญหาในการขับถ่ายของคุณอาจเกิดจากโรคหรือปัญหาสุขภาพอื่นที่ร้ายแรงกว่าได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 22/10/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา