backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ไฮโดรโคโดน (Hydrocodone)

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ · ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ไฮโดรโคโดน (Hydrocodone)

ข้อบ่งใช้ ไฮโดรโคโดน

ไฮโดรโคโดน ใช้สำหรับ

ยา ไฮโดรโคโดน (Hydrocodone) เป็นยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดที่กำลังมีอาการอยู่ ยาไฮโดรโคโดนนั้นอยู่ในกลุ่มของยาแก้ปวดแบบเสพติด (narcotic analgesics) หรือโอปิเอต (opiate) ออกฤทธิ์ต่อสมองในการเปลี่ยนแปลงความรู้สึก และการตอบสนองต่ออาการปวดของร่างกาย

วิธีการใช้ยาไฮโดรโคโดน

  • รับประทานยานี้เป็นประจำตามที่แพทย์กำหนด ไม่ใช่สำหรับอาการปวด อย่างฉับพลัน โดยปกติคือทุกๆ 12 ชั่วโมง สามารถรับประทานพร้อมกับอาหาร หรือแยกต่างหากได้ หากเกิดอาการคลื่นไส้ การรับประทานยาพร้อมกับอาหารอาจช่วยได้ สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับวิธีอื่นในการลดอาการคลื่นไส้ (เช่น นอนลง 1 ถึง 2 นาที โดยขยับหัวให้น้อยที่สุด)
  • กลืนยาแคปซูลลงไปทั้งเม็ด อย่าบด เคี้ยว หรือละลายแคปซูล การทำแบบนี้จะปล่อยยาทั้งหมดออกมาในคราวเดียว และเพิ่มความเสี่ยงของผลข้างเคียง
  • ขนาดยาขึ้นอยู่กับสภาวะทางการแพทย์ และการตอบสนองต่อการรักษา อย่าเพิ่มขนาดยา ใช้ยาบ่อยกว่า หรือใช้นานกว่าที่กำหนด อาการของคุณจะไม่หายเร็วขึ้น และความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงจะเพิ่มขึ้น ควรหยุดใช้ยาอย่างเหมาะสมตามที่กำหนด
  • ยาแก้ปวดจะได้ผลดีที่สุด หากใช้เมื่อเริ่มมีสัญญาณของอาการปวด หากคุณรอจนอาการปวดรุนแรง ยาอาจจะได้ผลไม่ดีนัก
  • ก่อนเริ่มใช้ยานี้ สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรว่า คุณควรจะหยุดหรือเปลี่ยนขนาดของยาแก้ปวดแบบเสพติดอื่นๆ หรือไม่ เพื่อเพิ่มการบรรเทาอาการปวด แพทย์อาจจะสั่งยาแก้ปวดแบบเสพติด หรือไม่เสพติดชนิดออกฤทธิ์เร็ว เช่น อะเซตามีโนเฟน (acetaminophen) หรือไอบูโพรเฟน (ibuprofen) สอบถามแพทย์หรือเภสัชกร หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาไฮโดรโคโดนอย่างปลอดภัยร่วมกับยาอื่น
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการถอนยาได้ โดยเฉพาะหากใช้เป็นประจำในระยะเวลานาน หรือใช้ในขนาดยาที่สูง ในบางกรณีอาจเกิดอาการถอนยา (เช่น กระสับกระส่าย น้ำตาไหล น้ำมูกไหล คลื่นไส้ เหงื่อออก ปวดกล้ามเนื้อ) หากคุณหยุดใช้ยานี้อย่างกะทันหัน เพื่อป้องกันอาการถอนยา แพทย์จะสั่งให้ค่อยๆ ลดขนาดยาลงมา สอบถามแทย์หรือเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม และแจ้งให้แพทย์ทราบในทันที หากเกิดอาการถอนยาขึ้น
  • เมื่อใช้ยานี้เป็นเวลานาน ยานี้อาจจะได้ผลไม่ดีนัก โปรดปรึกษาแพทย์หากยานั้นได้ผลไม่ดี
  • อีกหนึ่งกรณีที่ควบคู่มากับประโยชน์ ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้ยาก คือ ยานี้อาจทำให้เกิดอาการอยากยาผิดปกติ (ติดยา) ความเสี่ยงอาจเพิ่มขึ้น หากคุณเคยดื่มสุราอย่างหนัก หรือติดยา ใช้ยานี้ตามที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดยา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบ หากอาการปวดของคุณไม่หายไปหรือเป็นหนักขึ้น

การเก็บรักษายาไฮโดรโคโดน

ยาไฮโดรโคโดนควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาไฮโดรโคโดนบางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยา หรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัย โปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้งยาไฮโดรโคโดนลงในชักโครก หรือเทยาลงในท่อระบายน้ำ เว้นเสียแต่จะได้รับคำแนะนำให้ทำ ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้อง เมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาไฮโดรโคโดน

ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์ทราบถ้าหาก

  • คุณกำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร เนื่องจากในช่วงที่คุณมีความตั้งใจหรือกำลังให้นมบุตร ควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น
  • หากคุณกำลังใช้ยาอื่นอยู่ รวมทั้งยาที่หาซื้อได้เอง เช่น สมุนไพรหรือยาทางเลือกอื่นๆ
  • หากคุณแพ้สารออกฤทธิ์หรือไม่ออกฤทธิ์ ของยาไฮโดรโคโดนหรือยาอื่นๆ
  • หากคุณมีอาการป่วย มีความผิดปกติ หรือมีสภาวะทางการแพทย์อื่นๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณมีหรือเคยมีภาวะความดันโลหิตต่ำ ปัสสาวะลำบาก อาการชัก หรือโรคไทรอยด์ โรคถุงน้ำดี โรคตับอ่อน โรคตับ หรือโรคไต
  • หากคุณกำลังจะรับการผ่าตัดรวมไปถึงการผ่าตัดทำฟัน แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่าคุณกำลีงใช้ยาไฮโดรโคโดน
  • ยาไฮโดรโคโดนอาจทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้ อย่าขับรถหรือใช้เครื่องจักรจนกว่าจะทราบว่ายานี้ส่งผลต่อคุณอย่างไร
  • ยาไฮโดรโคโดนอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน เวียนศีรษะ และหมดสติได้หากลุกขึ้นจากท่านอนเร็วเกินไป อาการนี้จะพบได้มากเมื่อเริ่มต้นใช้ยาไฮโดรโคโดน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ควรค่อยๆ ลุกขึ้นจากเตียงอย่างช้าๆ พักเท้าไว้ที่พื้นเป็นเวลาหลายนาทีก่อนจึงค่อยลุกขึ้น
  • ยาไฮโดรโคโดนอาจทำให้เกิดอาการท้องผูก ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนอาหาร และการใช้ยาอื่นเพื่อป้องกันอาการท้องผูก

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้

ยาไฮโดรโคโดนจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด C โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยาไฮโดรโคโดน

ผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปมีดังนี้

  • ท้องผูก ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปากแห้ง
  • คัน
  • บวมที่มือหรือเท้า
  • ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
  • มีอาการของโรคหวัด เช่น คัดจมูก จาม เจ็บคอ
  • ง่วงซึมในระดับเบา รู้สึกเหนื่อยล้า
  • ปวดหัว วิงเวียน

หยุดใช้ยาไฮโดรโคโดนและติดต่อแพทย์ในทันทีหากมีอาการดังต่อไปนี้

  • หายใจอ่อนแรงหรือหายใจตื้น
  • รู้สึกปวดหรือแสบร้อนขณะปัสสาวะ
  • สับสน สั่นเทา ง่วงซึมอย่างรุนแรง
  • รู้สึกเวียนศีรษะเหมือนจะหมดสติ
  • ภาวะไม่เจริญพันธุ์ (Infertility) ประจำเดือนไม่มา
  • เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ มีปัญหาทางเพศ หมดความสนใจในเรื่องเพศ
  • ระดับคอร์ติซอลต่ำ (cortisol) – คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร วิงเวียน อาการเหนื่อยล้าหรืออ่อนแรงรุนแรง
  • รับการรักษาในทันทีหากเกิดอาการของเซโรโทนิน ซินโดรม (serotonin syndrome) เช่น ร้อนรน มองเห็นภาพหลอน เป็นไข้ เหงื่อออก สั่นเทา หัวใจเต้นเร็ว กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง ชักกระตุก สูญเสียการเคลื่อนไหวอย่างสอดประสาน คลื่นไส้อาเจียน หรือท้องร่วง
  • ยาไฮโดรโคโดนมักจะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการหายใจในผู้สูงอายุ และผู้ที่มีอาการป่วยอย่างรุนแรง เป็นโรคขาดสารอาหาร (malnourished) หรืออ่อนแอ
  • รับการรักษาพยาบาลฉุกเฉินทันที หากคุณมีสัญญาณของอาการแพ้ ได้แก่ ลมพิษ หายใจติดขัด บวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ
  • ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้ และอาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาไฮโดรโคโดนอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่าคุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ยาที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ได้แก่

  • ยาแก้ปวดแบบเสพติดอื่นๆ – ยาแก้ปวดโอปิออยด์ (opioid) หรือยาแก้ไอตามใบสั่ง
  • ยาที่อาจทำให้คุณง่วงซึมหรือชะลอการหายใจ – ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยากดประสาท (sedative) ยาคลายเครียด (tranquilizer) หรือยาระงับอาการทางจิต (Antipsychotic drugs)
  • ยาที่ส่งผลต่อระดับของเซราโทนิน (serotonin) ในร่างกาย – ยาสำหรับโรคซึมเศร้า โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) ปวดหัวไมเกรน (migraine headaches) การติดเชื้อที่รุนแรง หรือยาป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาไฮโดรโคโดนอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาไฮโดรโคโดนอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

สภาวะที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ได้แก่

  • ดื่มสุราอย่างหนัก
  • มีปัญหากับการหายใจ เช่นโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease) [COPD] ภาวะคอร์พูลโมเนล (cor pulmonale) หรือภาวะขาดออกซิเจน (hypoxia)
  • หัวใจล้มเหลว
  • โรคซึมเศร้า
  • ติดยา โดยเฉพาะยาแก้ปวดแบบเสพติด
  • อิเล็กโทรไลท์ไม่สมดุล (Electrolyte imbalance)
  • ปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดี
  • ปัญหาเกี่ยวกับการเต้นของหัวใจ กลุ่มอาการระยะคิวทียาวแต่กำเนิด (congenital long QT syndrome) หัวใจเต้นช้า
  • อาการป่วยทางจิต
  • โรคตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
  • ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารหรือลำไส้ เช่นอุดตัน (blockage)
  • กลืนลำบาก
  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแรง
  • โรคหอบหืด
  • ปัญหากับการหายใจระดับรุนแรง เช่นภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือดมาก (hypercarbia)
  • ภาวะลำไส้อืด (Paralytic ileus)
  • ภาวะกดการหายใจ (Respiratory depression)
  • เนื้องอกในสมอง
  • การบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • มีความดันในศีรษะเพิ่มขึ้น
  • ภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • อาการชัก
  • โรคไต
  • โรคตับ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาไฮโดรโคโดนสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาอาการปวด

  • ขนาดยาเริ่มต้น: 10 มก. รับประทานทุกๆ 12 ชั่วโมง
  • การปรับขนาดยา: ควรเพิ่มขนาดยา 10 มก. รับประทานทุกๆ 12 ชั่วโมง ในทุกๆ 3 ถึง 7 วันเท่าที่จำเป็น เพื่อให้ได้ผลระงับอาการปวดที่เพียงพอ
  • ควรปรับขนาดของยาไฮโดรโคโดนอีอาร์ (Hydrocodone ER) เพื่อให้ได้ผลระงับอาการปวดที่เพียงพอ และลดอาการไม่พึงประสงค์
  • ควรมีการเฝ้าระวังผู้ป่วยเป็นประจำเพื่อประเมินการควบคุมอาการปวดและหาอาการไม่พึงประสงค์ เช่นเดียวกับเฝ้าระวังอาการติดยา ใช้ยาอย่างหนัก หรือใช้ผิดวัตถุประสงค์ ผู้ป่วยที่มีอาการปวดอาจต้องเพิ่มขนาดยาหรืออาจต้องใช้ยาเสริมเพื่อบรรเทาอาการ (rescue medication) ร่วมกับยาแก้ปวดแบบออกฤทธิ์ทันทีในขนาดยาที่เหมาะสม
  • ขนาดยาสูงสุด: มีการพิสูจน์ขนาดยาไฮโดรโคโดนอีอาร์สำหรับครั้งเดียวที่ขนาดยามากกว่า 40 หรือ 50 มก. หรือขนาดยาโดยรวมในแต่ละวันมากกว่า 80 มก. นั้นใช้สำหรับผู้ป่วยที่ทนต่อยาที่มีฤทธิ์เทียบเท่ากับยาโอปิออยด์

ขนาดยาไฮโดรโคโดนสำหรับเด็ก

ยังไม่มีการพิสูจน์ความความปลอดภัยและประสิทธิภาพของขนาดยานี้สำหรับผู้ป่วยเด็ก ยานี้อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจกับความปลอดภัยของยาก่อนการใช้ยา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อกับแพทย์หรือเภสัชกร

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาแคปซูลแบบออกฤทธิ์นาน: 10 มก. 15 มก. 20 มก. 30 มก. 40 มก. 50 มก.

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมรับประทานยาควรรีบรับประทานทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลารับประทานยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปรับประทานยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา