backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ลาโมไตรจีน (Lamotrigine)

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ · ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 20/11/2023

ลาโมไตรจีน (Lamotrigine) ใช้เป็นยาตัวเดียว หรือใช้ร่วมกับยาอื่น เพื่อป้องกันและควบคุมอาการชัก นอกจากนี้ยังอาจใช้เพื่อช่วยป้องกันอารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรงของโรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder) สำหรับผู้ใหญ่

ข้อบ่งใช้

ลาโมไตรจีน ใช้สำหรับ

ลาโมไตรจีน (Lamotrigine) ใช้เป็นยาตัวเดียว หรือใช้ร่วมกับยาอื่น เพื่อป้องกันและควบคุมอาการชัก นอกจากนี้ยังอาจใช้เพื่อช่วยป้องกันอารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรงของโรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder) สำหรับผู้ใหญ่

ลาโมไตรจีน เป็นยาในกลุ่มยากันชัก (anticonvulsant) หรือยาต้านชัก (antiepileptic) ทำงานโดยการฟื้นฟูความสมดุลของสารตามธรรมชาติภายในสมองบางชนิด

วิธีการใช้ยาลาโมไตรจีน

รับประทานยานี้พร้อมกับอาหาร หรือรับประทานแยกต่างหาก ตามที่แพทย์สั่ง กลืนยาทั้งเม็ด เนื่องจากหากเคี้ยวยาอาจทำให้มีรสขมได้

ควรทำตามแนวทางการใช้ยาจากแพทย์อย่างเคร่งครัด ควรเพิ่มขนาดยาอย่างช้าๆ อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือเดือน จนกว่าจะได้รับขนาดยาที่เหมาะสมที่สุด และได้รับผลของยาอย่างเต็มที่ รับประทานยาเป็นประจำเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากยา เพื่อให้ง่ายต่อการจำควรรับประทานยาในเวลาเดียวกันทุกวัน

อย่าหยุดใช้ยาโดยไม่ปรึกษากับแพทย์ สภาวะบางอย่างอาจจะแย่ลงได้หากหยุดใช้ยากะทันหัน ควรค่อยๆ ลดขนาดยาลงมา นอกจากนี้หากหยุดใช้ยาแล้ว ไม่ควรกลับมาเริ่มใช้ยาใหม่ โดยไม่ปรึกษากับแพทย์

แจ้งให้แพทย์ทราบ หากอาการของคุณไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง

การเก็บรักษายาลาโมไตรจีน

ยาลาโมไตรจีนควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาลาโมไตรจีนบางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัย โปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้งยาลาโมไตรจีนลงในชักโครก หรือเทยาลงในท่อระบายน้ำ เว้นเสียแต่จะได้รับคำแนะนำให้ทำ ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้อง เมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาลาโมไตรจีน

ปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรถ้าหาก

  • คุณกำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร เนื่องจากในช่วงที่คุณกำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น
  • หากคุณกำลังใช้ยาอื่นอยู่ รวมทั้งยาที่หาซื้อได้เอง เช่น สมุนไพรหรือยาทางเลือกอื่นๆ
  • หากคุณแพ้สารออกฤทธิ์หรือไม่ออกฤทธิ์ ของยาลาโมไตรจีนหรือยาอื่นๆ
  • หากคุณมีอาการป่วย มีความผิดปกติ หรือมีสภาวะทางการแพทย์อื่นๆ
  • หากคุณกำลังใช้ยาฮอร์โมนเพศหญิง เช่น การคุมกำเนิดแบบใช้ฮอร์โมน (ยาคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด ห่วงคุมกำเนิด ฉีดยาคุมกำเนิด การฝังยาคุมกำเนิด หรือห่วงอนามัย) หรือฮอร์โมนทดแทนบำบัด (hormone replacement therapy) ปรึกษากับแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยาหรือหยุดใช้ยาลาโมไตรจีน หากคุณกำลังใช้ยาฮอร์โมนเพศหญิง แจ้งให้แพทย์ทราบ หากมีอาการเลือดออก นอกเหนือช่วงที่คาดว่าจะมีประจำเดือน
  • หากคุณเป็นหรือเคยเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune disease) ซึ่งเป็นอาการที่ร่างกายทำลายอวัยวะภายในของตัวเอง ทำให้เกิดอาการบวมและสูญเสียการทำงาน อย่างเช่น โรคลูปัส ซึ่งเป็นอาการที่ร่างกายทำร้ายอวัยวะภายในต่างๆ ของตัวเองแล้วทำให้เกิดอาการต่างๆ โรคเลือด (blood disorder) โรคไต หรือโรคตับ
  • หากคุณกำลังจะรับการผ่าตัด รวมถึงการผ่าตัดทำฟัน แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบ หากคุณกำลังใช้ยาลาโมไตรจีน

คุณควรทราบว่ายานี้อาจทำให้คุณรู้สึกง่วงซึม อย่าขับรถหรือใช้เครื่องจักร จนกว่าคุณจะทราบว่ายานี้ส่งผลต่อคุณอย่างไร

จำไว้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น สามารถเพิ่มอาการง่วงซึมที่เกิดจากยานี้ได้อีกด้วย

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้

ยาลาโมไตรจีนจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด C โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด
  • ผลข้างเคียง

    ผลข้างเคียงของการใช้ยาลาโมไตรจีน

    แจ้งให้แพทย์ทราบหากผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปนั้นไม่หายไปหรือรบกวนคุณ ได้แก่

    • หากมองเห็นไม่ชัดหรือมองเห็นภาพซ้อน
    • ท้องผูก
    • ท้องร่วง
    • วิงเวียน
    • ง่วงซึม
    • ปวดหัว
    • คลื่นไส้
    • ปวดประจำเดือน
    • น้ำมูกไหลหรือคัดจมูก
    • ท้องไส้ปั่นป่วนหรือปวดท้อง
    • เหนื่อยล้า
    • นอนไม่หลับ
    • อาเจียน
    • อ่อนแรง
    • น้ำหนักลด

    รับการรักษาพยาบาลในทันที หากมีผลข้างเคียงที่รุนแรงเกิดขึ้น ได้แก่

    • อาการแพ้อย่างรุนแรง ได้แก่ ผดผื่น ลมพิษ หายใจติดขัด แน่นหน้าอก บวมที่ปาก ใบหน้า ริมฝีปาก หรือลิ้น เสียงแหบผิดปกติ
    • ประจำเดือนไม่มา หรือมีการเปลี่ยนแปลงของประจำเดือน
    • มีอาการปวดหรืออาการกดเจ็บที่น่อง
    • ปวดหน้าอก
    • ปัสสาวะสีเข้ม
    • การเคลื่อนไหวอย่างสอดประสานลดลง
    • ปัสสาวะลำบาก หรือมีอาการเจ็บขณะปัสสาวะ
    • หัวใจเต้นเร็วหรือผิดปกติ
    • เป็นไข้ หนาวสั่น หรือมีอาการเจ็บคอบ่อยๆ
    • มีอความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจหรืออารมณ์ใหม่ๆ หรือแย่ลง เช่น อาการวิตกกังวล ซึมเศร้า กระสับกระส่าย อารมณ์ฉุนเฉียว อาการแพนิคกำเริบ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง
    • มีอาการชักใหม่ๆ หรือแย่ลง
    • อุจจาระสีซีด
    • ผิวมีรอยแดง แผลพุพอง บวม หรือลอก
    • มีอาการปวด หรือกดเจ็บที่กล้ามเนื้ออย่างรุนแรง
    • มีอาการวิงเวียนหรือปวดท้องอย่างรุนแรงหรือบ่อยครั้ง
    • หายใจไม่อิ่ม
    • มีแผลภายในปากหรือรอบดวงตา
    • มีความคิดหรือพยายามที่จะฆ่าตัวตาย
    • มีอาการบวมที่มือ ข้อเท้า หรือเท้า
    • ต่อมน้ำเหลืองโต
    • มีอาการสั่นเทา
    • มีรอยช้ำหรือเลือดออกที่ผิดปกติ
    • มีอาการอ่อนแรง หรือเหนื่อยล้าผิดปกติ
    • มีอาการคันหรือมีสารคัดหลั่งที่ช่องคลอด
    • การมองเห็นเปลี่ยนแปลง
    • ผิวหรือดวงตาเป็นสีเหลือง

    ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้ และอาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

    ปฏิกิริยาของยา

    ปฏิกิริยากับยาอื่น

    ยาลาโมไตรจีนอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยา โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

    ยาที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ได้แก่

    • คาร์บามาเซพีน (Carbamazepine) เนื่องจากอาจลดประสิทธิภาพของยาลาโมไตรจีน และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง เช่น อาการวิงเวียน มองเห็นภาพซ้อน มองเห็นไม่ชัด และการเคลื่อนไหวอย่างสอดประสานลดลง
    • วาลโปรเอท (Valproate) เช่น กรดวาลโปรอิก (valproic acid) หรือไดวาลโปรเอ็กซ์โซเดียม (divalproex sodium) เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงของยาลาโมไตรจีน
    • โดฟีทิไลด์ (Dofetilide) เนื่องจากความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงของของยานี้อาจเพิ่มขึ้น เพราะยาลาโมไตรจีน
    • อะทาซานาเวียร์ (Atazanavir) /ริโทนาเวียร์ (ritonavir) เอสโตรเจน (estrogens) โลปินาเวียร์ (lopinavir) /ริโทนาเวียร์ ฟีโนบาร์บิทัล (phenobarbital) เฟนิโทอิน (phenytoin) ไพรมิโดน (primidone) ไรแฟมพิน (rifampin) หรือยาในกลุ่มซัคซินิไมด์ (succinimides) เช่นเมทซูซิไมด์ (methsuximide) เนื่องจากอาจลดประสิทธิภาพของยาลาโมไตรจีน
    • การคุมกำเนิดแบบใช้ฮอร์โมน (เช่น ยาคุมกำเนิด) เนื่องจากประสิทธิภาพของยาทั้งสองอาจลดลง

    ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

    ยาลาโมไตรจีนอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

    ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

    ยาลาโมไตรจีนอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

    ขนาดยา

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

    ขนาดยาลาโมไตรจีนสำหรับผู้ใหญ่

    ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อป้องกันอาการชัก

    สำหรับเพิ่มในสูตรการรักษาด้วยยาต้านชักที่มีกรดวาลโปรอิก (Valproic Acid)

    สัปดาห์ที่ 1 และ 2: 25 มก. วันเว้นวัน

    สัปดาห์ที่ 3 และ 4: 25 มก. ทุกวัน

    ขนาดยาปกติ: 100 ถึง 400 มก./วัน (แบ่งเป็น 1 หรือ 2 ครั้ง) เพื่อให้ได้ขนาดยาปกติ อาจต้องเพิ่มขนาดยา 25 ถึง 50 มก./วัน ทุกๆ 1 ถึง 2 สัปดาห์

    ขนาดยาปกติสำหรับผู้ป่วย ที่เพิ่มยาลาโมไตรจีนลงไปในกรดวาลโปรอิก มักอยู่ในช่วง 100 ถึง 200 มก./วัน

    ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคอารมณ์สองขั้ว

    เริ่มต้นการรักษาด้วยยาลาโมไตรจีนโดยขึ้นอยู่กับยาที่กำลังใช้ร่วมกัน

    ขนาดยาลาโมไตรจีนสำหรับเด็ก

    ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอาการชัก

    สำหรับเพิ่มในสูตรการรักษาด้วยยาต้านชัก

    เด็กอายุ 2 ถึง 12 ปี ยารูปแบบออกฤทธิ์ทันที (ควรใช้ยาเต็มเม็ดเท่านั้น)

    เด็กอายุ 2 ถึง 6 ปี มักจะจำเป็นต้องใช้ยาขนาดปกติที่อยู่ในช่วงบนของขนาดยาที่แนะนำตามปกติ ผู้ป่วยที่น้ำหนักน้อยกว่า 30 กก. อาจจำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาปกติมากถึง 50% เทียบกับผู้ป่วยที่น้ำหนักมากกว่า 30 กก. ปรับขนาดยาเพื่อให้ได้ผลทางการแพทย์

    รูปแบบของยา

    ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

    • ยาเม็ดสำหรับรับประทาน: 25 มก. 100 มก. 150 มก. 200 มก.

    กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

    หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

    กรณีลืมใช้ยา

    หากคุณลืมรับประทานยาควรรีบรับประทานทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลารับประทานยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปรับประทานยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

    ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 20/11/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา