backup og meta

คนเป็น ความดันต่ำ ดื่มเบียร์ แล้วจะช่วยได้จริง ๆ เหรอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/03/2024

    คนเป็น ความดันต่ำ ดื่มเบียร์ แล้วจะช่วยได้จริง ๆ เหรอ

    หนึ่งในความเชื่อเรื่องการรักษาอาการของความดันโลหิตต่ำที่ได้ยินบ่อยที่สุด คงจะหนีไม่พ้นการ ดื่มเบียร์ บ่อยครั้งที่ผู้ที่มีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เนื่องจากมีความดันโลหิตต่ำนั้น มักจะได้รับคำแนะนำว่า ให้ดื่มเบียร์เย็น ๆ สักแก้ว แล้วอาการของ ความดันต่ำ จะดีขึ้น แต่การดื่มเบียร์นั้น สามารถช่วยรักษาอาการของภาวะความดันโลหิตต่ำได้จริงหรือไม่ วันนี้ Hello คุณหมอ มีคำตอบมาให้คุณค่ะ

    เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลอย่างไรกับความดันโลหิต

    เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงนั้น จะได้รับคำแนะนำไม่ให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น สามารถเพิ่มระดับความดันโลหิตได้ โดยการกระตุ้นให้หัวใจสูบฉีดเลือดเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีแรงดันในระบบไหลเวียนโลหิตเพิ่มมากขึ้น เมื่อดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ จะส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นใกว่าเดิม และหากผู้ที่มีความดันโลหิตเพิ่มขึ้นระยะยาวนั้นกลับมาเลิกดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะสามารถลดระดับของความดันโลหิตลงได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

    ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิต หรือมีระดับความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างสูง หรือสูงมากกว่า 140/90 มม.ปรอท ขึ้นไป ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหากเป็นผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำอยู่แล้ว ก็ควรค่อย ๆ ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ลงมา เพื่อป้องกันไม่ให้ระดับความดันโลหิตเพิ่มขึ้นสูงอย่างรุนแรงเป็นเวลาหลายวัน

    สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตในเกณฑ์ปานกลางหรือปกติ ควรดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่ไม่เกินดังต่อไปนี้

    • ผู้ชายอายุต่ำกว่า 65 ปี ไม่ควรดื่มเกิน 2 ดริงก์
    • ผู้ชายอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ไม่ควรดื่มเกิน 1 ดริงก์
    • ผู้หญิง ทุกช่วงวัย ไม่ควรดื่มเกิน 1 ดริงก์

    (ปริมาณ 1 ดริงก์ (drink) เท่ากับ เบียร์ 12 ออนซ์ ไวน์ 5 ออนซ์ หรือสุรา 40 ดีกรี 1.5 ออนซ์)

    คนที่มี ความดันต่ำ ดื่มเบียร์ แล้วจะช่วยได้จริงเหรอ

    การดื่มเบียร์ สามารถช่วยแก้อาการของความดันต่ำดันได้จริง เนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น สามารถเพิ่มระดับของความดันโลหิต และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ ในทางกลับกัน ผู้ที่มีระดับความดันโลหิตต่ำนั้น จึงสามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยเพิ่มระดับของความดันโลหิตได้เช่นกัน แต่ใช่ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด จะเหมาะสำหรับการดื่มเพื่อช่วยรักษาอาการของความดันโลหิตต่ำได้ทั้งหมด เพราะการดื่มสุรานั้นอาจกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคที่อันตรายต่อร่างกายได้

    มีงานวิจัยที่พบว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่าง ไวน์ และเบียร์ สามารถช่วยเพิ่มระดับของความดันโลหิตได้ โดยไม่ส่งผลร้ายต่อการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด จึงนับได้ว่าเป็นหนทางในการช่วยบรรเทาอาการของความดันโลหิตต่ำที่ปลอดภัย และไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ต่างจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ ตราบใดที่ยังรักษาระดับการดื่มให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ดื่มมากเกินไป

    การจัดการกับความดันต่ำโดยไม่พึ่งแอลกอฮอล์

    • กินเกลือให้มากขึ้น

    โซเดียม (Sodium) นั้นสามารถเพิ่มระดับของความดันโลหิตได้ ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงมักจะแนะนำให้ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงหลีกเลี่ยงการรับประทานเกลือ แต่สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ การกินเกลือให้มากขึ้นนั้นกลับเป็นเรื่องดี แต่อย่างไรก็ตาม ระวังอย่ากินเกลือมากเกินไป เพราะอาจนำไปสู่โรคหัวใจล้มเหลว หรือโรคไตได้ โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ

    • ดื่มน้ำให้มาก

    น้ำสามารถเพิ่มปริมาณของเลือด และช่วยป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตต่ำได้

    • ออกกำลังกาย

    การออกกำลังกาย จะทำให้หัวใจได้สูบฉีดเลือดเพิ่มมากขึ้น และทำให้เลือดไหลเวียนไปทั่วร่างกายได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มระดับของความดันโลหิตได้ อีกทั้งยังเพิ่มการทำงานและเพิ่มความแข็งแรงของหัวใจได้อีกด้วย

  • อย่าลุกพรวดพราด
  • ระมัดระวังเวลาลุกขึ้นเปลี่ยนท่า จากท่านั่งหรือท่านอน เพราะจะทำให้เลือดสูบฉีดไม่ทัน และทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะได้ ก่อนจะลุกขึ้นอาจจะลองยืดเส้นยืดสายเล็กน้อยก่อน แล้วจึงค่อย ๆ ลุก เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการสูบฉีดเลือด ไม่ทำให้หน้ามืดและวิงเวียนเนื่องจากความดันต่ำ

    • รับประทานยา

    มียาอยู่มากมายที่สามารถช่วยจัดการกับปัญหาความดันโลหิตต่ำได้ โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อหายาที่เหมาะสมกับอาการของคุณ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/03/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา